OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

HONDA BIG WING by NAT : สถาปัตยกรรมและการเคลื่อนไหว

HONDA BIG WING by NAT

Location : อุดรธานี

Owner : ณัฐ มอเตอร์เซลส์ อุดรธานี

Architect : M space Co.,Ltd.
Construction Management : BCM Co.,Ltd.

Photo :Wison Tungthunya

“ถือว่าเป็นโอกาสที่หาได้ไม่ง่ายนัก ที่ได้ออกแบบอาคารที่ตั้งอยู่กลาง 4 แยก ที่มี Traffic สูง และเป็นจุดเด่นกลางเมืองอุดรธานี เช่นอาคาร ณัฐ มอเตอร์เซลส์ อุดรธานี นี้”

11952900_416731108531645_7217579778828702223_o

แรกเริ่มที่ได้รับโจทย์การออกแบบอาคาร HONDA BIG WING by NAT นี้จากลูกค้า เป็นเพียงความต้องการอยากให้อาคารโชว์รูม + สำนักงานนี้ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างการจดจำให้กับผู้ที่พบเห็น เหมือนเป็นโจทย์ทั่วๆไป ที่สถาปนิกมักได้รับ แต่กับคุณภากร หมพันธ์ แห่ง M Space คิดว่ามันจะต้องเป็นมากกว่านั้น มันจะต้องไม่เคยมีใครทำมาก่อน

12034306_416730981864991_4205672982474302047_o

บริบท ที่ก่อเกิดตัวอาคาร

เมื่อเราได้เริ่มศึกษาพื้นที่โดยรอบหรือบริบทของที่ดิน ก็พบว่าเป็นพื้นที่จุดตัดที่มีความสำคัญจุดหนึ่งของเมือง กล่าวคือที่ดินนั้นตั้งอยู่ที่ถนนเส้นเลี่ยงเมืองของตัวจังหวัดอุดรธานี บริเวณแยกที่จะมุ่งสู่จังหวัดหนองคาย และสนามบินประจำจังหวัด เป็นพื้นที่ที่มีการสัญจรไปมาของรถยนต์ และผู้คนอย่างหนาแน่น อาคารนี้จึงตั้งอยู่ในตำแหน่งที่มีความสำคัญ ที่ผู้คนจะได้พบเห็นบ่อยครั้ง และสามารถเป็นจุดเด่นของเมืองได้

แรกเริ่มสถาปนิกคิดงานโดยเริ่มจากการคิดถึงเส้นทางการสัญจรของคนในพื้นที่นั้น ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการก่อสร้าง พื้นที่ว่างเปล่านี้เป็นเส้นทางเดินลัดของผู้คนจากถนนคนละฝั่ง สถาปนิกจึงเลือกที่จะเก็บเส้นทางเหล่านี้ไว้ ด้วยการยกตัวอาคารขึ้นเหมือนมีใต้ถุนโล่ง ที่ผู้คนยังใช้งานได้เหมือนเดิม อีกทั้งโครงการนี้ยังไม่มีรั้วกั้น ทางสัญจรเดิมจึงยังคงใช้งานได้อยู่

nat-hq-udon-18

และอีกหนึ่งเหตุผลที่อาคารนี้ เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเดินเข้ามาในพื้นที่ได้ เพราะอยากให้อาคารนี้ไม่ได้เป็นเพียงโชว์รูมและสำนักงาน สถาปนิกและเจ้าของ อยากให้อาคารนี้ช่วยส่งเสริมให้ภาพความเป็นเมืองสมบูรณ์ขึ้น จึงมีกิจกรรมที่จะจัดสลับหมุนเวียนไปตลอด เป็นงานที่จัดบริเวณลานด้านหน้าบ้าง ใต้ถุนอาคารบ้าง รวมไปถึงพื้นที่ภายใน เป็นกิจกรรมทางด้านศิลปะ บันเทิง ที่จะช่วยให้เมืองมีชีวิตชีวามากขึ้นนั่นเอง

11227937_416731045198318_3578390306548723827_o

ความสัมพันธ์หลายมิติ

บริบทหนึ่งที่มีความสำคัญที่สุด ที่สถาปนิกนำมาคิดรูปแบบของอาคารคือ “ถนน” เนื่องจากพื้นที่นั้นถูกล้อมด้วยถนนเส้นหลัก ที่มีการจราจรคับคั่ง เกิดเส้นแรงและพลังงานที่ส่งผลต่อการรับรู้ของผู้คน ตัวอาคารนี้จึงถูกออกแบบให้เป็นเสมือนถนนอีกเส้นหนึ่ง ที่วิ่งต่อเนื่องทาบทับเข้ามาในพื้นที่ดิน และเพื่อการใช้งานที่เหมาะสม ถนนเส้นนี้จึงยกตัว เอียงลาด และพับขึ้นลงตามพื้นที่ใช้งานที่วางเอาไว้

12017458_416731015198321_8028512554477510395_o

“นอกจากถนนเป็นบริบทเดียวที่มีอยู่ ถนนจึงหมายความถึงความเร็ว การเคลื่อนไหว เคลื่อนที่ ซึ่งเหมาะกับการเป็นแนวคิดของอาคารซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับรถมอเตอร์ไซค์อีกด้วย เส้นสายที่เกิดขึ้น จึงอ้างอิงมาจากทิศทางและแนวเส้นของถนนที่มาปะทะกันบริเวณจุดตัดนี้”

12080280_416731555198267_3180079434171143680_o

มุมตกกระทบ เท่ากับ มุมสะท้อน

อีกหนึ่งจุดที่มีความโดดเด่นคือเรื่องของวัสดุที่ใช้ของอาคาร ขั้นตอนนี้สถาปนิกเริ่มจากการหาข้อมูลเรื่องวัสดุ ที่คิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับความเป็นเมืองอุดรธานี เมื่อหาข้อมูลดูก็พบว่า ในอดีตจังหวัดอุดรธานี เต็มไปด้วยฐานทับทางการบินของอเมริกามากมาย จึงเกิดความคิดที่จะดึงวัสดุที่สื่อสารคล้ายกัน มาเป็นเปลือกนอกของอาคาร โดยเลือกเป็นอลูมิเนียมคอมโพสิท ที่มีความด้านเล็กน้อย เพราะไม่อยากให้สะท้อนแสงมากนัก เป็นเรื่องของความปลอดภัย ที่จะเกิดขึ้นกับผู้คนที่ขับรถผ่านไปมา

12080286_416731225198300_7041980444282974827_o

สถาปนิกเลือกใช้อลูมิเนียมคอมโพสิทเป็นเปลือกนอก และใช้วัสดุคล้ายถนนลาดยาง เป็นเปลือกของอาคารภายใน เกิดการตัดกันของวัสดุชัดเจน สีของอาคาร จะสะท้อนและดูดซับสีของสิ่งแวดล้อมรอบตัว เกิดเป็นอาคารที่มีชีวิต แตกต่างกันไปตามช่วงเวลาตลอดทั้งวัน

12087155_416731361864953_1113677583979166424_o

ความซับซ้อน ที่ตั้งใจ

ในกระบวนการทำงาน เราทำการออกแบบทั้งเรื่องฟังก์ชั่นและรูปแบบอาคาร รวมถึงโครงสร้างไปพร้อมๆกัน หนึ่งในความท้าทายคือเรื่องของโครงสร้าง โดยอาคารทั้งหมดใช้เหล็กรูปพรรณรีดร้อนเป็นโครงสร้างหลัก และที่สำคัญ แนวตั้งและนอนของอาคาร มีองศาที่ต่างกันออกไป เรียกได้ว่าแทบจะไม่ซ้ำกันเลย

12087261_416731478531608_2155544441688852866_o

“ทำไมต้องทำให้ยาก ทำไมไม่ให้ตั้งฉากกับพื้นไปเลย?” คำถามที่ผุดขึ้นกลางบทสนทนา ทำให้ได้คำตอบว่า “ส่วนหนึ่งมันเป็นความท้าทายตัวเอง ที่ทางผมและทีมตั้งไว้ คือก่อนหน้านี้ผมทำงานที่ต่างประเทศ จะมีเรื่องของซอล์ฟแวร์ในการทำงาน ที่ของเขาจะมีความทันสมัยมาก มีโปรแกรมที่สามารถขึ้นฟอร์มอาคารแปลกๆ พร้อมกันนั้นก็สามารถคำนวณโครงสร้างออกมาเป็นแบบก่อสร้างได้เลย ซึ่งที่ไทยนี้ยังไม่มีใครที่ใช้งานโปรแกรมนี้เท่าไรนัก เราเลยอยากจะพิสูจน์ว่า ด้วยความรู้ ด้วยเครื่องมือที่เรามี เราจะยังสามารถสร้างงานที่มีรูปทรงที่น่าตื่นเต้น น่าสนใจได้อยู่หรือไม่”
12034173_416731285198294_224039776288044662_o

สุดท้ายเราก็พิสูจน์ได้ว่า ไม่มีอะไรที่ยากเกินไป เราใช้วิธีที่เราถนัด สร้างอาคารที่มีความน่าสนใจได้ ซึ่งโชคดีที่มีทีมวิศวกรและผู้รับเหมาที่มีความชำนาญในการทำงาน ช่วยให้งานต่างๆ ดำเนินไปได้ด้วยดี

12027345_416731291864960_7410882929706207105_o

โครงสร้างของความตื่นเต้น

โครงสร้างหลักทั้งหมดของอาคารนี้เป็นเหล็กรูปพรรณรีดร้อน เป็นวัสดุเดียวที่ตอบโจทย์เรื่องความแข็งแรง ความสามารถที่เหนือกว่าคอนกรีต ในข้อจำกัดเรื่องการก่อสร้าง เรื่องเวลาจำกัด การมีช่วงพาดที่ยาว แข็งแรง ไม่ต้องมีเสาให้เกะกะมากนัก และในแง่ของความรู้สึกโดยรวม “เพราะมอเตอร์ไซค์ก็ทำจากเหล็ก มีความเรียบเนี้ยบ ผสมกับการโชว์เครื่องยนต์ภายในแบบดิบๆ โครงสร้างและรูปแบบของอาคารที่เป็นเหล็ก จึงเหมาะสมที่สุดแล้วในการเลือกใช้”

12087944_416730948531661_4220742670850534524_o

ในรายละเอียดของโครงสร้าง สถาปนิกและวิศวกรออกแบบเสาของอาคารที่เป็นเหมือนช่องของงานระบบไปด้วยในตัว โดยออกแบบเป็นเสาโครงสร้างเหล็กถัก หรือ Truss คล้ายโครงสร้างของหอไอเฟล ซึ่งจะมีความโปร่งเบา ดูไม่อึดอัด และยังสามารถเดินงานระบบไฟฟ้า ประปาไว้ภายใน ง่ายต่อการซ่อมบำรุงด้วย

12028627_416731381864951_447459517566090533_o

อาคารนี้จึงเป็นอีกอาคารที่ถ่ายรูปค่อนข้างยาก เพราะด้วยมุมมองและขนาดของอาคาร ทำให้ต้องใช้อุปกรณ์ในการถ่ายภาพ และมุมกล้องที่พิเศษจริงๆ การสื่อสารที่น่าจะทำให้เข้าใจพื้นที่ของอาคารได้ จึงน่าจะเป็นรูปแบบของภาพเคลื่อนไหว ที่พาเดินเข้าไปภายในอาคารมากกว่า

12032843_416731471864942_1606228281119380745_o

หลังจบบทสนทนา เกิดความรู้สึกว่าอยากจะไปเห็นกับตาสักครั้ง จะลองไปสัมผัสอาคารที่สื่อสารกับเราแบบตรงไปตรงมา ใครมีโอกาสอย่าลืมแวะไปชม แล้วถ่ายรูปมาอวดกันได้ครับ


11224346_416730888531667_5169721193631814108_osys logo bottom

ขอขอบคุณ

Owner : ณัฐ มอเตอร์เซลส์ อุดรธานี

Architect : M space Co.,Ltd.
Construction Management : BCM Co.,Ltd.

Photo :Wison Tungthunya

และ Siam Yamato Steel (SYS)