OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

10 Fonts ดูดีที่ช่วยให้งานออกแบบโดดเด่น

คุณใช้เวลาจัดวางและเลือก Font ในสไลด์พรีเซนเทชั่นนานกี่นาที  ?

บางทีคุณอาจเผลอใช้เวลาไปหลายสิบนาทีกว่าจะเจอ  font ที่ถูกใจได้ซักที  เหตุผลอาจเป็นเพราะสถาปนิกหรือนักออกแบบจำเป็นต้องใช้องค์ประกอบกราฟิกเป็นเครื่องมือเพื่อสื่อสารงานดีไซน์ของตนเอง  จึงต้องพิถีพิถันกับการเลือก font ตัวอักษรที่จะนำมาใช้อธิบายเนื้อหา ไอเดียความคิด รายละเอียดงานออกแบบ  การเลือก font ตัวอักษรเลยนับเป็นอีกหนึ่งชิ้นส่วนที่สำคัญในหน้าพรีเซนเทชั่นที่จะช่วยสร้างความเข้าใจ อารมณ์ความรู้สึกที่ต้องการจะสื่อสารให้กับคนอ่านได้มากขึ้น    

นอกจากสถาปนิกจะต้องออกแบบแผนผังอาคาร แบบแปลน รูปด้าน มุมมองการใช้งานภาพ perspective ให้น่าประทับใจแล้ว การเลือก font มาใช้ในงานพรีเซนเทชั่นก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจไม่แพ้กัน ว่าจะเลือกตัวอักษรพิมพ์เล็กหรือพิมพ์ใหญ่ไว้ที่ตรงไหน ตัวเอียงหรือตัวหนา ขีดเส้นใต้หรือขยายขนาดเพื่อเน้นความสำคัญอย่างไร เพื่อให้ตรงกับความหมาย ความรู้สึกที่ต้องการจะสื่อสาร  ลองนึกภาพแบบแปลนบ้าน modern เรียบง่ายจับคู่กับ font สไตล์ WordArt ย้อนยุค ดูแล้วก็คงไม่น่าปลื้มใจสำหรับใครก็ตามที่มองเห็น

 

เราเลยไปคัดเลือก font ตัวอักษรภาษาอังกฤษที่เหมาะกับการใช้งานสำหรับนักออกแบบมาให้ถึง 10 แบบ มีทั้งของฟรีและของที่ต้องเสียสตางค์  ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ตั้งแต่งานเขียนแบบ รายละเอียดวัสดุ คำบรรยาย ชื่อหัวข้อหลัก  จนถึงแผนผัง diagram ไอเดียการออกแบบ

Futura

– ตัวอักษรแนว Modern Graphic Design ที่ได้แรงบันดาลใจจากเทคนิคแบบ Bauhaus ออกแบบโดย Paul Renner ในช่วงทศวรรษที่ 1920
– เน้นการใช้เส้นตรงและเส้นโค้งที่เรียบง่าย ทำให้เกิดความสมดุล สมมาตรซ้ายขวา มีเหลี่ยมมุมที่แหลมคม
– ไม่เหมาะกับข้อความขนาดยาว เนื่องจากเป็นตัวอักษรที่มีเหลี่ยมมุมชัดเจน อาจทำให้คนอ่านรู้สึกสายตาเหนื่อยล้า
– ควรใช้เป็นชื่อหัวข้อ,คำบรรยายสั้นๆ (titles,subtitles) หรือข้อมูลที่ดูเป็นทางการ อย่างข้อมูล resume ส่วนตัว,พรีเซนเทชั่นข้อมูลขององค์กรบริษัท


Bauhaus


– ออกแบบโดยกราฟิกดีไซเนอร์ Herbert Bayer  เค้าเริ่มพัฒนาตัวอักษร Bauhaus ตั้งแต่ตอนที่เรียนอยู่ในสถาบัน Bauhaus
– เน้นการใช้เส้นหนา ความโค้งมน เว้นที่ว่างเล็กๆไว้ระหว่างเส้นตัวอักษร เพื่อไม่ให้รู้สึกทึบตันจนเกินไป
– เป็น font แบบเรียบง่าย เหนือกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน ที่มักจะนิยมใช้กับชื่อหัวข้อและคำอธิบายเนื้อหา


Neutra

– ตั้งชื่อขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่สถาปนิกยุคใหม่คนสำคัญ Richard Neutra
– นักออกแบบกราฟิก Christian Schwartz จึงได้เริ่มต้นโปรเจกต์ออกแบบตัวอักษรเพื่อให้เหมาะกับกราฟิกงานสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะ
– เป็น font ที่ถูกใช้ในงานสถาปัตยกรรมและการออกแบบกันอย่างแพร่หลาย สูสีกับ font Futura (จุดแตกต่างที่สังเกตได้ชัดคือเส้นขนาดหนากว่าและเหลี่ยมมุมที่ไม่แหลมคมมากจนเกินไป)

Bodoni

– Font เก่าแก่ที่ออกแบบไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1767 โดย Giambattista Bodoni
– ลักษณะตัวอักษรอ้วนหนา ใช้ส่วนโค้งมนเยอะ แบบมีเส้นรับหัว – ฐาน และใช้ความหนาเส้นบาง – หนาสลับกันไปเพื่อความสวยงาม
– เลือกใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะรูปแบบตัวอักษรที่โดดเด่น  จึงไม่เหมาะกับข้อความขนาดยาว ควรนำไปใช้กับส่วนไฮไลท์ที่ต้องการเน้นความสำคัญ อย่างชื่อเรื่องและรายละเอียดสั้น ๆ

Gotham

– ได้รับแรงบันดาลใจจากตัวอักษรที่ใช้กันทั่วไปที่ใช้ในป้ายสัญลักษณ์และกราฟิกการออกแบบทางสถาปัตยกรรม
– ออกแบบ Tobias Frere-Jones ช่วงปี ค.ศ. 2000
– นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในงานประชาสัมพันธ์ ป้ายประกาศ นามบัตรและโลโก้ เพราะความหนาของเส้นขนาดพอดี ๆ  เข้ากับองค์ประกอบอื่นได้ไม่ยาก เรียบง่าย น่าเชื่อถือ

Butler

– ถ้าคุณต้องการตัวอักษรสมัยใหม่ที่ดูอ่อนโยนกว่าแบบ Bodoni  ที่เน้นส่วนโค้งเว้า และความหนาบาง เราอยากจะแนะนำให้ใช้  font  Butler ที่ดูคล้ายกับเป็นลูกหลานในตระกูลเดียวกัน
– เหมาะที่จะใช้เป็นชื่อหัวข้อและงานออกแบบโลโก้

Consolas

– ออกแบบโดย Lucas deGroot กราฟิกตัวอักษรที่ดูสะอาดตา สัดส่วนที่กำลังพอเหมาะ ทำให้สามารถอ่านค่าได้นานโดยไม่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเหนื่อย
– ใช้กันอย่างแพร่หลายในหนังสือหรือนิตยสารเฉพาะด้านเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม เป็นตัวอักษรที่เหมาะอย่างยิ่งกับข้อความแบบยาว เนื้อหาที่ต้องบรรยายรายละเอียดเยอะ ๆ
– ในระบบปฎิบัติการของ  Windows จะมีตัวอักษรที่คล้ายกันนี้อีก 5 ตัว (Cambria, Constantia, Corbel, Candara และ Calibri) ล้วนแล้วแต่เป็นรูปแบบที่ใช้กันมากที่สุดโดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่ม

Helvetica

– Font สุดฮิตที่สถาปนิกและนักออกแบบส่วนใหญ่เลือกใช้  เนื่องจากความเรียบง่าย เส้นตรงที่สม่ำเสมอกับส่วนโค้งเว้าที่ไม่มากเกินไป
– สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 20  โดย Max Miedinger และ Eduard Hoffmann ที่ต้องการสร้างกราฟิกตัวอักษร modern graphic design ที่ทันสมัย  ดูเป็นกลาง วางสัดส่วนเส้นและขนาดตัวอักษรให้นำไปใช้งานง่าย  ซึ่งความแพร่หลายในวันนี้ก็คงการันตีความสำเร็จของพวกเค้าได้เป็นอย่างดี

Modeka

– ตัวอักษรที่เน้นการใช้เส้นตรงเล็กบางและการดัดงอของเส้นโค้งแบบไม่ทิ้งมุมแหลมไว้ให้ทิ่มแทงสายตา เป็นผลงานการออกแบบของ Gatis vilaks
– สามารถนำไปใช้ได้ทั้งชื่อหัวข้อที่ต้องการความร่วมง่าย ร่วมสมัย หรือจะใช้เป็นคำบรรยายรายละเอียดองค์ประกอบของภาพก็ได้

Poplar

– ออกแบบโดย Barbara Lind  เป็น Font ตัวสุดท้ายที่หลายคนอาจจะรู้สึกคุ้นตา เพราะเป็นตัวอักษรที่ใช้อยู่ในโปรแกรม   Adobe ที่ต้องการสื่อความรู้สึกหนักแน่น แข็งแรง แต่ยังคงอ่านง่าย มีเอกลักษณ์ ด้วยเส้นตัวหนา ลดเหลี่ยมมุมออก เว้นช่องว่างระหว่างเส้นไว้เพียงเล็กน้อย
– เหมาะสำหรับการใช้งานที่หลากหลาย  เช่น บอร์ดแผนผัง  งานพรีเซนเทชั่น  คำบรรยายและรายละเอียดก็ใช้งานได้ดี

และบทความที่คุณกำลังอ่านมาจนถึงบรรทัดสุดท้ายนี้ ถูกนำเสนอด้วย font ที่มีชื่อว่า Arial ขนาดตัวอักษร 14pt เพื่อความสบายสายตา อ่านง่าย ทั้งในหน้าจอตั้งโต๊ะและขนาดพกพา 

ข้อมูลอ้างอิงจาก archdaily

 

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading