นวัตกรรมวัสดุมูลสัตว์ที่หลายคนเคยมองข้าม เติมความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมด้วยกระบวนการรีไซเคิล
( ปิ๊งป่อง — ) ขอต้อนรับผู้อ่านทุกคนเข้าสู่พื้นที่จัดแสดงวัสดุรีไซเคิลจากก้อนมูลในเมืองมิลาน ในนิทรรศการ The Shit Evolution Exhibition โดย The Museo Della Merda แบรนด์ผลิตภัณฑ์ของใช้ที่เน้นการออกแบบที่เรียบง่าย หมดจด สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน หนึ่งในผู้ชนะรางวัล MILANO DESIGN AWARD 2016 ผลผลิตจากความขี้สงสัยที่ต้องการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงความเชื่อทางวัฒนธรรม อคติที่มีต่อของเสียจากร่างกายในชีวิตประจำวัน ผลักดันแนวคิดให้แข็งแรงจนเกิดเป็นรูปร่างอาคารพิพิธภัณฑ์แสดงผลงานการวิจัย การศึกษาค้นคว้าที่จะมาคลี่คลายความเชื่อและขีดเขียนเส้นบรรทัดฐานเกี่ยวกับวัสดุอุจาระในโลกสมัยใหม่
The Shit Museum อยากให้มาลองชิดใกล้กันในพิพิธภัณฑ์มูลสัตว์
จุดเริ่มต้นก่อนจะมีนิทรรศการจัดแสดงผลงานให้คนทั่วไปได้เข้าชมกันเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ต้องขอพาออกเดินทางไปแวะยังเมือง Lombardy ประเทศอิตาลี ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์อุจาระ The Shit Museum โดยสมาชิกกลุ่มผู้ประกอบการทางเกษตรประจำท้องถิ่น ที่ตัดสินใจวางคราดกวาดฟางข้าวไว้ชั่วคราวแล้วมาจับมือช่วยกันแก้ปัญหาปริมาณมูลสัตว์ล้นพื้นที่ ก้อนอุจจาระจากน้องวัวจำนวนกว่า 3,500 ตัวกำลังส่งผลเสียต่อระบบนิเวศโดยรอบ ขยะของเสียจากสัตว์จึงต้องถูกนำมาหมักเป็นปุ๋ยคอกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเก็บไว้ใช้ในการทำเกษตรกรรม จนถึงการพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าชีวภาพ (3 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง) สร้างระบบนวัตกรรมพลังงานสีเขียวสำหรับอาคารและสำนักงานของสมาชิกฟาร์มวัว
แต่การแปรรูปมูลสัตว์เป็นอาหารพืชและพลังงานยังไม่ไพเราะขนาดที่จะไปสะกิดหูคนฟังในสังคมได้มากพอ การเผยแพร่แนวคิดเรื่องการรีไซเคิลมูลสัตว์ด้วยกระบวนการออกแบบเชิงศิลปะจึงถูกพัฒนาขึ้นมา โดยเครือข่ายศิลปินนักออกแบบหลากหลายสาขา ร่วมกันสร้างสรรค์ออกแบบพิพิธภัณฑ์ที่บรรจุความคิดใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงความเชื่อเกี่ยวกับมูลสัตว์ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และศิลปะ การทดลองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ เข้าไปท้าทายความรู้สึกน่ารังเกียจของคนทั่วไปที่เคยเบือนหน้าหนีปฎิกูลธรรมชาติชนิดนี้มาก่อน
มูลสัตว์มีสไตล์ด้วยการดีไซน์และรีไซเคิล
นิทรรศการแสดงผลงานการออกแบบจากวัสดุมูลสัตว์รีไซเคิลในครั้งนี้จัดขึ้นในอาคารสไตล์ Neo-Renaissance ของเมืองมิลาน โรงเรียนสอนศิลปะที่มีทั้งความเก่า-ใหม่ของสถาปัตยกรรมประจำเมืองช่วยผลักดันให้คอลเล็คชั่นการออกแบบที่นำมาจัดแสดงดูโดดเด่น สะดุดสายตาแก่ผู้ที่มาเข้าชม ด้วยสีสันและรูปแบบที่ดูร่วมสมัย เข้าถึงได้ง่าย ใช้งานได้จริง มีทั้งงานภาพเขียน ประติมากรรมจัดวาง จอฉายวีดีโอและภาพเคลื่อนไหว Motion Animation
ส่วนงานที่ทำให้เกิดการพูดถึงกันไปแบบปากต่อปาก คือการทดลองออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา Merdacotta แจกันดอกไม้ จานชาม กระเบื้องปูพื้น เก้าอี้ ที่ผสมมูลวัวรีไซเคิลลงไปเป็นส่วนประกอบ ที่ถ้าไม่บอกก่อนล่วงหน้าก็คงเดาไม่ออกกันแน่ๆ เพราะทั้งผิวสัมผัส การแข็งตัวของรูปร่างที่เหมือนดินเผาทั่วไป และปัญหากลิ่นจากมูลวัวถูกสกัดออกไปเกลี้ยงด้วยก๊าซมีเทนและยูเรีย แถมกระบวนการเผาใหม่ด้วยก๊าซมีเทนยังช่วยให้เกิดพลังงานไฟฟ้าขึ้นมาอีกต่างหาก ผลการทดลองผลิตเครื่องปั้นดินเผาผสมมูลวัวที่ย่อยสลายด้วยตัวเองได้ตามธรรมชาติ จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการพัฒนาทรัพยากรเหลือใช้อย่างยั่งยืน
เครื่องถ้วยจานชามบนโต๊ะอาหารที่ผลิตขึ้นจากดินเผาและมูลวัว
LUCA CIPELLETTI นักออกแบบประจำนิทรรศการกล่าวทิ้งท้ายฝากให้ผู้คนเปิดใจรับวัสดุมูลสัตว์ว่า “ เครื่องปั้นดินเผา Merdacotta เป็นเครื่องปั้นดินเผาแบบเคลือบที่สามารถนำไปใช้งานจริงบนโต๊ะอาหาร หรือจะลองใส่เข้าไปในไมโครเวฟเพื่ออุ่นร้อนก่อนรับประทานได้เหมือนถ้วยเซรามิก เพราะเราอยากออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความรับผิดชอบที่สิ่งแวดล้อม วัสดุอินทรีย์สารที่จะช่วยสร้างให้โลกของเราอายุยืนยาวมากขึ้น … มูลสัตว์พวกนี้แหละ คือวัสุดุทางเลือกใหม่ที่เราสามารถเติมแต่งความงดงามใส่ลงไปได้ไม่แพ้กันชนิดอื่นๆ เลย ”
วัตถุดิบที่อาจดูไร้ค่าในสายตาคนทั่วไป หากได้รับความคิดสร้างสรรค์และการเอาใจใส่ในความสำคัญที่มันมีอยู่เดิมแล้วล่ะก็ ย่อมจะเพิ่มเติมคุณค่าในตัวเองให้เบ่งบานเพิ่มขึ้นได้ เพราะของทุกสิ่งล้วนมีค่า อยู่ที่ว่าสายตาของใครเป็นคนมอง
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพอ้างอิงจาก