OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Q&A จากเหตุการณ์เพลิงไหม้… ทำไมเราถึงควรมีระยะถอยร่นอาคาร ?

ครั้งนี้อาจจะไม่ใช่คำถามจากทางบ้านเหมือนที่ผ่านมา แต่เมื่อเราเจอะเจอเรื่องราวที่น่าสนใจก็อดไม่ได้ที่จะหยิบเอามาบอกเล่ากันครับ กับเหตุการณ์ไฟไหม้อาคารในกรุงเทพฯที่ ถ.นราธิวาส18 เมื่อ 3-4 วันก่อนนี้เอง ความรุนแรงจากเปลวเพลิงที่ลุกลามอย่างรวดเร็วสร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างอาคาร ทรัพย์สินเครื่องใช้ และชีวิตของผู้ที่อาศัยอยู่ภายใน

1

ผู้สื่อข่าวรายงานการสันนิษฐานในชั้นต้น  ถึงสาเหตุของเพลิงไหม้และการลุกลามของเปลวเพลิงที่รวดเร็วว่า  อาจเป็นเพราะการจุดธูปไหว้เจ้าและไฟฟ้าลัดวงจรจากพัดลมตั้งพื้นที่อยู่ในจุดใกล้เคียง   ประกายไฟลุกลามอย่างรวดเร็วไปที่วัสดุปูพื้น ผนัง เพดานที่ทำด้วยไม้ปาร์เก้ และไม้สักในส่วนตกแต่งอาคาร  เปลวเพลิงเดินทางจากชั้น 3 ของตึกขึ้นไปสู่ชั้นที่สูงกว่า เพราะแต่ละชั้นไม่มีการสร้างประตูปิดกั้นภายใน  ทำให้เพลิงไหม้ลุกลามขึ้นได้อีกเป็นทวีคูณ

2

(ภาพจาก http://news.mthai.com/hot-news/general-news/478624.html)

เปลวไฟเผาไหม้กินเวลายาวนานมากกว่า 4 ชั่วโมงถึงจะควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบได้ ทั้งที่โดยทั่วไปแล้ว ประสิทธิภาพการทนไฟของอาคารก่อสร้างถูกจำกัดไว้ในช่างเวลาแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น สำหรับการหนีภัยเพลิงและการถล่มของโครงสร้างที่ได้รับความเสียหาย  ซึ่งสาเหตุที่ต้องใช้เวลานานกว่าการควบคุมสถานการณ์ได้ ก็เกี่ยวข้องกับระยะถอยร่นอาคารหลังนี้นั่นเองครับ

3

(ภาพจาก http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/685753)4

(ภาพจาก http://www.komchadluek.net/detail/20160205/221867.html)

เหตุผลหนึ่งที่สำคัญของการกำหนดระยะถอยร่นของอาคาร ที่คนทั่วไปอาจจะยังไม่ทราบกันก็คือ  เพื่อให้ที่ว่างนั้นสามารถใช้ประโยชน์ในเรื่องความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย และการอำนวยความสะดวกอื่นๆ ในกรณีควบคุมเหตุการณ์เพลิงไหม้ ก็คือการสร้างพื้นที่ทางหนีไฟเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้อยู่อาศัย  ทำบันไดหนีไฟมาสู่ภายนอก  และเผื่อไว้ให้เพียงพอให้รถดับเพลิงสามารถขับเข้าไปจอดดำเนินการดับไฟได้ตามปกติ จึงจำเป็นต้องการพื้นที่ให้รถใหญ่เข้าได้ตามกฎหมายก่อสร้างอาคารสูง  กระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ที่ระบุไว้ว่า อาคารสูงเกิน 23 เมตรขึ้นไป จะต้องมีระยะห่างจากพื้นที่ขอบเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 6 เมตร มีถนนทางเข้ากว้างอย่างน้อย 10 เมตร นะครับ

5

(ภาพจาก http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9590000012933)

แต่เมื่อเราสืบย้อนกลับไปอาคารหลังนี้  พบว่าเป็นอาคาร 9 ชั้น ที่สร้างก่อนจะมีกฎควบคุมอาคารสูง  กฏกระทรวงฉบับที่ 33 (ปี 2535) ทำให้ไม่มีข้อกำหนดเรื่องความปลอดภัยรัดกุมอย่างในปัจจุบัน  ก่อนที่จะดำเนินการต่อเติมและก่อสร้างมาเป็นอาคารสูง 10 ชั้นที่เกินกว่า 23 เมตรอย่างแน่นอน  แต่กลับมีบันไดหนีไฟที่ไม่ได้มาตรฐาน (บันไดลิง)  ไม่มีส่วนปิดกั้นภายในแต่ละชั้นและถนนรอบอาคารขนาดเล็กแคบ แออัดเกินกว่ารถดับเพลิงจะเข้าไปได้

r8

(ภาพจาก http://202.129.59.73/nana/know/061155/road/road.htm)

6

(ภาพจาก http://social.tnews.co.th/content/178379/)

ผลเสียจากการสร้างระยะถ่อยร่นอาคารที่แคบเกินไป ทำให้การดับไฟกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น   ประกอบกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในอาคารสูง จำเป็นต้องใช้เครนเข้าไปดับเพลิงหรือช่วยเหลือคนที่ติดอยู่ในอาคาร แต่ถนนแคบโดยรอบทำให้รถดับเพลิงต้องจอดอยู่ห่างจากตัวอาคาร การใช้งานเครนก็ทำได้ลำบาก  อาคารสูงเกินกว่าระยะแขนรถดับเพลิงจะไปถึง จึงทำได้แค่ฉีดน้ำขึ้นไปจากระยะพื้นดิน แทนที่จะขยายขอบเขตการใช้งานด้วยการฉีดน้ำในมุมตรง หรือฉีดกดลงที่พื้นจะดับไฟได้เร็วกว่า  ประสิทธิภาพควบคุมเปลวเพลิงลดลง จึงต้องใช้เวลายาวนานกว่าไฟจะสงบ

8 9

(ภาพจาก http://www.komchadluek.net/detail/20160205/221867.html)

ข้อบกพร่องความปลอดภัยในการออกแบบต่อเติมและการขออนุญาตที่ผิดกฎหมาย  ที่โยงใยเกี่ยวข้องกับทั้งผู้ตรวจสอบอนุญาตอาคาร เจ้าพนักงานท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร  เจ้าของอาคาร และทีมของนักออกแบบ  ซึ่งคงต้องสืบหาผู้รับผิดชอบกันต่อไป  พวกเราคงได้แต่ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของกฎหมายควบคุมอาคารประเภทต่างๆ ระยะถอยร่น ระบบป้องกันภัย ทางหนีไฟ เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ ด้วยการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท แม้จะอยู่ในบ้านที่ปลอดภัยของเราเอง อะไรก็เกิดขึ้นได้เช่นกันครับ

สุดท้ายนี้ ต้องขอแสดงความเสียใจกับการสูญเสียที่เกิดขึ้น มา ณ ที่นี้ด้วยครับ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์ดั่งฝันร้ายแบบนี้ จะเกิดขึ้นน้อยลง หรือทางที่ดีที่สุดคือไม่เกิดขึ้นอีกเลย… ช่วยกันดูแลกันและกันครับ ทุกคนช่วยได้ ไม่มากก็น้อย

 

ข้อมูลอ้างอิง

สมาคมสถาปนิกสยาม

กระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543)

กฏกระทรวงฉบับที่ 33 (ปี 2535)