ร้านขนมที่ฉีกทุกกฎความฟรุ้งฟริ้งด้วยสไลต์การตกแต่งแบบโมเดิร์นที่มากด้วยเอกลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่น
SunnyHill Cake Shop
Architects : Kengo Kuma & Associates
Location : 3 Chome-10-20 Minamiaoyama, Minato, Tokyo, Japan
Area : 293.0 sqm.
Photographs : Daici Ano, Kengo Kuma & Associates
เวลาพูดถึงคำว่า คาเฟ่ขนมหวาน คุณมักจะนึกถึงร้านสไตล์ไหน? ถ้าสไตล์ที่เคยเห็นกันทั่วไปก็คงมาแนวฟรุ้งฟริ้ง หรือไม่ก็มาสายดาร์กไปเลย แต่ยกเว้นร้านนี้ SunnyHill Cake Shop สาขา Tokyo เพราะตกแต่งด้วยสไตล์โมเดิร์น เรียบง่าย แฝงกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นไว้อย่างเต็มเปี่ยม
ซึ่งเรื่องราวความเป็นมาของร้าน SunnyHill Cake Shop นั้นไม่ได้เกิดขึ้นในญี่ปุ่นตามคติญี่ปุ่นนิยมหรอกนะ แต่ด้วยความโด่งดังของขนมขึ้นชื่อประจำประเทศไต้หวัน และรสชาติที่จุดเด่นเฉพาะตัวนั่นล่ะ ที่กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายสาขาออกไปต่างแดน การเดินทางครั้งใหม่จึงเกิดขึ้น เจ้าพายสับปะรดเลื่องชื่อได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากเกาะไต้หวัน มาลงจอดที่เกาะญี่ปุ่น
อย่างที่ทุกคนทราบกันดี การจะทำให้ขนมเป็นที่รู้จักในวงกว้างนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากเรื่องรสชาติแล้ว การออกแบบตกแต่งร้านก็สำคัญไม่แพ่กัน โดยได้สถาปนิกมือฉมังอย่าง Kengo Kuma & Associates มาเป็นผู้ออกแบบร้าน โดยดึงเรื่องราวความเป็นมาของขนมประจำชาติไต้หวันมาเล่นกับเอกลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม ผ่านคอนเสปต์ตระกร้าไม้ไผ่ที่เต็มไปด้วยพายสับปะรดร้อนๆ
ซึ่งในการดีไซน์ครั้งนี้ทางทีมสถาปนิกได้ตัดสินใจเลือกใช้ไม้เป็นวัสดุหลักในการออกแบบ แทนการใช้คอนกรีตตามแบบนิยมในช่วงปีนั้นๆ เพราะไม้ให้ความรู้สึกและสัมผัสที่อบอุ่นตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น และยังการคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ดั้งเดิมของงานสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่น ซึ่งไม้ที่นำมาใช้ในงานนี้ก็คือไม้ Hinoki (Japanese Cypress) เป็นไม้ตระกูลสนชนิดหนึ่งที่หาได้ทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น มีคุณสมบัติเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีกลิ่นหอม นิยมใช้วัสดุในการก่อสร้างตั้งแต่สมัยอดีต
จากนั้นก็สร้างจุดเด่นให้แก่ façade (เปลือกอาคาร โดยใช้เทคนิคการสานไม้แบบ Jigoku-Gumi ซึ่งเป็นวิธีการสานแบบโบราณ ซึ่งเป็นวิธีการสานไม้แบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่ต้องสานซ้อนทับกันมากถึง 3 ชั้น โดยไม่ใช้แม้กระทั่งกาวหรือตะปูแม้แต่ตัวเดียว ครอบคลุมอาคารทั้ง 3 ชั้น เว้นประตูทางเข้าและดาดฟ้า ซึ่งเทคนิคดังกล่าวถือว่าเป็นความลับเฉพาะในครอบครัวช่างไม้ญี่ปุ่น ที่สืบทอดกันรุ่นต่อรุ่น
โครงสร้าง Façade ที่ปิดล้อมแต่ไม่ปิดทึบ กลายเป็นตัวคัดกรองแสงสว่างไม่ให้ส่องเข้ามาในอาคารมากจนเกินไป เกิดเป็นเงาลายตารางบนพื้นที่พร้อมจะเปลี่ยนรูปทรงได้ตลอดเวลาตามทิศทางการหมุนของแสงอาทิตย์
บรรยากาศภายในร้านถูกตกแต่งอย่างเรียบง่ายด้วยโทนสีน้ำตาล ที่ได้มาจากสีธรรมชาติของเนื้อไม้ แต่แฝงดีเทลลายสานไว้ตอนแนวกำแพงไปจนถึงฝ้าเพดาน เพื่อล้อกับ façade ด้านนอก
ในตอนท้าย คุณ Kengo Kuma สถาปนิกผู้มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม ได้เล่าถึงคติในการทำงานที่เค้ายึดถือมาตลอดว่า”งานออกแบบของเค้าทุกชิ้นต้องไม่ทำลายวัฒนธรรมความเป็นญี่ปุ่นให้สูญหายไป” จึงเลือกนำ “ไม้” มาใช้ในงานออกแบบแต่ละชิ้นของเค้า เพราะไม้ เป็นวัสดุที่อยู่คู่กับสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมมาอย่างยาวนาน ดังนั้นในฐานะสถาปนิกรุ่นใหญ่จึงต้องรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น แม้บางครั้ง บางสถานการณ์อาจทำให้ไม่สามารถเลือกใช้ไม้ได้ทั้งหมด ก็ควรปรับเปลี่ยนวัสดุ เพื่อสร้างความกลมกลืนกันของวัสดุในตัวอาคารเองและบริบทโดยรอบ เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่สถาปนิกชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่ๆ เพราะคุณค่าและราคาของงานออกแบบแต่ละชิ้นนั้น ขึ้นอยู่เอกลักษณ์และเรื่องราวความเป็นมาของวัสดุนั้นๆ
Cr: archdaily , detail-online , uk.phaidon