ในชีวิตหนึ่งเรามักพบทางแยกที่ทำให้เราต้องเลือกเส้นทางอยู่เสมอ บ้างก็เป็นการเลือกที่ยิ่งใหญ่ของชีวิต บ้างก็เป็นการเลือกในสิ่งเล็กน้อย แต่ผลของการเลือกอาจไม่ได้เห็นผลในทันที บางครั้งต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราเลือกนั้น ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่
บ้านหลังนี้ที่ประเทศมาเลเซีย คือผลจากการเลือกของเจ้าของบ้าน ที่เลือกที่จะอยู่ภายในบ้านหลังนี้ บ้านที่สถาปนิกได้ออกแบบและสร้างด้วยความตั้งใจ สุดท้ายก็ไปเข้าตาเจ้าของบ้านเข้า การที่เจ้าของบ้านมาเจอบ้านหลังนี้อาจเป็นความบังเอิญ แต่การเลือกที่จะอยู่นั้น คือความตั้งใจ
บ้านหลังนี้เป็นรูปแบบของอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งในประเทศมาเลเซีย ที่บริษัทออกแบบจะไปทำการซื้อที่ดินหรืออาคารเก่า นำมาปรับปรุงและสุดท้ายก็ปล่อยขายแก่ผู้ที่สนใจ วิธีการนี้มีทั้งขอดีและข้อเสีย ข้อดีคือบ้านหลังนั้นๆ จะมีรายละเอียดและรูปแบบของบ้าน ที่ผ่านการออกแบบจากสถาปนิกด้วยความตั้งใจ ไม่มีข้อจำกัดที่จะทำให้บ้านไปไม่สุดทาง สถาปนิกจะปล่อยจินตนาการออกมาอย่างเต็มที่ เสมือนกำลังออกแบบบ้านเพื่ออยู่เอง ผู้ที่ซื้อต่อจึงมั่นใจได้ว่าทุกส่วนของบ้านได้ถูกออกแบบมาแล้ว ส่วนข้อเสียน่าจะเป็นเรื่องที่บ้านนั้นสร้างเสร็จแล้ว หากมีอะไรที่ต้องการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ชอบ ก็อาจจะต้องมีการทุบหรือแก้ไขภายหลัง ซึ่งสำหรับเจ้าของบ้านหลังนี้ เห็นว่ามันพอดีกับชีวิตมาก เลยตัดสินใจไม่นานนักที่จะซื้อ
ผู้ออกแบบคือ JTJ Design โดย Tony Heneberry ออกแบบและสร้างบ้านหลังนี้จากความคิดพื้นฐานเรื่องการเป็นบ้านที่น่าอยู่ แต่ที่น่าแปลกใจมากกว่านั้นคือ บ้านหลังนี้เดิมเป็นบ้านเก่า แต่เมื่อปรับปรุงเสร็จเรากลับไม่รู้สึกถึงความเป็นอาคารเดิมเลย ลักษณะอาคารเดิมนั้นคล้ายทาวน์เฮ้าส์บ้านเรา โดยคุณโทนี่เลือกซื้อ 2 คูหาและทำการออกแบบภายในใหม่ทั้งหมด เมื่อทุบผนังที่กั้นระหว่างคูหาออก ก็จะได้อาคารที่มีพื้นที่ไม่น้อยเลยทีเดียว
เหมือนบ้านตึกแถวบ้านเรา แต่มีช่วงกว้างนั้นกว้างถึง 7 เมตร สถาปนิกทลายผนังกำแพงส่วนใหญ่ออกหมดเพื่อจัดการกับพื้นที่ใช้งานใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น พื้นที่ภายในทั้งหมดแทบจะไม่มีผนังทึบกั้นให้ดูอึดอัด เช่นส่วนของห้องนั่งเล่นและรับประทานอาหารชั้น 2 เป็นการจัดแปลนแบบ Open Plan ทั้งโปร่งสบายและสามารถระบายความร้อนสู่ภายนอกได้เป็นอย่างดี
บันไดหลักของบ้านถูกทุบและสร้างขึ้นใหม่ในตำแหน่งที่เหมาะสมมากขึ้น จากชั้นล่างสู่ชั้น 2 บันไดถูกสร้างด้วยเหล็กและขั้นบันไดที่โปร่งโล่ง ด้านข้างคือคอร์ดกลางบ้านซึ่งปลูกต้นไม้ที่สูงขึ้นไปยังชั้น 2 ซึ่งเป็นพื้นที่พักผ่อนหลัก ต้นไม้ช่วยสร้างบรรยากาศให้เหมือนอยู่ภายนอกได้ดี อีกทั้งยังช่วยเชื่อมต่อพื้นที่ ให้เกิดการเดินทางของสายตาและพาไปสู่ความน่าอยู่ที่สถาปนิกตั้งใจให้เป็น ส่วนบันไดที่ขึ้นสู่ชั้น 3 ถูกย้ายไปยังบริเวณด้านหน้าของอาคาร เพื่อให้พื้นที่ชั้นบนซึ่งเป็นห้องทำงานและพักผ่อน ได้มีพื้นที่ที่กว้างใหญ่ ไม่ต้องมีโถงบันไดมาเกะกะกลางห้องนั่นเอง
สถาปนิกยังคิดถึงเรื่องการระบายความร้อนให้ออกจากตัวบ้านอย่างสะดวก ซึ่งอากาศร้อนนั้นจะลอยตัวสูงขึ้น ผ่านโถงบันได ผ่านโถงเปิดโล่งระหว่างชั้น 2 และ 3 สุดท้ายออกจากตัวบ้านทางหลังคาซึ่งออกแบบหน้าต่างบานเกล็ดไว้ อากาศภายในก็จะหมุนเวียนตลอดเวลา อีกทั้งด้านหน้าของบ้านซึ่งหันหน้าไปทางทิศใต้ ซึ่งมาแสงแดดสาดส่องเข้ามา สถาปนิกจึงเลือกที่จะออกแบบสวนแนวตั้งแบบง่ายๆ ใช้ไม้กระถางวางบนโครงเหล็กทางสีดำ เพื่อกรองแสงแดดที่จะเข้ามาภายในบ้าน และยังเป็นการเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อยู่อาศัยด้วย
ในความเป็นจริง บ้านหลังนี้อาจจะเลือกที่จะเป็นบ้านที่ปิดทึบ และอาศัยการเปิดเครื่องปรับอากาศทั้งวันก็ได้ แต่เมื่อความคิดของผู้ออกแบบยังวนเวียนอยู่กับธรรมชาติ และเชื่อว่าธรรมชาติเป็นสิ่งเดียวกันกับมนุษย์ เราก็ไม่จำเป็นต้องเลือกวิธีการข้างต้น ในทางกลับกัน การเลือกที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างเหมาะ คือคำตอบของบ้านหลังนี้