ช่างภาพสถาปัตยกรรม ผู้ถ่ายทอดแนวความคิดและความงดงามของสถาปัตยกรรมผ่านเลนส์กล้อง
หลายคนชอบหยิบกล้องขึ้นมาเซลฟี่ หลายคนชอบถ่ายรูปมื้ออาหาร และอีกหลายคนชอบเก็บภาพนางแบบสาวสวยน่ารัก พวกเราทั้งหลายคงมีสายตาที่มองเห็นความงดงามในวัตถุ (Object) แตกต่างกันไป แล้วสำหรับวัตถุขนาดใหญ่อย่างอาคารสถานที่ บ้านพักอาศัย ภาพผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมสวย ๆ ที่เคยผ่านตาในสื่อนิตยสารหรือสื่อออนไลน์สมัยใหม่ จะต้องใช้สายตาแบบไหนกัน ถึงจะเห็นความงามที่อาคารกำลังพยายามกระซิบบอกเราอยู่
ก้าวออกจากนักออกแบบมาเป็นนักถ่ายแบบ (อาคาร)
บ่ายวันอังคารที่ผู้คนและสายฝนกำลังแข่งขันกันทำงานอย่างขะมักเขม้น เรามีนัดพูดคุยระหว่างพักทานมื้อกลางวันกับช่างภาพสถาปัตยกรรมที่มีมุมมองน่าสนใจคนหนึ่ง เค้าใช้นามแฝงในวงการถ่ายภาพ beersingnoi หรือชื่อจริงคือ ” คุณวีระพล สิงห์น้อย ” อดีตนักศึกษาคณะสถาปัตย์รั้วศิลปากรที่ผันตัวมาเป็นช่างภาพสถาปัตยกรรมได้ 7- 8 ปีแล้ว จากความชื่นชอบเปิดดูรูปภาพอาคารที่สวยงามในหนังสือห้องสมุดสมัยเรียน เกิดเป็นความสงสัยว่าทำอย่างไรถึงจะถ่ายภาพแบบนั้นได้บ้าง จึงเริ่มทดลองหยิบจับกล้องถ่ายภาพง่ายๆ ใกล้ตัว หาอ่านหนังสือความรู้เรื่องการถ่ายภาพ ลองผิดลองถูกเรียนรู้ด้วยตัวเองตั้งแต่สมัยเรียน
คล้ายๆ กับบัณฑิตสถาปนิกจบใหม่ส่วนใหญ่ที่มักจะมาเริ่มต้นทำงานเป็นสถาปนิกดูก่อน เก็บประสบการณ์หน้าไซต์งานอยู่ 1 ปี ก่อนจะขอตัดสินใจอีกครั้งว่าอยากหาแนวทางอื่นที่เหมาะกับตัวเองจริงๆ เลยลองเบนสายเข้าสู่วงการสื่อที่เกี่ยวข้องอาคารสถาปัตยกรรม ทั้งการทำหนังสือและถ่ายภาพในตำแหน่งกองบรรณาธิการ กลับมาทุ่มเทฝึกทักษะการถ่ายรูปอีกครั้งในสำนักพิมพ์หนังสือทางสถาปัตยกรรมของจริง สอบถามเรียนรู้เทคนิค มุมมองความคิดจากพี่ๆ ตากล้องสถาปัตยกรรมมืออาชีพ ตกตะกอนประสบการณ์ ความสามารถจนช่ำชองจึงขอออกมาทำงานเป็นช่างภาพสถาปัตยกรรมของตัวเองเต็มตัว
ช่างภาพสถาปัตยกรรมคืออะไร ? ทำไมถึงต้องมีนักถ่ายภาพเฉพาะด้านเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม
ถ้าจะอธิบายอย่างง่ายๆ อาชีพช่างภาพสถาปัตยกรรมก็คือ ช่างภาพที่ถ่ายภาพตึกอาคารรูปแบบต่างๆ ให้สวยงามทั้งภายในและภายนอก ต้องศึกษาทักษะการถ่ายภาพเฉพาะด้านอย่างจริงจัง ใช้อุปกรณ์เฉพาะทางเพื่อเก็บภาพที่สวยงามของอาคาร เป็นคำจำกัดความแบบกว้างๆ ที่น่าจะพอเห็นภาพมากขึ้น แต่เรามีคำตอบที่น่าสนใจกว่านั้นจากปากของช่างภาพเบียร์สิงห์น้อย
“ ผมคิดว่างานของช่างภาพสถาปัตยกรรมคือการถ่ายทอดพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมจากงาน 3 มิติกลับมาเป็นภาพถ่าย 2 มิติ ผ่านช่างภาพที่เข้าใจวิธีคิดแบบสถาปนิก ตรงจุดนี้ละมั้งที่ทำให้แตกต่างจากช่างภาพประเภทอื่น ๆ มีวิธีคิด วิธีการถ่ายที่เฉพาะทางมากขึ้น เพราะพื้นฐานของช่างภาพสถาปัตยกรรมคือต้องอาศัยความเข้าใจแนวความคิดการก่อเกิดอาคารนั้นๆ การมองเห็นไอเดียที่อยู่เบื้องหลังอาคารที่เราอาจมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า”
ปกติแล้วสถาปนิกจะเริ่มทำงานจากแบบสเก็ต 2 มิติในกระดาษแล้วจึงเปลี่ยนเป็นสร้างแบบโมเดลจำลอง 3 มิติ แต่งานของช่างภาพคือการย้อนกระบวนการกลับกัน แปลภาพงานอาคาร 3 มิติที่ก่อสร้างเสร็จแล้วลงพื้นที่ 2 มิติโดยที่ยังต้องสะท้อนแนวความคิดการออกแบบเมื่อเริ่มแรกเอาไว้ วิธีการมองที่แตกต่างและความสามารถที่ค่อนข้างเฉพาะทางเช่นนี้กระมัง ช่างภาพสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ในวงการถึงเป็นสถาปนิกกว่า 70 – 80 %
“ การเป็นสถาปนิกแล้วมาถ่ายภาพ ทำให้เราต้องเรียนรู้เรื่องเทคนิคการถ่ายภาพ ต่อยอดเทคนิคเครื่องมือต่าง ๆ มากขึ้น ก็คล้ายกับคนที่เป็นช่างภาพมาก่อน เค้าก็ต้องมาฝึกมุมมองอาคารสถาปัตยกรรม ความเข้าใจงานออกแบบให้มากขึ้น ซึ่งก็มีช่างภาพมืออาชีพหลายคนที่มีผลงานน่าสนใจแม้เค้าจะไม่ได้จบมาจากคณะสถาปัตย์โดยตรง ”
การทำงานกับวัตถุขนาดใหญ่ ใครว่าง่าย ?
งานที่ช่างภาพเบียร์สิงห์น้อยได้รับช่วงแรกจะเป็นงานอินทีเรีย บ้านพักขนาดเล็ก ค่อยๆ เก็บสะสมผลงานและประสบการณ์จะได้รับถ่ายงานที่เป็นอาคารสูงขนาดใหญ่มากขึ้น ขั้นตอนการทำงานของช่างภาพหลังจากที่ได้รับการติดต่อก็จะเริ่มศึกษาทำความรู้จักกับอาคารที่ได้รับมอบหมาย ขอดูแปลน รูปด้าน คอนเซปการออกแบบ ภาพพรีเซนต์ perspective ฟังชั่นหน้าที่การใช้สอยของอาคาร รูปแบบภาพที่ลูกค้าต้องการจะถูกนำไปใช้งานเป็นแบบไหน ถ้ามีเวลาพอก็จะมาสำรวจสถานที่ เช็ครายละเอียดก่อนวันออกไปถ่ายงานจริง ตรวจดูว่าหน้าไซต์งานสถานที่มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน มีสิ่งกีดขวางรึเปล่า เป็นงานที่ต้องใช้การวางแผนทำความเข้าใจกับวัตถุที่เราจะเป็นถ่ายภาพด้วยเสียก่อน
“ ข้อดีของการมีมุมมองและความเข้าใจการออกแบบสถาปัตยกรรมจะทำให้เราเข้าใจว่านักออกแบบเค้าคิดยังไง เรื่องคอนเซ็ปต์ บริบทที่ตั้ง มุมมองเท้าเข้า ผนัง façade การคิดพื้นที่ การเลือกใช้สี อ่านภาษาเดียวกันกับที่นักออกแบบใช้ การพูดคุยภาษาเดียวกันแล้วจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น รู้ว่าจุดไหนดีไม่ดียังไง จุดไหนตั้งใจให้ถูกพรีเซนต์ก็จะเน้นให้มันเด่นชัด จุดไหนไม่ดีก็หลบให้ได้ “
ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาติดต่อจะเป็นนักออกแบบที่ต้องการภาพถ่ายอาคารที่ตัวเองออกแบบมาเก็บไว้ในแฟ้มผลงาน portfolio เพราะเดี๋ยวนี้การเผยแพร่และสื่อสารผลงานการออกแบบให้คนทั่วไปได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจความงาม ก็เป็นเรื่องที่สถาปนิกหลายคนเริ่มให้ความสนใจ ช่องทางการสื่อสารมีมากขึ้น คนทั่วไปก็มีโอกาสผ่านตากับภาพถ่ายงานสถาปัตยกรรมสวยๆ ได้มากขึ้นตาม กับกลุ่มลูกค้าที่เป็นเจ้าของกิจการ อาคารต่าง ที่ต้องการใช้ภาพเพื่อการโปรโมทพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้กับอาคารของตัวเอง
ถึงจะมีการวางแผนมาก่อนแล้ว แต่ปัญหาหน้างานก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก บางครั้งอาจมีเวลาวางแผนเลือกมุมถ่ายภาพมาก่อน บางครั้งก็ต้องถ่ายไปคิดไป แถมยังต้องคอยแก้ไขปัญหาหน้างานเรื่อง สภาพแวดล้อม สภาพอากาศ ผู้คน สถานที่เกิดไม่พร้อมกะทันหัน มีมุมก่อสร้างที่ยังไม่สมบูรณ์ มีเศษขยะจากช่างที่มาเก็บแก้งานหลอดไฟไม่ติด ผนังเป็นคราบเลอะ ปัญหาจุกจิกยิบย่อยในการทำงานกับการจัดองค์ประกอบในวัตถุสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ ทำให้ช่างภาพส่วนใหญ่ต้องมีผู้ช่วย ทั้งช่วยประสานการติดต่องาน เปลี่ยนเลนส์ระหว่างออกกอง จัดเฟอร์นิเจอร์ เคลียร์คน เคลียร์ของที่วางเกะกะ ถ้าจะให้ตากล้องคนเดียวเดินไปจัดของแล้วกลับมาเชคภาพหน้ากล้องทุกครั้งก็คงจะไม่ไหว การทำงานเป็นทีมมีผู้ช่วยอีกคนคอยสนับสนุนก็ทำให้กระบวนการถ่ายภาพอาคารทำงานได้สะดวกมากชึ้น
“ อุปกรณ์สำคัญของช่างภาพสถาปัตยกรรมก็คือเลนส์ Perspective Control and Tilt-Shift ที่ควบคุมมุมมองภาพ เส้นสายการออกแบบอาคารได้ละเอียดยิ่งขึ้น เพราะการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมจะมีเรื่องเส้นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมาก ทั้งเส้นตั้งและเส้นนอน ทำให้เราต้องควบคุมองค์ประกอบเส้นสายอาคารที่ถ่ายออกมาให้ดี “
อดทนเวลาที่ฝนพรำ อย่างน้อยเพื่อให้ได้ภาพที่แตกต่าง
ในบางครั้งช่างภาพสถาปัตยกรรมก็สามารถสร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับนักออกแบบและเจ้าของโครงการ เพราะภาพบางภาพที่ช่างภาพถ่ายทอดออกมากลายเป็นมุมมองพิเศษที่ไม่เคยมีใครพบเห็นในอาคารตัวเองมาก่อน แต่การสร้างสิ่งพิเศษขึ้นมาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มันต้องอาศัยปัจจัยมาสนับสนุนมากมายให้เกิดชั่วขณะที่งดงาม (magic hour) ต้องมาคอยดูว่าแสงแดดเป็นยังไง อยู่ในตำแหน่งไหนแล้ว อุณหภูมิสีในห้องเป็นยังไง อาศัยความเข้าใจสภาพแวดล้อมในธรรมชาติ อดทนรอคอยสภาพอากาศทั้งวันเพื่อกดชัตเตอร์เก็บภาพอาคารสวยๆ ในไม่กี่วินาที
“ อันที่จริงแล้ว งานถ่ายภาพสถาปัตยกรรมก็คล้ายๆ การถ่าย Object ชนิดหนึ่ง ที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ นั่นทำให้มุมมอง หรือ perspective ของช่างภาพมีความสำคัญในการถ่ายทอดเรื่องราวออกมา ต้องศึกษาแนวคิดของผู้ออกแบบ เลือกมุมมอง และรอเวลาที่เหมาะสม ”
ก่อนจบบทสนทนาเพื่อกลับไปถ่ายงานต่อในช่วงบ่าย เราถามถึงหลักการทำงานอาชีพช่างกล้องสถาปัตยกรรมตลอดเวลาผ่านมาของเค้า “ น่าจะเป็นความรู้สึกที่อยากให้ภาพออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด ถ้ามีโอกาสได้ถ่ายมันแล้วก็จะถ่ายมันออกมาให้ดีที่สุดไม่อยากรู้สึกเสียดายภายหลัง มีจุดบกพร่องก็จะขอกลับมาแก้ให้ได้แบบไม่คิดถึงค่าใช้จ่ายเพิ่มด้วยซ้ำในบางที ถ้าเราต้องไปรอช่วงเวลาที่จะได้ภาพที่สมบูรณ์กว่า เราก็จะกลับไปอดทนรอ ทักษะการรอเป็นทักษะที่สำคัญของช่างภาพสถาปัตยกรรม เพื่อให้ได้ภาพสวยสมบูรณ์ที่สุดสมใจเรา”
ติดตามผลงานภาพถ่ายเพิ่มเติมของช่างภาพ beersingnoi ได้ที่
https://beersingnoi.com/ และ https://www.facebook.com/beersingnoi