“ราวกันตก” คือ องค์ประกอบหนึ่งของบ้านหรืออาคารที่แสดงขอบเขตและป้องกันไม่ให้ผู้ใช้งานเกิดอันตรายจากการพลัดตกได้ รูปแบบของราวก็สามารถออกแบบให้ดูสอดคล้องเป็นไปในทางเดียวกันกับตัวบ้าน วัสดุ สัมผัสที่เลือกใช้ก็ส่งผลกับผู้อยู่อาศัยเวลาที่ใช้งาน วันนี้ DsignSomething จึงขอยกรูปแบบต่างๆของราวกันตก ที่มีความน่าสนใจมาให้ดูกัน… มองเข้าไปในรายละเอียด ราวนี้มีอะไรให้เล่นมากมายทีเดียว
1. ราวกันตกที่สูงถึงฝ้า
ราวกันตกหรือราวบันไดภายในบ้าน อาจออกแบบให้มีความสูงจากพื้นจนถึงฝ้าชั้นบนเลย ก็ช่วยให้ราวกันตกนี้มีความน่าสนใจขึ้น โดยใช้อลูมิเนียมกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 – 20 มิลลิเมตร วิ่งยาวยึดที่ปลายบนและล่างด้วยสกูล อาจพิจารณาที่ความแข็งแรงขณะติดตั้ง ว่าควรมีตัวคาดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงหรือไม่
2. ราวกันตก + ผนัง
หากไม่ชอบราวกันตกหรือราวบันไดที่ยื่นออกมาเกะกะเวลาเดิน ราวแบบที่ผสมกลืนไปกับผนังนี้ ก็ใช้งานได้ดีและเท่ไม่เบา แต่ควรมีการออกแบบไว้ตั้งแต่ในแบบก่อสร้างแล้ว เพราะการจะมาทุบเพื่อทำทีหลัง อาจได้งานที่ไม่เรียบร้อยและทำให้บ้านเสียหายได้
3. ความไม่มีอยู่ คือความมีอยู่
ราวกันตกแบบนี้อาจเหมาะกับบ้านที่ไม่มีเด็กและคนชราภายในบ้าน เพราะการมีราวกันตกเพียงด้านเดียว ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้บ้านหรือบริเวณโถงนี้ดูโล่งสบาย
4. ราวเล่นระดับ ปรับให้บันไดไม่น่าเบื่อ
ราวกับไม่จำเป็นต้องลาดเอียงตามความชันของบันไดก็ได้ รูปแบบของราวกันตกที่ออกมาก็จะมีความน่าสนใจไปอีกแบบ โดยอาจจะยึดเอาระยะสองขั้นในการก้าวเดินเป็นระยะหลัก ความสูงของราวก็จะเลื่อนตามการก้าวเดินอย่างเป็นธรรมชาติ
5. เส้นนอนแบบบางเบา ทำให้ระเบียงโล่งและสบายตา
การมีราวกันตกก็มีความจำเป็นเพื่อความปลอดภัย แต่ออกแบบอย่างไรให้โปร่งโล่ง อาจใช้สลิงลวดขนาด 4 – 6 มิลลิเมตรขึงแนวนอน ก็สามารถกันตกได้และยังไม่บังวิวอีกด้วย
6. ราวกันตกช่วยเสริมอารมณ์ของบ้านได้
ภาพรวมหรือสไตล์ของบ้านเด่นชัดขึ้น หากมีราวกันตกที่ช่วยบ่งบอกถึงแนวทางในการออกแบบได้ โดยการหาลวดลายเหล็กดัดหรือเหล็กหล่อที่ถูกใจ นำไปให้ช่างเหล็กขึ้นรูปให้หรืออาจใช้ของเก่านำมาทาสีใหม่ ก็ใช้ได้เหมือนกัน
7. ที่นั่งและราวกันตก
ออกแบบราวกันตกให้เป็นที่สำหรับนั่งได้ด้วย เหมือนรวมเอาม้านั่งกลางแจ้งมารวมกับราวกันตก ระเบียงนี้ก็จะดูกว้างขึ้น สามารถนั่งเล่นได้ไม่ต้องมีม้านั่งลอยตัวให้เกะกะ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องระวังเรื่องความปลอดภัยด้วย เพราะเด็กเล็กอาจปีนได้ง่ายกว่าราวแบบปกติ อาจซอยราวให้ถี่ขึ้นหรือเปลี่ยนราวนอนเป็นราวตั้งก็จะช่วยได้มาก
8. ราวใส… ปิ๊ง
ราวกันตกกระจกใสจะช่วยให้พื้นที่นั้นๆดูโปร่งโล่ง เหมือนกับว่าไม่มีอะไรแสดงขอบเขตเลย สำหรับบางคนที่ไม่ชอบให้ราวกระจกดูใสไปนั้น ก็สามารถใส่ขอบราวด้านบนรวมไปถึงด้านข้างเป็นอลูมิเนียมได้ ทั้งช่วยเรื่องความแข็งแรงไม่ให้สั่นคลอน และยังช่วยไม่ให้ราวดูโล่งจนเกินไปนัก
9. เหล็กกลม ก็ทำราวกันตกได้ไม่ยาก
เหล็กกลมหรือทรงกระบอก เป็นรูปทรงที่มีการสัมผัสแนบชิดกับมือ เราจึงรู้สึกปลอดภัยที่สุดเวลาที่เราใช้งานราวบันไดทรงกลมนี้ แต่สิ่งที่ควรระวังคือบริเวณที่มีการหักเลี้ยวของมุม อาจแยกชิ้นส่วนในการทำงานแล้วมาประเชื่อมประกอบกันภายหลัง ก็จะช่วยลดปัญหาการดัดในชิ้นที่ยาวๆได้
10. ราวกันตกสายเดี่ยว
ใช้อลูมิเนียมขึ้นรูปตามแบบที่ควรจะเขียนไว้ในขั้นตอนการออกแบบ องศาความลาดเอียงของราวก็จะต้องเท่ากับองศาความลาดเอียงของบันไดเช่นกัน เหมาะกับบ้านสไตล์โมเดิร์นที่ต้องการลดทอนรายละเอียดของบ้านให้น้อยที่สุด
11. ราวเหล็กตะแกรง ใช้ภายในก็ได้ ภายนอกก็ดี
พื้นที่ภายนอกที่ต้องความความทนทานและกันความชื้น การใช้โครงเหล็กและเหล็กตะแกรงก็ดูเหมาะกับการใช้งานนี้ การออกแบบควรคำนึงถึงระยะที่ตะแกรงเหล็กสามารถคงความแข็งแรงและไม่หย่อนตัว ระยะอาจอยู่ที่ความกว้างไม่เกิน 1.20 เมตร เพื่อความสวยงามและความแข็งแรง