“ กรุงโรมไมได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด อาชญากรร้ายก็มิอาจถือกำเนิดขึ้นได้ภายในวันเดียวฉันนั้น “
นึกย้อนกลับไปช่วงวัยเด็ก พวกเราส่วนใหญ่เคยได้รับบทบาทการเป็นผู้แกล้งและผู้ถูกแกล้งกันมาทั้งนั้น ตั้งแต่การเย้าแหย่ ล้อเลียน ซ่อนของ ถากถางปมด้อย จนอาจถลำลึกลงไปถึงขั้นการกดขี่ กีดกันจากกลุ่ม และการทำร้ายร่างกาย ระดับความรุนแรงแล้วแต่ประสบการณ์ที่เราได้เผชิญกันมา
และเมื่อเวลาผ่าน พวกเราก้าวเข้าสู่ช่วงเจริญวัย ความทรงจำของผู้กลั่นแกล้งอาจจะจางหายเหมือนไม่เคยเกิดขึ้น ตรงกันข้ามกับอดีตของผู้ถูกกระทำ บาดแผลรุนแรงที่ไม่ได้รับการเยียวยาจะตกสะเก็ดกลายมาเป็นแผลเป็น การถูกกลั่นแกล้งซ้ำๆ จะตกตะกอนฝังตัวอยู่ในจิตใจส่วนลึก แล้วสัญชาตญาณการเอาตัวรอดจะสั่งสอนให้เราอยากช่วงชิงบทบาทจากผู้ถูกล่า มาเป็นผู้ล่าเสียแทนเสียแทน
มีรายงานผลการศึกษาเรื่องนี้โดยมหาวิทยาลัย Duke รัฐนอร์ทเเคโรไลน่า USA ชี้ว่าการกลั่นเเกล้งที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า bullying จะมีผลกระทบทางจิตใจและสุขภาพในระยะยาว เด็กที่เคยถูกกลั่นเเกล้งจะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ความเครียดทางจิตใจ ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตขึ้นในช่วงหลังของชีวิตพวกเค้า และปมปัญหาในจิตใจดังกล่าว อาจเปลี่ยนให้เด็กที่เคยเป็นผ้าขาวเปรอะเปื้อนคราบดำของอาชญากรที่ไม่มีวันล้างออกได้อีกต่อไป มีงานวิจัยและบทความด้านอาชญาวิทยา ระบุเอาไว้คล้ายคลึงกันว่า เด็กที่เคยถูกทำร้ายไม่จำเป็นต้องกลายเป็นผู้ร้ายก่อคดี แต่อาชญากรส่วนหนึ่งเคยเป็นเด็กที่ถูกกลั่นแกล้ง ทำร้ายขั้นรุนแรงจากทั้งครอบครัวและสังคมมาก่อน
มีจำนวนนักเรียนชาวอเมริกันถึง 1 ใน 4 คนที่เคยถูกแกล้งที่โรงเรียน
อาชญากรรมร้ายแรงที่เราเห็นกันในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้ อาจถูกฟูมฟักขึ้นจากคดีความเล็กๆน้อยๆ ของคนที่สังคมมองว่าเป็นเด็กมีปัญหาในอดีต และพวกเราก็ไม่เคยตระหนักกันว่าฆาตกรสะเทือนขวัญที่อยู่ตรงหน้า พวกเค้าอาจผ่านชะตากรรมชีวิตอันโหดร้ายยิ่งกว่าในละครหลังข่าวซะอีก
Museum of Bullying พิพิธภัณฑ์การกลั่นแกล้ง
ปมปัญหาดังกล่าวถูกนำมาสร้างเป็นแคมเปญ Museum of Bullying พิพิธภัณฑ์การกลั่นแกล้ง ที่ประเทศลิธัวเนีย โดย vaikų linija องค์กรไม่แสวงผลกำไร บริการอาสาสมัครสายด่วนเพื่อรับฟังปัญหาของเด็กที่ถูกรังแก แบ่งปันประสบการณ์เลวร้ายและช่วยเหลือเด็กๆ ที่ต้องพบอุปสรรคจากการดำเนินชีวิต พวกเค้าต้องรับมือสายด่วนจากเด็กๆที่โทรเข้ามาปรึกษามากกว่า 300 สายต่อวัน ปัญหาการกลั่นแกล้งของเด็กๆ ในเมืองนี้จึงไม่ถือเป็นเรื่องเล็กๆ อีกต่อไป
Museum of Bullying จะรวบรวมการรังแกทุกชนิดของเด็กๆ จากทั้งหญิง ชาย มาจัดแสดงเอาไว้ เพื่อให้คนทั่วไปได้ตระหนักว่าปัญหาการกลั่นแกล้งในวัยเด็กอาจนำพาปัญหาอาชญากรรมร้ายแรงได้ในอนาคต และเพื่อการระดุมทุนบริจาคให้เพื่อขยายการบริการสายด่วนให้เพียงพอต่อเด็กๆที่โทรเข้ามาปรึกษาได้ในอนาคต
รับชมภาพตัวอย่างนิทรรศการ หรืออยากจะเยี่ยมชมและบริจาคให้กับโครงการได้ที่ web site ตามนี้เลยครับ http://www.patyciumuziejus.lt/en/
เราคงไม่มีทางรู้ได้ว่าเมื่อไหร่ถึงจะขจัดบาดแผลเรื่องการกลั่นแกล้งในวัยเด็กให้หายไปได้ หากแต่พวกเราเริ่มมองให้เห็นมันว่าเป็นปัญหาที่ไม่ควรนิ่งเฉย ไม่ละเลยมองผ่านอย่างที่ผ่านมา แผลเป็นความเจ็บปวดและปัญหาจากความไร้เดียงสาเหล่านี้คงจะทุเลาลงไป เพราะคงไม่มีใครชอบที่จะถูกรังแก…
ข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพ
http://curatorsofquirk.com/2016/02/visit-the-museum-of-bullying-to-help-stop-the-problem/