OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Perfect Thinking House : บ้านน่าอยู่แบบเมืองร้อนชื้น by ArchiCentre

คนเราดูกันที่ภายนอกไม่ได้จริงๆ บางคนที่ดูภายนอกและเรามักจินตนาการว่าเขาน่าจะเป็นคนแบบหนึ่ง แต่พอได้ทำความรู้จัก หรืออย่างน้อยเพียงแค่ใช้สายตาที่มองลึกลงไป เราอาจจะพบว่าภายในนั้นมีอะไรที่น่าสนใจมากมาย เช่นเดียวกับบ้านหลังนี้ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่ดูภายนอกอาจเป็นบ้านสวยตามแบบฉบับของบ้านเมืองร้อนชื้นอย่างประเทศมาเลเซียทั่วไป แต่ภายในบ้าน พิเศษกว่านั้น

บ้านหลังนี้สร้างขึ้นจากความต้องการที่จะให้เป็นบ้านที่ประหยัดพลังงานและใช้ทรัพยากรคุ้มค่าที่สุด ในทุกๆจุดของบ้าน รูปแบบของบ้านที่สวยงามหรูหราแสดงให้เห็นว่าบ้านที่ใหญ่โตและหรูหรา ก็สามารถเป็นบ้านที่ประหยัดพลังงานและอยู่สบายได้

เดิมพื้นที่นี้มีอาคารเก่าอายุกว่า 60 ปี ตั้งอยู่ แต่กาลเวลาทำให้บ้านหลังนี้ทรุดโทรมเกินการเยียวยา เจ้าของบ้านและสถาปนิกจึงเลือกที่จะสร้างบ้านหลังใหญ่ขึ้น โดยคงต้นไม้ใหญ่ไว้ และใช้วัสดุจากบ้านเดิมที่เกิดจากการรื้อถอนอย่างระมัดระวัง นำกลับมาใช้ใหม่ กับบ้านหลังใหม่ที่มีชื่อว่า S11 หลังนี้ ซึ่งผู้ออกแบบคือ ArchiCentreโดยTan Loke Munและบ้านหลังนี้ยังได้รางวัล Green Building Index (GBI) จากประเทศมาเลเซีย เป็นรางวัลที่ให้กับอาคารที่คิดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงานในระดับ Platinum อีกด้วย

บ้านหลังนี้คิดถึงทุกขั้นตอนตั้งแต่การรื้อทุบบ้านเก่า โดยใช้เศษคอนกรีตที่เกิดจากการทุบทำลาย มาถมและเติมพื้นดินบริเวณพื้นทางเดินรอบบ้านที่ไม่ได้ต้องรับน้ำหนักมากนัก ก้อนอิฐบางส่วนจากบ้านเก่าก็กลายมาเป็นผนังอิฐโชว์แนวที่มีลูกเล่นการเว้นช่องเพื่อระบายอากาศที่น่าสนใจ ส่วนไม้ที่เป็นโครงสร้างบ้านเดิมก็นำมาทำเป็นโครงไม้นั่งร้านในระหว่างการก่อสร้างบ้านใหม่ เหล็กจากบ้านเก่าถูกขายและกลายมาเป็นเหล็กรูปพรรณสมัยใหม่ที่ใช้งานได้เหมาะสมกว่า

สายลมเย็นพัดผ่านตัวบ้านที่สูงโปร่งได้อย่างสะดวก เพราะตัวบ้านนั้นวางตัวในทิศเหนือและใต้ ช่องเปิดและหน้าต่างขนาดใหญ่ช่วยให้ภายในบ้านเกิดการระบายความร้อนและเย็นสบาย ผนังด้านที่โดนแดดทางทิศตะวันตกจะเป็นผนังก่ออิฐมวลเบาชนิดพิเศษ พร้อมมีโครงสร้างตะแกรงที่ปล่อยให้ไม้เลื้อยนั้นสามารถเกาะเกี่ยวและให้ร่มเงาแก่ตัวบ้านได้ดี แต่สิ่งที่ช่วยให้บ้านเย็นที่สุดคือต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ทั้ง 5 ต้น ช่วยลดอุณหภูมิของบ้านได้ อย่างน้อย 2-3 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว และแม้หลังคาจะเป็นหลังคาเหล็กรีดบางหรือเมทัลชีต แต่ภายในนั้นมีฉนวนกันความร้อนพร้อมแผ่นสะท้อนความร้อนที่หนาถึง 20 เซนติเมตร กระจกที่ใช้ทั้งบ้านเป็นกระจก low-E* หนาเกือบ 1 เซนติเมตร ทำให้บ้านหลังนี้สามารถป้องกันความร้อนและกักเก็บความเย็นไว้ในตัวบ้านได้เป็นอย่างดี

บ้านหลังนี้สูง 3 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น พื้นที่บ้านขนาดใหญ่แต่มีการระบายอากาศที่ดีเพราะผู้ออกแบบได้คิดค้นการระบายความร้อนออกจากตัวบ้านอย่างรวดเร็วที่สุด ด้วยการใช้ตัวท่อขนาดประมาณ 30 เซนติเมตรจำนวน 15 ท่อ วิ่งทะลุ จากชั้นล่างสุดและชั้นต่างๆของบ้านขึ้นไปสู่หลังคา เพื่อเป็นทางลัดในการระบายความร้อน อากาศร้อนลอยตัวสูง อากาศเย็นเข้ามาแทนที่ เท่านี้บ้านก็เย็นได้โดยไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศเลย 

ผมสังเกตเห็นว่าภาพรวมของบ้านนั้นใช้วัสดุที่เผยให้เห็นเนื้อจริงของวัสดุโดยไม่มีการทาทับ เช่นผิวคอนกรีตเปลือย ไม้ หรืออิฐก่อโชว์แนว แต่ก็มีผนังที่มีการทาสีทับ ซึ่งสถาปนิกก็ไม่ลืมที่จะใช้สีที่ทำลายชั้นบรรยากาศน้อยที่สุด คือสี Low VOC* นั่นเอง

อย่างที่กล่าวไปนั้นว่าบ้านหลังนี้ได้ออกแบบมาเพื่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติจริงๆ แม้กระทั่งเรื่องของน้ำในบ้าน บ้านนี้จะมีถังเก็บน้ำฝนขนาดใหญ่ รวมน้ำฝนจากหลังคาของบ้าน และน้ำเหล่านี้จะถูกนำมาใช้กับสุขภัณฑ์อย่างโถส้วม สำหรับรดน้ำต้นไม้และล้างรถ

บ้านขนาดใหญ่หลังนี้ไม่เพียงสวยงามน่าอยู่แล้ว สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือคุณค่าที่บ้านหลังน่าเป็น การออกแบบที่คิดถึงเรื่องพลังงานและทรัพยากรของโลก เรียกได้ว่า บ้านนี้อยู่สบายกายและยังอยู่สบายใจไม่แพ้กัน

ขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.archdaily.com