OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

“โรงเรียนบ้านห้วยส้านยาว” 1 ในโครงการโรงเรียนป้องกันแผ่นดินไหว

โรงเรียนบ้านห้วยส้านยาว
Architect : Vin Varavarn Architects

Location : จ.เชียงราย
Photo :Spaceshift Studio

1

โครงการ ” ห้องเรียนพอดี พอดี “

จากที่เราเคยนำภาพตัวอย่างทัศนียภาพโรงเรียนบ้านดอยช้าง 1 ใน 9  อาคารของโครงการ “ห้องเรียนพอดี พอดี”  โดยองค์กรไม่แสวงผลกำไร Design for Disasters, ทีมงานบ้านพอดี พอดี และสถาปนิกไทย 9 คนที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับต่างประเทศ มาร่วมมือกันออกแบบสร้างอาคารเรียน 9 หลังให้กับโรงเรียน 9 แห่งในจังหวัดเชียงราย ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในภาคเหนือเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา

2

เหตุภัยพิบัติในครั้งนั้น ส่งผลความเสียหายแก่โรงเรียนไปกว่า 73 แห่ง มีจำนวนนักเรียนที่ได้รับความเดือดร้อนรวมกันเกือบ 2000 คน โครงการ “ห้องเรียนพอดี พอดี” จึงจัดตั้งขึ้นมาเพื่อการซ่อมสร้างอาคารเรียนอย่างเร่งด่วนในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายเยอะที่สุด คัดเลือกอาคาร 9 แห่งมาจับคู่เข้ากับสตูดิโออกแบบของคนไทย 9 คน ภายใต้แนวความคิดการทำงานเดียวกันคือ ประหยัด เน้นวัสดุที่หาได้ง่าย ขนส่งสะดวก ก่อสร้างได้รวดเร็ว อย่างการใช้โครงสร้างเหล็ก ผนังซีเมนต์บอร์ด หรือวัสดุพิเศษ ที่สถาปนิกจะนำมาใช้งานเพื่อสร้างเอกลักษณ์การออกแบบอาคารแต่ละหลังของตนเอง

3

โรงเรียนบ้านห้วยส้านยาว

อาคารเรียนของเด็กชั้นมัธยมจากโรงเรียนบ้านห้วยส้านยาว เป็น 1 ใน 9 อาคารเรียนที่ถูกรับเลือกเข้าร่วมโครงการ ” ห้องเรียนพอดี พอดี ”  ออกแบบโดย Vin Varavarn Architects ตัวอาคารรูปทรง 5 เหลี่ยมหลังคาจั่วทอดตัวยาวตั้งอยู่บนพื้นดินที่ลาดชัน ภายในแบ่งเป็น 3 ห้องเรียนอยู่ในอาคารเรียนหลังเดียวกันเพื่อประหยัดพื้นที่ก่อสร้าง นำเสนอคอนเซ็ปต์การออกแบบการสร้างบรรยากาศห้องที่พิเศษขึ้นกว่าห้องเรียนทั่วไป ตั้งใจอยากสร้างบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาสำหรับเด็กๆ ที่เคยบอบช้ำมาจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว ออกแบบสเปซที่เปิดรับที่ว่างให้แสงสว่างธรรมชาติ สอดแทรกด้วยความเขียวสดชื่นของต้นไม้กระถางเล็กรอบๆอาคาร

4

5

โครงสร้างหลักของอาคารเป็นโครงสร้างเหล็ก ตั้งแต่หลังคา ผนัง และพื้นเสา ตั้งอยู่บนฐานรากคอนกรีตฝังดิน

6 7

ใช้หลังคาโปร่งใสรีดลอนเพื่อดึงแสงแดดเข้ามาในห้องเรียน ปิดทับด้วยแผงหลังคาไม้ไผ่เพื่อป้องกันความร้อนและลดความสว่างให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ

8

ไม้ไผ่เป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นถิ่น  ถูกนำมาประยุกต์หลายส่วนในอาคาร แผ่นปูทับหลังคา พื้นระเบียง ชั้นวางกระถางต้นไม้ ผสมความเป็นธรรมชาติกับวัสดุยุคใหม่อย่างเสาคานเหล็กเพื่อสร้างอาคารที่ประหยัดงบประมาณ ก่อสร้างได้รวดเร็ว ดีไซน์กะทัดรัดแต่ยังสามารถตอบโจทย์การใช้งาน ตามคอนเซ็ปต์หลักของโครงการ ” ห้องเรียนพอดี พอดี “

9

บันไดเหล็กรูปตัว L คือ ทางเข้าออกหลักสำหรับห้องเรียนทั้ง 3 ส่วน ปิดทับด้วยไฟเบอร์ซีเมนต์และไม้ไผ่ เลือกใช้วัสดุราคาถูกและน้ำหนักเบา แล้วยังสามารถลดความเสียหายที่อาจจะเกิดจากแผ่นดินไหวในอนาคต

Dtip : อ่านบทความเกี่ยวกับข้อดี-ข้อเสีย การใช้งานแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์เพิ่มเติมได้ที่นี่ 

10

ช่องว่างระหว่างพื้นดินลาดชันกับเสาเหล็กค้ำตัวอาคารให้ลอยอยู่กลางอากาศก็ไม่ได้ถูกทิ้งไว้ให้เปล่าประโยชน์ ออกแบบพื้นที่ใต้ถุนตามสไตล์แบบไทยเผื่อไว้เป็นพื้นที่กิจกรรมอเนกประสงค์ กึ่งกลางแจ้ง Semi-outdoor

11

2 ห้องโถงเล็กกลางตัวอาคาร ช่องว่างระหว่างห้องเรียนทั้ง 3 นี้จะทำหน้าที่เป็น Buffer ฉนวนดูดซับเสียงดังพร้อมกับใช้เป็นที่เก็บกระเป๋าและชั้นวางรองเท้าสำหรับเด็กๆ ใช้ประโยชน์จากทุกพื้นที่ว่างอย่างคุ้มค่า

12 13

องค์ประกอบหลักสถาปัตยกรรมหลังนี้ใช้เส้นสายโครงสร้างอาคารที่ดูเรียบง่าย ชัดเจน ใช้งานแต่เท่าที่จำเป็น มีเป้าหมายเพื่อแสดงความรู้สึกแข็งแรง ทนทาน ปลอดภัย และลดค่าใช้จ่ายการตกแต่งที่ไม่จำเป็น

14

ระเบียงกระถางต้นไม้เว้นเป็นจังหวะตลอดแนวอาคารถูกใช้แทนข้อความส่งถึงเด็กๆ ในห้องเรียน เพื่อเตือนใจว่าแม้ในความเป็นจริงธรรมชาติจะเคยโหดร้ายและรุนแรงกับพวกเค้าเพียงใด แต่มันสามารถมอบความสวยความและความสุขให้กับชีวิตกลับคืนมาให้มนุษย์ด้วยเช่นกัน ฉะนั้นแล้วจงอย่าลืมที่จะเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันธรรมชาติ พึ่งพาอาศัยกันอย่างมีความสุข

15

จากคอนเซ็ปต์โครงการ ” ห้องเรียนพอดี พอดี ” ที่ดูเหมือนจะเป็นขอบเขตเงื่อนไขในทางการออกแบบ  กลับกลายเป็นโจทย์ที่ทำให้เราเห็นคุณค่าของวัสดุธรรมชาติท้องถิ่นว่าสามารถนำมาปรับใช้ทดแทนวัสดุรุ่นใหม่ราคาแพงได้อย่างสูสี ทั้งยังช่วยให้รูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นมีส่วนผสมลงตัวกับบริบทแวดล้อมของตัวเองอีกด้วย

ติดตามงานออกแบบเพิ่มเติมได้ที่ Vin Varavarn Architects Limited

ข้อมูลและรูปภาพจาก www.dezeen.com

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading