OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

HOUSE IN LOFT : บ้านลอฟท์ที่ดิบแต่พอดี

‘บ้านที่จับเอาเอกลักษณ์ของ Industrial Loft  มาเล่าใหม่ในมุมมองที่ดิบน้อยลง แต่นุ่มนวลต่อผู้อยู่อาศัยมากขึ้น’

Location : สันทราย , เชียงใหม่

Owner : คุณ กุสุมา ธาราสุข

Designer : คุณ วีรวัต จันทร์กิติสกุล (Pladib Architect)

Architect : คุณ ปทุมวดี ยอดใจเพชร

Engeneering & Construction : คุณ อานนท์ นามวงษ์พรหม

นอกจากเชียงใหม่จะเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมตลอดกาลแล้ว ยังปฏิเสธยากเหลือเกินว่า เสน่ห์หลายๆอย่างของที่นี่ มีส่วนดึงดูดผู้คนจากต่างถิ่นให้โยกย้ายเข้ามาตั้งรกรากกันอย่างถาวร เช่นเดียวกับคุณกุสุมา ธาราสุข อดีตนักการทูตที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับการทำงานในต่างแดนมาตลอด ก็เลือกที่ดินแถบชานเมืองของเชียงใหม่ เพื่อลงหลักปักฐาน ปลูกบ้านที่เป็นอิสระจากความวุ่นวาย ให้กับตัวเองหลังนี้

– บ้านลอฟท์ชั้นเดียว ที่ดูดีมีมิติไม่เหมือนใคร –

โดยทั่วไปแล้ว คาแรคเตอร์ของงานสไตล์ลอฟท์คือการโชว์โครงสร้างและธรรมชาติของวัสดุอย่างเปิดเผย จึงพ่วงมากับพื้นที่ภายในที่ต้องโปร่งโล่ง จึงจะทำให้อยู่อาศัยได้อย่างไม่อึดอัด แต่คุณกุสุมาต้องการเพียง ‘บ้านเดี่ยวชั้นเดียว สไตล์ลอฟท์ ขนาด 130 ตร.ม.’ ภาพร่างคร่าวๆจากโจทย์ข้างต้นดูจะเข้าใกล้ความเป็นบ้านกล่องสี่เหลี่ยมคอนกรีตแบนๆเรียบๆหรือเปล่า? นับว่าเป็นโจทย์สั้นๆที่แฝงไว้ด้วยความท้าทายในการออกแบบไม่น้อยเลยทีเดียว

วิธีการที่คุณวีรวัต ดีไซเนอร์หลักของโปรเจ็กต์ใช้ในการสร้างสรรค์ความเรียบง่ายนี้ให้น่าสนใจ คือการเล่นมิติในแนวตั้ง ยืดฟอร์มอาคารขึ้น เกิดพื้นที่ภายในที่มีระดับฝ้าต่างๆกัน เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนผ่านระยะทางตั้งจากภายนอกเข้าสู่ภายในบ้านอย่างแนบเนียน แตกย่อยmassก้อนใหญ่ออกเป็น 3 ก้อนย่อย เป็นส่วนของ Living – dining , terrace และ private bedroom ยึดกันไว้ด้วยการจัดวางฟังก์ชั่นแบบ open plan จัดวางพื้นที่ใช้สอยตามทิศทางของแดดและลม ทำให้การใช้งานพื้นที่ต่างๆของบ้านสอดคล้องกับแสงสว่างในตอนกลางวัน ความร้อน และการถ่ายเทอากาศ ผลที่ตามมาคือบ้านอยู่สบาย ใช้งานทุกตารางเมตรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และสลายภาพบ้านกล่องแบนราบไปจนหมดสิ้น

วางอาคารในแนวเหนือ – ใต้ ใส่ผนังทึบให้กับตัวบ้านที่รับแสงแดดช่วงบ่ายถึงตลอดวัน จับฟังก์ชั่นที่ใช้เฉพาะช่วงเวลามาใส่ คือการวางตำแหน่งของห้องนอนให้อยู่ทิศใต้ ส่วนของห้องน้ำและครัวอยู่ทางตะวันตกของตัวบ้าน ในขณะที่ฝั่งเหนือและตะวันออก รับแดดอ่อนของช่วงเช้า เหมาะสำหรับพื้นที่อยู่อาศัยช่วงกลางวัน คือส่วนชานบ้านและLiving-dining

การเล่นระดับกับฟอร์มอาคารที่ส่งผลให้มีการเปลี่ยนผ่านของระยะทางตั้งจากสภาวะแวดล้อมโล่งแจ้งภายนอกเข้าสู่ตัวบ้าน โดยที่สเปซภายในไม่ได้ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกถูกกดลงในทันที แต่จะค่อยๆถูกถ่ายเทเข้าสู่แต่ละพื้นที่ผ่านระดับฝ้าเพดานที่ต่างกัน

วางผังแบบ open plan ใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว ทำให้พื้นที่ภายในบ้านรู้สึกกว้างขวาง เชื่ออาคารด้วยทางเดินที่ต่อเนื่องกับสวนกลางบ้าน ดึงแสงธรรมชาติเข้ามาถึงห้องน้ำภายใน ทำให้พื้นที่แคบๆสว่างดูกว้างขึ้น

– จบงานตกแต่งภายในด้วยโครงสร้างจากงานสถาปัตย์ –

ในส่วนของงานโครงสร้างที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนกระดูกของบ้าน ที่มักจะถูกซ่อนไว้ภายใต้สกินสวยงามของงานตกแต่งภายใน แต่ไม่ใช่สำหรับบ้านหลังนี้ที่งานโครงสร้างถูกออกแบบให้ทำหน้าที่นอกเหนือไปจากงานรับน้ำหนักของระนานต่างๆ แต่ยังถูกจัดระเบียบอย่างสวยงาม กลายเป็นส่วนหนึ่งของงานตกแต่งภายในไปในตัว

โครงถัก(truss) เท่ๆห์ที่เราเห็นอยู่เหนือลานจอดรถด้านหน้าเชื่อมต่อเข้ามาถึงภายในตัวบ้านนี้ ทำหน้าที่รับน้ำหนักหลังคาและผนังเบาmetal sheetของก้อนอาคารLiving-dining และเพราะโครงถักนี้เองที่ทำให้สามารถยื่นส่วนหลังคาออกไปจากตัวบ้านได้หลายเมตร ถือเป็นจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านหลังนี้เลยทีเดียว

Industrial Loft ที่ดึงธรรมชาติของวัสดุ มาสร้างเป็นเส้นสายและคุมโทนสีให้กับตัวบ้าน โดยกำหนดโทนจากสีของตัวmetal sheet ที่มีให้เลือกไม่มากนัก แล้วค่อยปรับสีของส่วนอื่นๆที่ยืดหยุ่นกว่าตามไป อย่างเช่นผนังปูนเปลือยที่ฉาบแต่งผิวด้วย skim coatสีเทา ซึ่งต้องลองผสมออกมาหลากหลายเฉดจนกว่าจะได้เฉดสีเทาที่พอดีกับสีmetal sheet พร้อมกับเพิ่มลูกเล่นให้ผนังเรียบๆด้วยการเซาะร่อง เกิดเป็นเส้นสายคล้ายบล็อคคอนกรีต ทำให้มีความดิบแบบลอฟท์แต่เนียบเรียบง่ายแบบมินิมอล

รูปด้าน และรูปตัดที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของโครงสร้าง การคุมโทนสีด้วยวัสดุ และพื้นที่ภายใน

– พื้นที่ไร้มูลค่า ที่กลายมาเป็นหัวใจหลักของบ้าน –

คุณวีรวัตยังเล่าถึงเคล็ดลับที่ทำให้บ้านดูกว้างขวางโปร่งขึ้นได้อีก โดยไม่ต้องลงทุนไปกับการก่อสร้าง นั่นคือการเพิ่มพื้นที่courtyard หรือสวนในบ้านเข้าไป เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ศูนย์บาทที่ให้ผลตอบแทนเกินคุ้ม เพราะนอกจากจะกรองแสงจากภายนอก ให้ซอฟท์ลงเป็นแสงที่เบาสบายตาก่อนเข้าตัวบ้านฝั่งผนังกระจกบานใหญ่  ยังช่วยทำให้เกิดมิติทางการมองเห็น ที่ส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยโดยตรง เพราะการดึงธรรมชาติเข้ามาจะทำให้ความลอฟท์เบาลง กลายเป็นบ้านที่มีชีวิตชีวามากขึ้น

เส้นสายที่อ่อนนุ่มของต้นไม้ ช่วยเบรคความแข็งกระด้างของฟอร์มอาคารที่เป็นทรงเรขาคณิต ทั้งยังเป็นที่พักสายตาและก่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในบ้าน จากหลายมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นทางเดินภายใน จากโต๊ะทางข้าว หรือจากพื้นที่ชานบ้านด้านนอก

เพิ่มสีสันและความสดชื่นให้กับตัวบ้านด้วยต้นประดู่แดง ที่จะออกดอกสีแดงสดปีละครั้ง ทั้งยังเป็นไม้ยืนต้นที่สามารถให้ร่มกับตัวบ้านได้ในอนาคต

รวบพื้นที่สวนหน้าบ้านและลานจอดรถเข้าด้วยกันช่วยประหยัดพื้นที่ได้เป็นอย่างดี เพิ่มความน่าสนใจให้กับหน้าบ้านด้วยต้นชงโคฮอลแลนด์กับดอกสีชมพูอมม่วงที่บานสะพรั่งตลอดปี

สำหรับบ้านที่มีพื้นที่จำกัด ทุกตารางเมตรย่อมมีคุณค่าและมูลค่าที่ไม่มีใครอยากปล่อยโล่งโดยเปล่าประโยชน์  แต่เมื่อออกแบบมาแล้วก็ยังเกินงบประมาณที่ตั้งไว้ จึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่ต้องช่วยกัน โดยที่ต้องไม่ใช่การใช้วิธีตัดฟังก์ชันบางอย่างออกไป เหมือนเป็นการตัดแขนขาของบ้าน  แต่เลือกที่จะลดขนาดพื้นที่บางอย่างลง โดยให้องค์ประกอบทุกอย่างยังคงอยู่ จนเกิดเป็นบ้านลอฟท์ชั้นเดียวที่มีความเท่ห์ในแบบของตัวเอง อยู่สบาย ไม่ดิบจนเกินไป และใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าทุกตารางเมตรจริงๆ แน่นอนว่าความเสร็จสมบูรณ์นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ได้ทีมเวิคที่ดี ทั้งดีไซเนอร์ สถาปนิก ผู้รับเหมา วิศวกร  และที่สำคัญที่สุดก็คือ เจ้าของบ้านที่เข้าใจขั้นตอนการทำงานของทุกฝ่ายนั่นเอง


สนใจส่งผลงานออกแบบสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายในเพื่อลงใน DsignSomething.com ส่งรายละเอียดมาได้ที่ dsignsomething@gmail.com

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading