OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

เปิดประตูสู่โลกแห่งเงินตรา ที่”ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย” จุดหมายใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

‘เงิน’ ซื้อความสุขไม่ได้จริงหรือ?

คำถามสุดคลาสสิคที่ใครหลายคนคงเคยได้ยินมาก่อน

หลากหลายคำตอบจากหลากหลายบุคคล มุมมองที่แตกต่างในการให้ความสำคัญกับ ‘ค่าของเงิน’ ที่แม้ว่าเงินไม่อาจซื้อความสุขได้จริงๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน

มันจึงเป็นการดีกว่า ถ้าเราจะมีความรู้เรื่องการเงิน รวมถึงมีพื้นฐานในการคิดแบบนักการเงินไว้ไม่มากก็น้อย และในปีหน้านี้ สถานที่แห่งการเงินในอดีต ผู้ที่ทำหน้าที่สำคัญในการผลิตธนบัตรอย่าง ‘ธนาคารแห่งชาติ’ ได้กลายเป็น ‘ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย’ หรือ BOT Learning Center เพื่อเป็นการต้อนรับประชาชนสู่ประสบการณ์ใหม่กับนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับ ‘เงิน’ รวมถึงขั้นตอนและเทคนิคการผลิตธนบัตรที่กว่าจะมาเป็นธนบัตรหนึ่งใบให้เราใช้กันทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย…

จาก โรงพิมพ์ธนบัตรแห่งชาติ สู่ ศูนย์การเรียนรู้ใหม่แห่งเจ้าพระยา

เนื่องจากการขยับขยายพื้นที่เพื่อเพิ่มกำลังในการผลิตธนบัตรไปที่แห่งใหม่ และวาระการครบรอบ 75 ปีของการก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้ อาคาร ก หรือ ‘โรงพิมพ์ธนบัตรเดิม’ ถูกเนรมิตให้กลายเป็น ‘ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย’ บนโลเคชั่นที่สวยงามริมแม่น้ำเจ้าพระยาเคียงสะพานพระรามแปด 

โดยมีพื้นที่ Co-working Space พร้อมเทคโนโลยีและสื่อทันสมัย ภายในห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยที่เป็นดั่งคลังข้อมูลด้านเศรษฐศาสตร์ ห้องประชุม พื้นที่นันทนาการ รวมถึงพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งใหม่ในประเทศไทย ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เดินทางเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเงินตราตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

อาคาร ก ขอ คง(เดิม)

ความท้าทายในการปรับปรุงอาคารจาก ‘พื้นที่ทำงานอุตสาหกรรม’ ไปเป็นพื้นที่สำหรับประชาชนทุกคน ‘อาคาร ก’ ที่ถูกใช้ผลิตธนบัตรตั้งแต่พ.ศ.2512 ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมในยุคโมเดิร์น ทำให้มีความโดดเด่นทั้งในแง่ประโยชน์ใช้สอยและระบบโครงสร้างที่เน้นความปลอดภัย

รวมถึงมีโครงสร้างหลังคาที่สวยงามและหาได้ยากในสมัยนี้ มีการวางผังแบบเปิดโล่ง ไม่มีแนวเสากลางห้อง เพราะต้องใช้พื้นที่ในการวางเครื่องจักรสำหรับพิมพ์ธนบัตรและสะดวกในการขนย้ายเงิน รูปแบบจึงมีความเรียบง่ายและตรงไปตรงมา บวกกับรากฐานที่มีความแข็งแรงเท่ากับตึก 30 ชั้น ทำให้การรีโนเวทอาคารแห่งนี้ยังคง ‘โครงสร้างเดิม’ ไว้ทั้งหมด

พื้นที่หอประชุมที่ถูกต่อเติมขึ้นมาบริเวณชั้น 5 จึงเป็นไปอย่างง่ายดายด้วยการรับน้ำหนักจากโครงสร้างเดิม

(ห้อง)สมุดบัญชี และการเงิน

ด้วยความที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ต้องการสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายการเรียนรู้ให้กับอนุชนรุ่นหลัง ผู้ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ภายในพื้นที่จึงมีห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยที่เพรียบพร้อมไปด้วยคลังข้อมูลทางด้านเศรษฐศาสตร์ บัญชี การเงิน การธนาคาร ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับธนาคารกลางทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะ ซึ่งประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้ามาใช้บริการภายในพื้นที่ Co-Working Space แห่งนี้ได้เช่นกัน พร้อมมีสื่อมัลติมีเดียครบครัน มีห้องสำหรับประชุมงานหรือติวหนังสือได้อย่างสะดวกสบายอีกด้วย

พื้นที่ห้องสมุดที่เป็น Double Space ทำให้ดูโปร่งโล่ง  เห็นบรรยากาศแม่น้ำเจ้าพระยาและสะพานพระรามแปด

บันได้เวียนที่สร้างเพิ่มขึ้นมาภายหลัง เพื่อการใช้งานที่สะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยทำให้พื้นที่มีความน่าสนใจตามยุคสมัยอีกด้วย

ห้องIdea Box สำหรับประชุมงานหรือติวหนังสือ ซึ่งมีผนังหนึ่งด้านที่สามารถเป็นกระดานไวท์บอร์ดได้ด้วย

โซนสำหรับนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่โดยเฉพาะ ซึ่งหนังสือภายในห้องสมุดนั้นถูกจัดหมวดหมู่จากวิชาทางด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน แทนที่จะจัดหมวดหมู่ ก-ฮ เหมือนตามห้องสมุดปกติทั่วไป

ยัง(มั่น)คง รักษาสิ่งของมีค่า

เดิมที ‘ห้องมั่นคง’ เป็นห้องสำหรับเก็บเงินอันมีค่าที่ถูกผลิตในโรงพิมพ์แห่งนี้ ทำให้มีกำแพงและประตูที่หนา ซึ่งนอกจากจะเป็นโครงสร้างพิเศษแล้ว ยังสร้างความปลอดภัยภายในอาคารอีกด้วย โดยหลังจากการปรับปรุงก็ยังคงทำหน้าที่ ‘เก็บรักษาสิ่งมีค่า’เอาไว้เฉกเช่นเดิม เพียงแต่เปลี่ยนจากการเก็บรักษาเงิน เป็นเก็บรักษาประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่ากับประเทศชาติไว้แทน

ซึ่งห้องมั่นคงชั้นบนสุดของอาคาร ได้กลายเป็นแหล่งรวบรวมเอกสารสำคัญที่หายาก หนังสือทางประวัติศาสตร์การเงินทั้งในและต่างประเทศเอาไว้มากมาย

ส่วนตั้งแต่ชั้น2 ลงไปถึงชั้นใต้ดิน ได้กลายเป็นพื้นที่นิทรรศการที่รวบรวมประวัติและเงินตราเก่าแก่ ประวัติการก่อตั้งของธนาคารแห่งชาติและโรงพิมพ์ธนบัตรที่แรกในประเทศไทย รวมถึงจัดแสดงเหรียญหรือธนบัตรหายาก ที่น่าสนใจและมีคุณค่ากับประเทศชาติ เพื่อเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังให้ได้เรียนรู้อีกด้วย

สำรวจ(ที่ทำ) เงิน

ก่อนเดินทางสำรวจประวัติศาสตร์ทางการเงินแห่งนี้ ทางพิพิธภัณฑ์มีแอพลิเคชั่นให้ทุกคนดาวน์โหลดผ่านสมาร์ทโฟนชื่อว่า ‘BOT’  ซึ่งจะอาสาเป็นไกด์ส่วนตัวพาเดินชมนิทรรศการและให้ความรู้ที่น่าสนใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆอีกด้วย

มาเริ่มย้อนเวลาเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเงินตรากันใน..‘นิทรรศการโรงพิมพ์ธนบัตร’

เครื่องจักรยังคงตั้งอยู่ที่เดิม.. ถึงแม้ในวันนี้เครื่องพิมพ์ธนบัตรจะไม่ได้ทำหน้าที่ผลิตธนบัตรเหมือนอย่างเคย แต่ยังคงบอกเล่าเรื่องราว ขั้นตอน และเทคนิคการผลิตได้เป็นอย่างดี ผ่านเสียง และจอแสดงผลขนาดใหญ่ภายในห้องที่เคยผลิตธนบัตรให้คนไทยใช้มาอย่างยาวนาน เครื่องมือที่สร้างความประณีตในการออกแบบ รวมถึงเรื่องราวของการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกของประเทศไทยที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยได้อย่างลงตัว

ห้องเรื่องเล่า ธปท. ที่ทำให้เราได้รู้จักและเรียนรู้ถึงภารกิจของธนาคารกลางแห่งประเทศมากขึ้น

‘นิทรรศการบทบาทหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย’

ห้องสีขาวฟ้าภายในมีประวัติและบทบาทหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เพลิดเพลินไปด้วยสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย ให้ทุกคนทดลองเป็นธนาคารแห่งประเทศเพื่อดำเนินนโยบายการเงิน กำหนดค่าของเงิน อัตราดอกเบี้ยต่างๆได้เอง

ซึ่งความพิเศษในการออกแบบห้องนี้อยู่ที่ผนังภายในห้องที่มีลักษณะเป็นซี่เล็กๆเรียงติดกัน ดูรวมๆแล้วคล้ายคลื่น แพทเทิร์นความโค้งนี้มาจากค่าGDP ภาวะทางเศรษฐกิจในประเทศไทยแต่ละปีนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีโมเดล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแต่ละยุคสมัยอีกด้วย

‘นิทรรศการเงินตรา ๒’

เรียนรู้ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยไปกับวิวัตนาการของเงินตราไทย ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน และชมธนบัตรที่จัดพิมพ์ขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่เก้า ซึ่งถูกรวบรวมไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด

ตัวอย่างธนบัตรและเหรียญที่ออกแบบในโอกาสพิเศษต่างๆ

‘นิทรรศการเงินตรา ๑’

ย้อนเวลาเรียนรู้ก่อนที่จะใช้เงินตรา อารยธรรมต่างๆของคนทั่วโลกว่าใช้สิ่งใดเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน รวมถึงวิวัฒนาการของเงินตราในยุคต่างๆ ชวนให้ค้นหาความหมายของเงินและค้นหาคำตอบว่ามนุษย์สร้างเงินขึ้นมาเพื่อประโยชน์อันใด

ตัวอย่างเงินของชาวจีนในสมัยก่อน และเงินเจียงที่ใช้ในสมัยล้านนา

ซึ่งภายในนิทรรศการมีเกมส์ Interactive กับผู้เล่น ทำให้ผู้เข้าชมนิทรรศการสามารถเรียนรู้และเข้าใจความรู้เกี่ยวกับเงินตราได้มากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการหมุนเวียนริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่นั่งเล่นอีกมากมาย ซึ่งในนิทรรศการหมุนเวียนที่ติดตั้งอยู่คือนิทรรศการที่เกี่ยวกับการปรับปรุงและก่อสร้างอาคารหลังนี้

ถอดรูป แล้วทำเป็น (โล)โก้

อัตลักษณ์เฉพาะตัวของอาคารศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้อย่างหลังคาคอนกรีตหล่อรูปไข่ (Thin Shell Roof) ที่เดิมไม่เพียงแต่ออกแบบมาเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ยังช่วยดูดซับเสียงของเครื่องพิมพ์ธนบัตรและการระบายอากาศได้เป็นอย่างดี ถูกคงรูปไว้อย่างเดิม เพิ่มเติมคือการถอดรูปไดอะแกรม แล้วนำมาใช้เป็น ‘โลโก้ของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย’ รวมถึงแพทเทิร์นต่างๆในอาคารปัจจุบันอีกด้วย

 

พื้นบริเวณทางเข้าอาคาร ที่มีการใช้ลายกระเบื้องจากรูปแบบของหลังคาคอนกรีตหล่อรูปไข่

Façade ใหม่ที่สวยงามของอาคารสำนักงานที่สร้างครอบอาคาร ก

นอกจากนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ไว้ให้ได้มากที่สุด มีการเก็บรักษาผนังและเสากระเบื้องโมเสส แทนที่การรื้อและทำใหม่ทั้งหมด กระเบื้องส่วนใดที่หลุดชำรุด ก้คงไว้อย่างเดิม หรืออาจมีการฉาบปูนเพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปเพื่อไม่เป็นอันตรายต่อการใช้งานในปัจจุบันนั่นเอง

เรื่องเงินทอง ไม่เข้าใครออกใคร แต่ถ้าเรารู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ของเงินตราแล้วล่ะก็ เศรษฐศาสตร์คงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ส่วนใครที่สนใจอยากไปใช้บริการในพื้นที่แห่งนี้แล้วล่ะก็ อดใจรอกันอีกสักนิด เพราะ ‘ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย’ จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 มกราคม 2561 เพื่อต้อนรับศักราชใหม่ ทั้งนี้ ในระยะเวลา 6 เดือนแรก ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใช้บริการได้แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 09.30 – 20.00 น.

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading