ในยุคที่ภาษาอังกฤษ เป็นหนึ่งในภาษาสากลที่คนทั่วโลกใช้ในการสื่อสาร ไม่แปลกใจเลยหากทุกคนจะให้ความสำคัญและส่งเสริมการเรียน เขียน อ่าน พูดภาษาอังกฤษตั้งแต่ยังเล็กยังน้อย
การเรียนพิเศษจึงเข้ามามีบทบาทในหลายๆครอบครัว ด้วยความคาดหวังที่สถาบันสอนภาษาจะช่วยพัฒนาความรู้ความสามารถด้านภาษาของเด็กๆให้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง
แต่จะมีโรงเรียนสอนภาษาสักกี่แห่งที่สร้างบรรยากาศการเรียนการสอนให้ดูไม่เคร่งเครียดมากจนเกินไป ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กๆได้อย่างเต็มที่ด้วย “การออกแบบ” อย่าง “English for Fun” โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษที่เปลี่ยนภาพห้องเรียนแบบเดิม ให้กลายเป็นพื้นที่เรียนๆ เล่นๆ แบบสนุกสนาน และเติมเต็มความสดใสและมีชีวิตชีวากับการเรียนพิเศษในวัยเด็กได้ด้วย พื้นที่สุดสนุกสนานแห่งนี้
English for Fun Flagship in Madrid
Location: Madrid, Spain
Architects: Rica Studio
Photographs: Imagen Subliminal
English for Fun โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษในเมือง Madrid ประเทศสเปนที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2011 โดยส่งเสริมทักษะ ภาษาอังกฤษจากความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และประสาทสัมผัสทั้งห้าของเด็กๆ ออกแบบโดยสถาปนิกท้องถิ่นจาก Rica Studio ซึ่งการรีโนเวทสาขาหลักในครั้งนี้เป็นการพิสูจน์ว่า “การออกแบบสามารถสร้างประสบการณ์ที่ส่งผลต่อกระบวนการการเรียนรู้ที่ดีได้”
“YELLOW” for Fun
ความพิเศษตั้งแต่แรกเห็น ที่ทำให้การออกแบบโรงเรียนนี้แตกต่างจากโรงเรียนอื่นๆนั่นคือ “สีเหลือง” ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นสีหลักของการตกแต่งภายในแทบทั้งหมด เพื่อสื่อความหมายถึงความสดใสร่าเริง ความคิดสร้างสรรค์ และกระตุ้นการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งความโดดเด่นสะดุดตานี้ ช่วยสร้างบรรยากาศทำให้เด็กๆรู้สึกสนุกสนาน ไปพร้อมกับการฝึกทักษะภาษาอังกฤษที่ผสมผสานกับวิชาต่างๆในคลาส เหมือนดั่งชื่อโรงเรียน English for Fun นั่นเอง
“กำแพง” ที่เป็นมากกว่ากำแพง
นอกจากนี้ยังมี “กำแพงวิเศษ” ที่มีความหนาแบบพิเศษ ไหลคู่ขนานผ่านใจกลางพื้นที่โรงเรียนทั้งสองชั้น ซึ่งไม่เพียงแต่ทำหน้าที่แบ่งห้องเรียนแต่ละห้องและทางเดินเท่านั้น สถาปนิกยังออกแบบให้เป็นเหมือนพื้นที่เก็บบลอคไม้รูปทรงสี่เหลี่ยมลูกบากศ์เอาไว้ โดยเด็กๆสามารถดึงออกมาใช้งานเป็นเฟอร์นิเจอร์อย่างเก้าอี้ หรือโต๊ะได้ง่าย แถมพอใช้เสร็จก็เก็บเข้าที่ได้อย่างเป็นระเบียบ ไม่เกะกะ
เปลี่ยนทางเดิน “ระหว่างห้องเรียน” เป็นพื้นที่การเรียนรู้ “ระหว่างทาง”
ความพิเศษของกำแพงนี้ยังมีลูกเล่นซ่อนอยู่อีก เพราะช่องว่างของโครงสร้างกำแพงที่เป็นแผ่นเหล็กสีเหลืองนั้นสามารถเป็นพื้นที่การเรียนรู้ไซส์มินิที่ให้เด็กๆสามารถผจญภัย ปีนป่ายขึ้นมานั่งและนอนเล่นได้ หรือติดผลงานศิลปะต่างๆเพื่อสร้างนิทรรศการขนาดย่อมให้คนที่เดินผ่านได้รับชมกัน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนทางเดินหน้าห้องเรียนที่น่าเบื่อ ให้เป็นพื้นที่แห่งความสนุกสนาน มีชีวิตชีวามากขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง
แปลนชั้น 2 ของโรงเรียน
“มองทะลุ” แต่ไม่ถึงกับปรุโปร่ง
กำแพงที่หนานี้นอกจากจะช่วยเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กๆแล้ว ยังมีการใช้กระจกใสแทนการใช้วัสดุทึบ ที่ทำให้การดูแลเด็กๆเป็นไปได้อย่างทั่วถึง ช่วยในเรื่องของความสว่าง พื้นที่ดูโปร่งโล่ง และเป็นความตั้งใจของสถาปนิกที่ต้องการให้ทุกคนสามารถมองเห็นกระบวนการเรียนการสอนภายในห้องเรียนได้ แต่ยังคงความเป็นส่วนตัวไว้เล็กน้อยด้วยบลอคไม้ต่างๆที่เรียงตัวกันในกำแพงนั่นเอง
”ปรับเปลี่ยน” พื้นที่ได้ง่าย
พื้นที่ภายในห้องเรียนเป็นแบบ open plan ไม่มีโต๊ะหรือเก้าอี้ที่นั่งตายตัวเหมือนโรงเรียนทั่วไป ทำให้ทุกพื้นที่มีการเชื่อมต่อกัน ซึ่งแทนที่จะมีผนังทึบกั้นระหว่างห้องเรียน กลับใช้เป็นบานเฟี้ยมที่เปิดและปิดได้ เพื่อให้คุณครูและเด็กๆสามารถออกแบบพื้นที่ที่เอื้อกับการเรียนการสอนในคลาสนั้นได้เอง
การออกแบบสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน เป็นเหมือนคุณครูพิเศษคนที่สาม รองจากพ่อแม่และคุณครู ที่มาช่วยสอนเด็กๆให้เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งสเปซที่สวยงามบวกกับการเรียนการสอนที่ดีและความสดใสร่าเริงของเด็กๆ ก่อเกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความก้าวหน้าของสังคม เพราะเราเชื่อว่า ทุกๆการออกแบบที่ดี สามารถทำให้ชีวิตดีขึ้นได้นั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก archdaily