“ไทเป” เมืองที่ถูกเติมเต็มไปด้วยสีสันของงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ก็มีการรวบรวมผลงานของศิลปินชื่อดังอย่าง “Jimmy Liao” นำมาจัดแสดงเป็นแกลลอรี่ หรือการนำประติมากรรมมาตั้งตามสถานีต่างๆ ช่วยเพิ่มความมีชีวิตชีวา เพิ่มสีสัน ให้กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินได้เป็นอย่างดี
ทุกครั้งที่เราไปต่างประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร เรามักจะมีปัญหาในการพูดคุยกับคนที่นั่น เพราะเราใช้ภาษาในการสื่อสารต่างกัน แต่นอกจากภาษาแล้วก็มีบางสิ่งที่สามารถสื่อความหมายกับเราได้อย่างตรงไปตรงมาและเข้าใจได้ง่าย สิ่งนั้นคือ สถาปัตยกรรม ภาพวาด ประติมากรรม หรือที่เรียกรวมกันทั้งหมดนั้นว่า “ศิลปะ” ศิลปะมีความเป็นปัจเจก มีเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ผ่านการใช้ประสาทสัมผัสและความรู้สึกนึกคิดโดยตรงนั่นเอง
ศิลปะในพื้นที่ใต้ดิน
เมืองไทเปเคยได้รับการคัดเลือกเป็น World Design Capital ในปี 2016 ด้วยเป็นเมืองที่ใส่ใจการออกแบบและศิลปะ ตั้งแต่สิ่งเล็กน้อยเช่นฝาท่อระบายน้ำ จนถึงสิ่งที่ใหญ่ขึ้นอย่างการขนส่ง ต่างก็มีการออกแบบมาทั้งหมด เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองไทเปให้ดีขึ้น โดยการคำนึงถึงการออกแบบและศิลปะในพื้นที่สาธารณะนั้น ไม่ได้อยู่แค่เพียงแค่บนดินเท่านั้น หากยังนำศิลปะมาเป็นส่วนหนึ่งของรถไฟใต้ดินด้วย
รถไฟใต้ดินของไทเปมีมานานกว่า 50 ปี การนำศิลปะเข้ามาเติมเต็มพื้นที่ใต้ดิน จึงเป็นการลดความเคร่งขรึมของสถานีรถไฟ โดยนำสีสันสดใสมาแต่งเติมให้กับพื้นที่ว่างเปล่าในสถานี นอกจากนั้นยังเป็นการเปลี่ยนช่วงเวลาการเดินทางที่แสนน่าเบื่อหน่าย ด้วยการเพิ่มสีสัน ความสดใส ให้กับผู้คนที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะมีความสนุกสนานและจดจำเรื่องราวระหว่างการเดินได้มากขึ้นนั่นเอง
แต่งแต้มชีวิต ด้วยสีสัน
สีสันจัดจ้าน ภาพวาด รูปถ่าย หรือประติมากรรม ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนเกิดความผ่อนคลาย และเกิดความสุนทรีย์ในการใช้ชีวิต เพราะศิลปะเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายและเข้าใจได้ง่ายด้วยเช่นกัน
งานศิลปะในสถานีรถไฟฟ้าคือการพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าให้มีชีวิต โดยนำพื้นที่ ที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน เช่น พื้นที่ข้างบันไดเลื่อน พื้นที่สำหรับเดินเชื่อมต่อตรงทางออก ให้กลายเป็นบริเวณที่มีผู้คนจดจำได้มากขึ้น เป็นการใช้พื้นที่สาธารณะอย่างมีประโยชน์ และคุ้มค่า การแต่งแต้มสีสันบนความว่างเปล่าที่จริงจังในสถานีรถไฟฟ้านั้น เป็นการเปลี่ยน Mood and Tone ในสถานีรถไฟฟ้าให้มีความสดใสมากขึ้น และยังเป็นการจุดประกายความสุข ความสดชื่น จากสีสันและความเรียบง่ายของภาพวาดประติมากรรม ในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินนั้นๆ
#Dtips สถานีกงกวน ( Gonguan Station ) มีประติมากรรมสีแดงสด ที่คอยทักทายผู้คนที่เข้ามาใช้บริการ ด้วยรูปร่างลักษณะและสีสันที่มีความโดดเด่น สะดุดตา จึงเป็นจุดสังเกตุท่ามกลางผู้คนที่เดินผ่านไปมาในสถานีรถไฟ
ภาพติดตา (ผู้)คนติดใจ
นอกจากศิลปะจะทำให้ผู้คนรู้สึกสดชื่นเมื่อพบเห็นแล้ว พื้นที่ ที่มีงานศิลปะยังสามารถเป็นจุดแลนด์มาร์ค สร้างแรงดึงดูดให้ผู้คนสนใจได้อีกด้วย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่หลงใหลในงานอาร์ต พวกเขาจะรู้ว่าที่สถานีรถไฟใต้ดินของไต้หวัน มีงานศิลปะดีๆหลายอย่างแอบซ่อนตัวอยู่ ครั้งต่อไปเมื่อพวกเขาเข้ามาใช้บริการ ก็จะคอยหาว่ามีภาพวาด หรือรูปปั้น แอบซ่อนไว้อยู่ตรงไหนบ้างหรือเปล่า เป็นเกมส์ที่สร้างความท้าทายและสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทเป
การที่นำผลงานของศิลปินมาจัดแสดงงานแกลลอรี่ ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ก็เป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับศิลปินเช่นกัน เขาจะเป็นที่รู้จักมากขึ้น นอกจากนั้นผู้คนก็ยังสามารถจดจำงาน และสไตล์การวาดของเหล่าศิลปินได้มากขึ้นเช่นกัน โดยไม่ใช่แค่การประชาสัมพันธ์ให้กับคนไต้หวันเท่านั้น แต่ยังเป็นการโปรโมทให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักศิลปินชื่อดังไต้หวันเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
#Dtips ที่สถานีนันกาง ( Nangang Station ) มีการรวบรวมผลงานของ Jimmy Liao จิตกรชื่อดังชาวไต้หวัน มาจัดแสดงเป็นนิทรรศการถาวร โดยเริ่มมีภาพวาดตั้งแต่บันไดมาที่ลงไปสถานีทั้งสองฝั่ง จนถึงพื้นที่ยืนรอขึ้นรถไฟเลยทีเดียว
สร้างสรรค์พื้นที่ว่างเปล่า ให้เกิดประโยชน์
จากเดิม ทางเดินในรถไฟใต้ดินเรียบๆ ที่มีผู้คนเดินบางตา พอนำรูปภาพ นำประติมากรรมมาตกแต่งในสถานี จึงเป็นการเพิ่มสีสันให้สถานีรถไฟ มีความสดใสมากขึ้น จากพื้นที่ ที่เคยน่ากลัว กลับแทนที่ด้วยแสงสว่างและสีสันจัดจ้านของงานศิลปะหลากหลายชิ้น เป็นการลดความเสี่ยงจากอาชญากรรม และนักท่องเที่ยวจะเพลิดเพลินจากการเดินดูงานศิลปะในบริเวณต่างๆ สถานีรถไฟฟ้าจะมีชีวิตชีวามากขึ้น สลัดภาพลักษณ์เคร่งขรึมอันเดิมออก ผู้คนใช้บริการจะมีความปลอดภัยในการใช้งานมากขึ้น เพียงแค่เปลี่ยนพื้นที่ Waste Space ไม่ได้ใช้ ให้กลายเป็นพื้นที่ศิลปะนั่นเอง
#Dtips “The moment we meet” ใต้สถานีรถไฟฟ้าสถานี Taipei 101 เป็นการจัดแสดงภาพที่แสดงหน้าคนในช่วงอายุและอารมณ์ที่แตกต่างกัน แนวคิดคือการส่งต่ออารมณ์ของบุคคลในรูปภาพ ให้กับผู้ที่ยืนชมภาพถ่าย เพราะต่างผู้คนก็ต่างอารมณ์ โดยการสลับหน้าคนในรูปภาพไปมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ผลงานนี้เป็นของศิลปิน Hsin-Chien Huang
ศิลปะเป็นเรื่องสำคัญของคนไต้หวัน จึงเกิดโครงการศิลปะในพื้นที่รถไฟฟ้าใต้ดินนี้ขึ้นมา เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงและรักในศิลปะมากขึ้น เพราะศิลปะนั้นจะอยู่ในทุกๆที่ เปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของชีวิตที่ต้องพบเจอทุกวัน และมากไปกว่านั้นนักท่องเที่ยวจะสามารถจดจำเรื่องราวและภาพลักษณ์การเป็นเมืองศิลปะของไทเปได้อย่างเด่นชัด เพราะแม้แต่ในสถานีรถไฟใต้ดินอันแสนวุ่นวายก็มีภาพวาด มีประติมากรรมแฝงตัวอยู่ตามสถานีต่างๆนั่นเอง
ขอบคุณรูปภาพและเรื่องราวบางส่วนของนิทรรศการ The moment we meet จาก www.storynest.com