‘Chiang Mai Design Week 2016 สีสันใหม่ของงานออกแบบ จากอัจฉริยภาพแห่งท้องถิ่น’
ขึ้นชื่อว่า Design week อาจฟังดูเท่ แต่ก็มีผู้คนไม่มากนัก ที่รับรู้ได้ถึงความน่าสนใจของงาน เมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่ที่รู้สึกว่าการชีวิตในแต่ละวันช่างห่างไกลกับคำว่า ดีไซน์ เหลือเกิน แต่ไม่ใช่กับงานนี้ Chiang Mai Design week 2016 เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงการนักออกแบบ แต่ยังให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมสร้างประสบการณ์กับงานออกแบบในกลุ่มเป้าหมายที่เปิดกว้างตั้งแต่เด็ก เยาวชน นักท่องเที่ยว ไปจนถึงชาวบ้านทั่วไป ด้วยการจัดงานขึ้นในพื้นที่สาธารณะทั่วทั้งเมือง ทำให้เชียงใหม่ที่คึกคักอยู่แล้ว ยิ่งดูน่าสนุกและมีสีสันมากขึ้น ด้วยภาพลักษณ์ที่เป็นเมืองสร้างสรรค์ จากพื้นฐานทางศิลปวัฒนธรรมที่เข้มแข็งของเมืองนี้
โดยที่ตัวงานหลักๆจะจัดขึ้นบริเวณ ย่านอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ศูนย์กลางของย่างเมืองเก่า ที่เต็มไปด้วยศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม และย่าน TCDC เชียงใหม่แหล่งความรู้งานออกแบบที่ทันสมัย รวมไปถึงพื้นที่รอบๆตัวเมือง ที่นักออกแบบท้องถิ่นหรือผู้คนในชุมชนได้เปิดพื้นที่ให้แก่ผู้คนทั่วไปที่สนใจได้เข้าชมและเรียนรู้งานออกแบบอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็น Design showcase จัดแสดงงานออกแบบที่มีแนวคิดเจ๋งๆ จากนักออกแบบทั้งในและต่างประเทศ Installation งานจัดวางในพื้นที่สาธารณะที่สวยงามในหลากหลายแง่มุม กิจกรรม Talk และ Conference ก็มีให้เลือกเข้าชมและรับฟังมากมาย Workshop สนุกๆก็เยอะแยะจนอยากแยกร่างได้กันเลยทีเดียว Pop Market ก็เป็นการช้อปปิ้งงานดีไซน์ชิคๆที่ไม่ควรพลาดเช่นกัน
เอาล่ะ หยิบไกด์บุ้คของงานขึ้นมา เปิดไปหน้าแผนที่ ความสนุกจะเริ่มขึ้นแล้ว!
A01-สำนักงานยาสูบ
พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการงานออกแบบกราฟฟิก
A02-หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่
‘ปุปะ’ โครงสร้างไม้ที่ทำหน้าที่คล้ายซุ้มประตูเรียงต่อกันเป็นอุโมงค์ โดยผนังและเพดานของอุโมงค์เกิดจากการนำเศษผ้าเหลือใช้มาปะเข้าด้วยกัน จึงทำให้เกิดสีสันอันหลากหลายแพรวพราว เป็นเสมือนสนามเด็กเล่นอันเปี่ยมจินตนาการและความสนุกสนาน
A03 – หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่
REALM Pavilion คือสิ่งปลูกสร้างจากตอก (ไม้ไผ่สาน) ในรูปแบบของศาลาเอนกประสงค์ เป็นทั้งงานศิลปะจัดวางและสถานที่จัดแสดงนิทรรศการผลงานของนักออกแบบคนอื่นไปพร้อมกัน สถาปัตยกรรมชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากรูปลักษณ์ของตุง (ธงล้านนา) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงงานรื่นเริงหรือการเฉลิมฉลองในเทศกาล
A04-หอภาพถ่ายล้านนา
A05-พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
‘ดอกไม้’ คืองานประติมากรรมจากเหล็กดัด (wrought iron) ที่นักออกแบบตั้งใจจะสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์สะท้อนความเบิกบานและความงดงามตามธรรมชาติของเมืองเชียงใหม่ ที่ถึงแม้ว่ากาลเวลาจะล่วงเลยมาเท่าไหร่ หากอัตลักษณ์ของเมืองก็ยังคงเบ่งบานและเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ไม่เสื่อมคลาย เช่นดอกไม้ที่บานสะพรั่งสวยงาม แต่ก็แข็งแรงมั่นคงเพราะทำจากเหล็ก
คอลเลคชั่นเก้าอี้ที่สามารถถอดประกอบเองได้ จากการพัฒนาโครงสร้างงานต้นแบบเหล็กกล่องขนาด 2.5×2.5 ซม.ซึ่งจุดเด่นของผลงานอยู่ที่ผู้ใช้งานสามารถสร้างสรรค์รูปทรงได้ตามต้องการนักออกแบบ จึงเลือกใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบาและทนทาน นั่นคือหวายเทียม นอกจากคุณสมบัติดังกล่าว จุดเด่นอีกประการหนึ่งคือยังสามารถต่อยอดทักษะฝีมือด้านงานจักสานของเชียงใหม่ ที่มีความประณีตพิถีพิถัน
A06-วัดดวงดี
โครงเหล็กรูปทรงกระบอกที่สานต่อกันเป็นภาพจำลองของเจดีย์ทราย หนึ่งในสิ่งปลูกสร้างคุ้นตาของวัดดวงดี ผ่านประเพณีขนทรายเข้าวัดที่ได้รับการสืบต่อมาอย่างยาวนาน ผลงานประติมากรรมชิ้นนี้ได้รับการติดตั้งในลักษณะห้อยเอียง คล้ายกับเจดีย์ที่ถูกจับตะแคงเพื่อรินหรือเททราย แขวนลอยอยู่บริเวณทางเข้าวัดดวงดีพร้อมการจัดแสงอย่างโดดเด่นในยามค่ำคืน สร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับพื้นที่อย่างชวนให้ตั้งคำถาม
A08 – ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)
งานศิลปะติดตั้งในรูปแบบกระจกเงาที่เรียงตัวต่อกันสะท้อนภาพอนันต์ (infinity mirror) ผลงานที่นักออกแบบต้องการจะสะท้อนให้เห็นพระมหากรุณาธิคุณและคุณงามความดีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ส่งต่อให้ปวงชนชาวไทยอย่างไม่มีวันสูญสิ้น ดังคำฉันท์ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าองค์ที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ “นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา”
B01- ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเชียงใหม่
โครงสร้างนั่งร้านทำจากไม้ยูคาลิปตัส ทำหน้าที่เป็นพื้นที่สันทนาการ ทั้งยังมีหลังคาทรงจั่วทำจากแผ่นอลูมิเนียมขัดเงาเคลือบด้วยสีทอง เป็นตัวกระจายแสงและสะท้อนแสงสร้างมิติให้กับพื้นที่ เป็นนั่งร้านที่เปลี่ยนภาพจำจากไซท์ก่อสร้างทั่วไปให้กลายเป็นสถานที่ที่เป็นมิตร ผ่อนคลาย และสอดรับกับบรรยากาศฤดูหนาวของเมืองเชียงใหม่
B10 – ท่าแพอีสต์
Anonymous Chair Exhibition By Issaraphap
เมื่อเรื่องราวของเก้าอี้หน้าตาคุ้นเคยที่มีชื่อเรียกหลากหลาย อาทิ เก้าอี้แขนโค้ง เก้าอี้ล้านนา เก้าอี้รถถัง เก้าอี้คุณตา ฯลฯ ถูกนำกลับมาปัดฝุ่นเพื่อเป็นต้นแบบในการศึกษา สร้างแรงบันดาลใจ และนำมาบอกเล่าใหม่ ด้วยภาษาและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสถาปนิกและนักออกแบบทั้ง 12 กลุ่มจากกรุงเทพและเชียงใหม่ ที่ร่วมกันถ่ายทอดคุณค่าของกระบวนการออกแบบเก้าอี้ หนึ่งในเฟอร์นิเจอร์สำคัญในชีวิตประจำวัน
และที่เรายกมาให้ชมกันนี้เป็นแค่น้ำจิ้มเท่านั้น ภายในงานยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้นอีกมากมาย ซึ่งงานจะจัดจนถึงวันที่ 11 ธันวาคมนี้ มาเชียงใหม่ปลายปี นอกจากขึ้นดอย ล่าคาเฟ่ ก็มีงาน Chiang Mai Design Week นี่แหละที่เราจะได้ลองทำอะไรใหม่ๆ อาจจะค้นพบความชอบอะไรบางสิ่งขึ้นอีกหนึ่งอย่างจากงานนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้นงานนี้ ต้องห้ามพลาด!