OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Steel Grove “กั้น” เพื่อความเป็นส่วนตัว “เปิดรับ” ให้กับธรรมชาติ

การนำรูปแบบบ้านเกาหลีดั้งเดิม มาปรับเปลี่ยนให้เข้ากันกับปัจจุบัน โดยเน้นความสำคัญของธรรมชาติ เทียบเท่ากับพื้นที่ภายในอาคาร

Architects: ar-Architects

Location: Gimhae-si, South Korea

Area: 274.0 m2

Project Year: 2017

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยสถาปนิกได้รับแรงบันดาลใจจากบ้านดั้งเดิมของเกาหลี ซึ่งมักจะให้ความสำคัญกับพื้นที่ภายนอกและภายในอาคารอย่างเท่าๆกัน บ้านดั้งเดิมจะมีรูปแบบการจัดพื้นที่นอกอาคารอย่างหลากหลายรูปแบบ เช่น มีพื้นที่สำหรับหน้าบ้าน หลังบ้าน สวนสำหรับปลูกต้นไม้ และมีระเบียงยาวที่เชื่อมต่อแต่ละห้อง หรือที่เรียกว่า Daecheongmaru

Daecheongmaru คือระเบียงที่เชื่อมต่อแต่ละห้องซึ่งอยู่ในพื้นที่กึ่งภายนอก

แต่บ้านของเกาหลีดั้งเดิมและปัจจุบันนั้น มีความแตกต่างกัน พื้นที่ภายนอกที่เคยสำคัญ ในปัจจุบันกลับมีอยู่อย่างจำกัด หรือบางบ้านก็ไม่มีเลยด้วยซ้ำ ทั้งนี้เป็นเพราะประเทศเกาหลีมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับพื้นที่ในเมืองที่ไม่สามารถขยายต่อได้แล้ว ผู้คนมากกว่า 90% จึงต้องพักอาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์ หรือบ้านที่แชร์กับบุคคลอื่น ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยที่พื้นที่ภายนอกอาคาร(ซึ่งเป็นส่วนตัว) ค่อยๆหายไปจากการใช้ชีวิตของชาวเกาหลี

สถาปนิกจึงออกแบบบ้านนี้ โดยนำแนวคิดพื้นที่ภายนอกของบ้านดั้งเดิมเกาหลีมาประยุกต์ใช้กับปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์พื้นที่พักอาศัย ที่นำธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น แสงแดด ลม หรือแม้แต่ต้นไม้ ให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกับบ้าน และสร้างเปลือกนอกอาคารเพื่อกั้นตัวบ้านให้เป็นส่วนตัวจากสิ่งรบกวนรอบข้าง

“กั้น” เพื่อความเป็นส่วนตัว “เปิดรับ” ให้กับธรรมชาติ

บ้านหลังนี้มีแนวคิดหลักๆ 2 อย่าง แนวคิดแรกคือการสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้พักอาศัย โดยการสร้างเปลือกนอกอาคาร (Facade) เสมือนเป็นผนังมาคอยกั้นระหว่างบ้านและพื้นที่ใกล้เคียง และอีกแนวคิด คือการนำแสงและลมธรรมชาติพัดผ่านเข้ามาภายในบ้าน

ทั้งสองแนวคิดดูเหมือนจะตรงกันข้าม แต่สถาปนิกก็สามารถนำทั้ง 2 แนวคิดมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับกับบ้านหลังนี้ได้ ด้วยการใช้ “Steel Grove” ที่ไม่เพียงแต่สร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้พักอาศัย แต่ยังสามารถเชื่อมต่อกับธรรมชาติและเพื่อนบ้านอีกด้วย

Steel Grove สร้างโดยการนำท่อสแตนเลสที่ขนาดแตกต่างกัน มาเรียงกันเป็นแถวยาวไปจนสุดแนวพื้นที่ ก่อเกิดเป็นผนังที่สามารถบังสายตา สร้างความเป็นส่วนตัวจากผู้คนภายนอก และจากการออกแบบให้ท่อสแตนเลสแต่ละแท่งวางโดยเว้นระยะห่าง ไม่ติดกันนั้น ก็เพื่อเป็นการเปิดให้ลมและแสงแดดสามารถเข้ามาในภายอาคารได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามนอกจากพื้นที่ภายในและภายนอกอาคารจะเกี่ยวเนื่องกันแล้ว สถาปนิกมีแนวคิดในการสร้างพื้นที่ภายนอกอาคารให้มีปฎิสัมพันธ์กับผู้คน และสื่อสารไปยังบ้าน ถนน  ในละแวกใกล้เคียง ผ่านการออกแบบผิววัสดุด้านนอกอาคาร

ในตอนกลางวัน “Steel Grove” จะเป็นดั่งผิวของเปลือกอาคาร ซึ่งแสงจะส่องผ่านโดยตรงเข้ามาภายในอาคาร เกิดเป็นจังหวะของแสงและเงา ในรูปแบบที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา และเมื่อแสงได้หมดลงในตอนเย็น ผิวของเปลือกอาคารจะแสดงรูปลักษณ์ใหม่ที่ต่างออกไป ซึ่งนี่เป็นการสร้างสีสันและบรรยากาศให้กับบริบทรอบข้างได้อีกด้วย

ซึ่งเปลือกอาคารนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Joseon Dynasty ซึ่งเล่นกับความหมายของคำว่า ผนัง (wall) ซึ่งสื่อความหมายถึงการป้องกันผู้คนจากสงคราม ผนังของอาคารนี้จึงนำแนวคิดของ Joseon Dynasty มาประยุกต์ใช้ และเปลี่ยนจากการป้องกันผู้คนจากสงคราม เป็นการสร้างเพื่อป้องกันคนในบ้าน จากสิ่งรบกวนที่อยู่ภายนอกอาคาร

เพราะธรรมชาติ คือหัวใจของบ้าน

ทางเข้าไปภายในอาคาร

พื้นที่ภายในและภายนอกอาคารถูกแบ่งออกเป็นหลายส่วน เพื่อการใช้งานที่แตกต่างกัน บางพื้นที่ มีไว้เพื่อเชื่อมต่อห้องรับประทานอาหารและห้องนั่งเล่น โดยมีสวนคั่นกลาง ซึ่งคล้ายคลึงกับบ้านเกาหลีในสมัยก่อน และบางพื้นที่มีส่วนที่ติดถนนใหญ่ ซึ่งคือบริเวณที่สถาปนิกนำ Steel Grove มากั้นเป็นผนังนั่นเอง

เมื่อเข้ามาภายในบ้าน จะพบกับโถงกลางบ้าน ซึ่งเชื่อมต่อไปยังห้องกินข้าว และห้องนั่งเล่น โดยมีสีสันของต้นไม้และธรรมชาติ(จากสวนหน้าบ้าน) เป็นตัวเชื่อมต่อพื้นที่ทั้งสองห้องไว้ด้วยกัน

พื้นที่ส่วนกลางภายนอกที่เชื่อมระหว่างห้องกินข้าวและห้องนั่งเล่น

ในตอนกลางวัน เมื่อมองออกจากนอกห้องก็จะพบกับแสงและเงาที่กระทบกับ Steel Grove เกิดการไล่เฉดสีความเข้ม อ่อน ของเงา แล้วจึงส่องแสงมายัง พื้นและผนัง ในอาคาร

ผู้พักอาศัยจะรู้สึกได้ถึงความอบอุ่น ผ่อนคลาย จากการเลือกใช้วัสดุโทนสีสว่าง และมีกระจกบานใหญ่ที่สามารถมองเห็นต้นไม้ และสวนสวยได้แทบทุกห้องในบ้าน

ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนในบ้าน ก็จะพบกับบริเวณสวนที่อยู่ภายนอกอาคารเสมอ ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากบ้านดั้งเดิมของเกาหลี นำมาใช้ในการแก้ปัญหา เรื่องการมีพื้นที่ส่วนตัวซึ่งอยู่ภายนอกน้อยของผู้คนเกาหลีในยุคปัจจุบันนั่นเอง

จากดาดฟ้าบนชั้น 2 เมื่อมองลงมาข้างล่าง ก็จะพบกับสวนและต้นไม้ ที่ปลูกเป็นแนวยาวขนานไปกับตัวบ้าน

ที่จอดรถ

ถึงแม้ว่ารูปแบบอาคารดั้งเดิมจะหาได้ยาก และมีภาพลักษณ์ที่ล้าสมัยในปัจจุบัน แต่เมื่อเราได้มองอย่างพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว จะพบว่า องค์ประกอบ รายละเอียด หลายๆอย่าง ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จวบจนถึงทุกวันนี้ โดยไม่ใช่เฉพาะแค่บ้านแบบดั้งเดิมของเกาหลีเท่านั้น บ้านไม้เก่าแก่ของบ้านเราก็สามารถนำมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับใช้งานในทุกวันนี้ได้เช่นกัน

ที่มาจาก ArchdailyOrientalarchitecture

 

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading