OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

ทำความรู้จัก Balkrishna (B.V.) Doshi สถาปนิกชาวอินเดีย ผู้ได้รับรางวัล Pritzker Prize ปี 2018

“ผมสัมผัสได้มาตลอดว่า สเปซ นั้นมีชีวิต” Balkrishna Doshi กล่าว “สเปซ แสง และลักษณะการเคลื่อนไหวที่นำผมเข้าไปสู่พื้นที่นั้นๆค่อนข้างสำคัญ และสำคัญมากๆสำหรับผม เพราะสเปซคือจุดเริ่มต้นของการสื่อสาร จุดเริ่มต้นของการเกิดกิจกรรม และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิต เพราะสถาปัตยกรรมในความคิดของผมคือ Backdrop สำหรับการดำรงชีวิต” 

Balkrishna Doshi สถาปนิกชาวอินเดียคนแรก ที่ได้รับรางวัล รางวัลพริตซ์เกอร์รางวัลพริตซ์เกอร์รางวัลพริตซ์เกอร์ บุคคลผู้อยู่ในแวดวงสถาปัตยกรรมมากว่า 70 ปี มีผลงานมากมายนับไม่ถ้วน เขาออกแบบโดยใช้วัสดุท้องถิ่น และใส่ใจการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสภาพแวดล้อม เพื่อพัฒนาการใช้ชีวิตของผู้คนในทุกชนชั้นของประเทศอินเดีย

Balkrishna Doshi คือใคร ?

Balkrishna Doshi เกิดที่เมือง Pune ประเทศอินเดีย เขาเริ่มเรียนที่ J. J. School of Architecture ในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ต่อมาในปี 1947 – 1954 Balkrishna Doshi ย้ายไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อเริ่มต้นการเรียนรู้และทำงานครั้งใหม่กับ Le Corbusier แล้วจึงกลับมาประเทศอินเดียอีกครั้ง เพื่อดูแลโปรเจคจาก Le Corbusier ในเมือง Chandigarh และ Ahmedabad เช่น the Mill Owner’s Association Building และ Shodhan House ภายในเวลาต่อมาจึงได้เริ่มต้นทำงานกับ Louis Kahn ที่ Indian Institute of Management ในเมือง Ahmedabad

งานออกแบบที่สะท้อนถึงจิตวิญญาณในการออกแบบ

ตลอดระยะเวลาการทำงานของ Balkrishna Doshi สถาปัตยกรรมของเขา มีความจริงจังและหนักแน่น   เพราะ Balkrishna Doshi มีความตั้งใจว่า สถาปัตยกรรมที่เขาออกแบบจะช่วยยกระดับผู้คนและประเทศอินเดียให้พัฒนาขึ้นได้ ด้วยการออกแบบอาคารที่ทรงคุณค่า ดังนั้น Balkrishna Doshi จึงมีโปรเจคออกแบบอาคารสาธารณะหลายแห่ง เช่น  ศูนย์การเรียนรู้และวัฒนธรรม และกระทรวงสาธารณูปโภค เป็นต้น

Balkrishna Doshi มีความเข้าใจทางขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณีของประเทศอินเดีย จนเกิดเป็นสถาปัตยกรรมที่เข้ากับการใช้ชีวิตของคนอินเดียได้อย่างลึกซึ้ง เพราะทุกการออกแบบของเขา จะตระหนักถึงบริบทรอบข้าง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม และยังคำนึงถึงการออกแบบอย่างยั่งยืน เพื่อต้องการให้คนอินเดียมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอีกด้วย

Aranya Low Cost Housing ชุมชนอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน

กว่า 100 โปรเจคที่ Balkrishna Doshi ออกแบบ เขาได้ออกแบบและพัฒนาโปรเจคที่อยู่อาศัยราคาไม่แพงขึ้นมา Balkrishna Doshi กล่าวว่า “การพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับผู้คนที่ยากลำบากได้มีชีวิตที่ดีขึ้น คือเรื่องที่ฉันสาบานว่าจะทำและจะจดจำไปตลอดชีวิตของฉัน”

จากคำกล่าวของ Balkrishna Doshi จึงเกิดโปรเจคพัฒนา Aranya Low Cost Housing ขึ้นมา ซึ่งหัวใจสำคัญในการออกแบบคือ “ชุมชนที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน” โดยมีการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้คน 80,000 คน 6,500 ครัวเรือน จากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำจนถึงปานกลาง บนพื้นที่กว่า 500 ไร่ และจากการออกแบบในครั้งนี้ Balkrishna Doshi ได้ชนะรางวัล Aga Khan Award สาขาสาถาปัตยกรรม ในปี 1993-1995 อีกด้วย

CEPT. บ่มเพาะความสมดุลของมนุษย์ผ่านการเรียนรู้

ในปี 1960 Balkrishna Doshi ได้เปิดโรงเรียนสอนสถาปัตยกรรมหลักสูตรทางเลือก CEPT ขึ้นมา โดย CEPT ย่อมาจาก The Center for Environmental Planning and Technology ศูนย์กลางการเรียนรู้เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม หัวใจของ CEPT คือการสร้างความสมดุลที่พอดีระหว่างธรรมชาติและมนุษย์ ในมหาวิทยาลัยนี้นักเรียนสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ในทุกสาขาวิชา และมี Louis Kahn เป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอนคนแรก!

มูลนิธิ Vastushilpa ที่เก็บรวบรวมข้อมูลทางสถาปัตยกรรม

ในปี 1978 Balkrishna Doshi ได้ก่อตั้งมูลนิธิ Vastushilpa เพื่อการค้นคว้าหาข้อมูลในเรื่องราวของการออกแบบ ที่เข้ากันได้ดีกับสภาพแวดล้อม บริบท และวีถีชีวิตของชาวอินเดีย เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงและการศึกษาสถาปัตยกรรมให้กับผู้ที่สนใจ ในปัจจุบันมูลนิธิ Vastushilpa เป็นสื่อกลาง ในการเชื่อมระหว่างสถาบันการศึกษา และวิชาชีพในด้านสถาปัตยกรรมเข้าไว้ด้วยกัน

The Center for Environmental Planning and Technology

การใส่ใจบริบทรอบข้าง สื่อผ่านการเลือกใช้โครงสร้างอาคาร

โครงสร้างที่ Balkrishna Doshi มักเลือกใช้ในการออกแบบ คือผนังรับน้ำหนัก (ฺBearing Walls) ซึ่งการใช้ผนังหนา จะเป็นการป้องกันความร้อนจากภายนอกอาคารเข้าสู่ภายใน จากอากาศที่ร้อนอบอ้าวของประเทศอินเดีย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความผูกพันธ์ของธรรมชาติและมนุษย์ Sangath Doshi’s Office 

Sangath คือออฟฟิศส่วนตัวของ Balkrishna Doshi เป็นอาคารในรูปแบบสไตล์การออกแบบของ Balkrishna Doshi มีการใช้กระเบื้องโมเสคจากประเทศจีน และมีอัฒจันทร์กลางแจ้ง ซึ้งมีน้ำไหลผ่าน Sangath Doshi’s office คือการสะท้อนเรื่องราวความผูกพันธ์ระหว่างธรรมชาติและมนุษย์

Amdavad ni Gufa นิทรรศการศิลปะในถ้ำใต้ดิน

อีกหนึ่งการออกแบบและการทดลองของ Balkrishna Doshi ที่โด่งดังคือนิทรรศการภาพวาดศิลปะ จากฝีมือของ Maqbool Fida Husain ศิลปินชาวอินเดีย โดย Balkrishna Doshi ได้ออกแบบให้ทางเดินชมงานศิลปะ เหมือนอยู่ในถ้ำใต้ดิน มีโครงสร้างรูปโดม และใช้กระเบื้องโมเสคประดับตกแต่งผนังด้านบนอาคาร

The Life Insurance Corporation Housing building in Ahmedabad

Balkrishna Doshi ผู้สร้างแรงบันดาลใจ

ความตั้งใจของ Balkrishna Doshi แสดงให้เห็นว่า สถาปัตยกรรมและการวางผังเมืองที่ดีนั้นไม่ใช่แค่เรื่องวัตถุประสงค์ในการออกแบบและโครงสร้าง แต่หากรวมถึงสภาพแวดล้อม สภาพอากาศ สถานที่ตั้ง เทคนิคการออกแบบ จนถึงเรื่องความเข้าใจในบริบทรอบข้างอย่างละเอียด แต่ละโปรเจคที่ออกแบบ ควรออกแบบอย่างลึกซึ้งเข้าไปถึงจิตวิญญาณของมนุษย์

Balkrishna Doshi ได้สร้างสรรค์ผลงานออกมามากมาย อย่างไม่มีเหน็ดเหนื่อย ทั้งจากการเป็นสถาปนิก และอาจารย์ เพราะเขามีความตั้งใจที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนในอินเดียให้ดีขึ้น เป็นแรงผลักดันให้เขาต้องดำเนินงานต่อไป

สถาปัตยกรรมคือส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต

“ผลงานของผม คือส่วนหนึ่งของ ชีวิต ปรัชญา และความฝัน ในการพยายามสร้างสรรค์คลังความรู้ทางสถาปัตยกรรม ผมต้องขอยกความดีความชอบในการที่ผมได้รับรางวัล ให้กับอาจารย์ของผม Le Corbusier ท่านสอนให้ผมตั้งคำถามเกี่ยวกับเอกลักษณ์ และบังคับให้ผมได้ค้นพบการออกแบบในรูปแบบใหม่ ซึ่งประยุคมาจากการออกแบบร่วมสมัย และได้พัฒนาจนกลายเป็นที่อยู่อาศัยและสถาปัตยกรรมแบบองค์รวมที่มีความยั่งยืน” นี่คือประโยคที่ Balkrishna Doshi กล่าว หลังได้รับรางวัล Pritzker Prize 2018

Ahmedabad’s Centre for Environmental Planning and Technology

Balkrishna Doshi มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาให้กับประเทศและชุมชน เขาเปรียบเสมือนอาจารย์ ที่จุดประกายความรู้และแรงบันดาลใจให้เหล่านักเรียนทั่วโลก ผ่านทางสถาปัตยกรรมและการออกแบบในตลอดชีวิตการทำงานของเขา

Indian Institute of Management, Bangalore

จากปรัชญา แนวคิด และการออกแบบของ Balkrishna Doshi เราไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมเขาถึงได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ เพราะความมุ่งมั่น จริงจัง และทุ่มเท สามารถสะท้อนผ่านทางสถาปัตยกรรมที่เขาออกแบบ และผู้คนทั่วไปก็สามารถรับรู้และสัมผัสได้ถึงความตั้งใจนี้ได้….

ขอบคุณข้อมูลจาก Archdaily, NPR

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading