OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

สถาปัตยกรรมที่ดี ในมุมมองของคุณรักศักดิ์แห่ง Green Dwell

บ่ายวันสบายๆ ผมได้พบกับพี่แตน รักศักดิ์ สุคนธะตามร์ แห่ง Green Dwell อีกครั้ง เหมือนกับครั้งก่อนๆ พี่แตนมักให้แง่มุมดีๆเรื่องการออกแบบกับเราเสมอ…

จริงๆแล้วก็พูดคุยกันตามประสา แต่ผมก็อดไม่ได้ที่จะดึงเข้ามาที่เรื่องสถาปัตยกรรม ^^

DsignSomething : สถาปัตยกรรมที่ดี… ในมุมมองของพี่แตนคืออะไรครับ?

พี่แตน(รักศักดิ์) : ผมคิดว่าสถาปัตยกรรมที่ดีเกิดจาก “การแก้ปัญหา” หรือ “การออกแบบจากข้อจำกัดและความต้องการที่มี” ปัญหาในที่นี้อาจจะเกิดขึ้นแล้วหรือยังไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่เป็นสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า เช่น การออกแบบอาคารสำหรับผู้ใช้งานที่ต่างกัน ก็จะมีวิธีคิดและสุดท้ายได้อาคารออกมาต่างกัน อาคารสำหรับผู้สูงอายุ กับอาคารสำหรับเด็ก หน้าตาและรูปแบบต้องไม่เหมือนกัน

 

สถาปัตยกรรมที่ดี ต้องเกิดจากการแก้ปัญหา ถ้าอาคารนั้นๆไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องใดให้ใครเลย ผมถือว่าสิ่งนั้นไม่ใช่สถาปัตยกรรมที่ดี

 

การเริ่มต้นจากรูปทรง หรือ form ผมคิดว่าสามารถทำได้ ถ้าการออกแบบรูปทรงนั้น เป็นหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาหรือเป็นความต้องการของอาคารนั้นๆ

สุดท้ายแล้วสถาปัตยกรรมนั้นจะเป็นสถาปัตยกรรมที่ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินของผู้ที่ได้ใช้งานอาคารนั้นจริงๆ ซึ่งแนวทางการทำงานหนึ่งที่ Green Dwell ทำมาตลอดคือการเน้นไปที่เรื่องของ Well Being หรือ ความเป็นอยู่ที่ดีที่อาคารอาคารหนึ่งจะสามารถเอื้อประโยชน์ต่อผู้ใช้งานได้มากที่สุด เราเก็บข้อมูลและดีเทลการออกแบบบ้านในส่วนที่คิดว่าน่าจะเป็นมาตรฐานของการเป็นบ้านที่ดี เก็บไว้เป็นฐานข้อมูลและนำไปประยุกต์ใช้กับในอาคารทุกๆหลัง

 

ฐานข้อมูลเรื่อง Well Being เหล่านี้ ถูกสังเคราะห์มาหลายขั้นตอน โดยเริ่มจาก “ปัญหา” เช่นกัน เช่น ไทยอากาศร้อน ดีเทลระแนงที่เหมาะสมที่สุด ต้องมีขนาดเท่าไร เว้นห่างเท่าไร ถึงจะบังแดดได้แต่ไม่บังลม, แปลนและรูปแบบช่องเปิดของห้องน้ำ แบบไหนถึงสามารถใช้งานได้ดีที่สุด ระบายความชื้นได้ดีที่สุด เป็นต้น ทั้งหมดเริ่มจากปัญหาที่เกิดเป็นประจำ และเราหาทางออกให้มัน

 

สถาปัตยกรรมที่ดีเลยไม่สามารถมองเห็นและตัดสินได้ด้วยตาในครั้งแรก แต่ต้องได้เข้าไป ได้ใช้งานจริงๆ ถึงจะรู้ ส่วนเรื่องของรูปร่างหน้าตา ผมเชื่อว่าสถาปนิกทุกคนอยากให้อาคารที่ออกแบบนั้นหน้าตาดี สวยงามลงตัวอยู่แล้ว แต่สิ่งเหล่านี้นั้นเป็นสิ่งที่ตกแต่งและเพิ่มเติมได้ เมื่อได้เรื่องของไอเดียหลักและแนวคิดเพื่อการแก้โจทย์แล้ว ก็ออกแบบเรื่องความงามความลงตัวควบคู่กันไป และสุดท้ายอาคารก็จะใช้งานได้ดีและหน้าตาดีด้วย

….