OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

ต่อเติมแบบไม่ทรุด ด้วย”เสาเข็มไมโครสปันไพล์” เพิ่มพื้นที่พักผ่อนสไตล์ LOFT

บ้านทรุดทั้งหลังไปพร้อมๆกัน อาจไม่ใช่ปัญหา แต่เมื่อใดที่มีโครงสร้างเก่าและใหม่มาเชื่อมติดกัน เมื่อนั้น การทรุดตัวที่แตกต่างกัน คือปัญหาใหญ่

โดยบ้านที่เรากำลังนำเสนอนี้ เป็นหนึ่งตัวอย่างที่สามารถแก้ไขปัญหาการทรุดตัวของโครงสร้างได้เป็นอย่างดี โดยการใช้วัสดุเสาเข็มไมโครสปันไพล์ เสาเข็มที่เหมาะสำหรับการต่อเติมและรับน้ำหนัก อีกทั้งยังมีการสั่นสะเทือนจากการตอกที่น้อยกว่าการใช้เสาเข็มทั่วไป รวมถึงการก่ออิฐแดงในรูปแบบใหม่เพื่อสร้างมิติให้กับการต่อเติมบ้านครั้งนี้ให้น่าอยู่กว่าเดิม

มุมพักผ่อนที่ต่อเติมใหม่ในสไตล์ LOFT

จุดเริ่มต้นของปัญหา

เมื่อสองปีที่แล้ว คุณกัมพล คุณแอร์ และครอบครัว ได้เคยต่อเติมบ้านส่วนครัว และห้องอเนกประสงค์ไว้ แต่เมื่อก่อสร้างเสร็จไปได้ระยะเวลาหนึ่ง ส่วนที่ต่อเติมใหม่และตัวบ้านเดิมเริ่มเกิดรอยร้าวและมีความทรุดเอียง พื้นทางเดินแตกแยก อาคารเอียงตัวทำให้ฝ้าบีบเข้าหากันจนหัก ผนังบ้านร้าวและแยกออกจากกัน เนื่องจากการใช้เสาเข็มหกเหลี่ยมตื้นในส่วนอาคารต่อเติม อีกทั้งดินยังมีความเหลว ทำให้เกิดการทรุดตัวและดึงโครงสร้างเก่าให้เสียหายไปด้วย

ภาพรอยแยกของพื้นทางเดินและฝ้าที่หักของบ้านเดิมหลังผ่านการรีโนเวทในครั้งแรกเป็นระยะเวลาหนึ่ง

ส่วนต่อเติมมุมพักผ่อนด้านข้าง ในการรีโนเวทบ้านครั้งแรกที่มีการทรุดตัวของระเบียงไม้ ผลกระทบจากเสาเข็มไม่เหมาะสมกับสภาพดิน

อีกทั้งการใช้โครงสร้างเหล็กไว้ใกล้พื้น ความชื้นจากดินจึงทำให้ตัวเหล็กเป็นสนิมและโครงสร้างหักทรุดลงในที่สุด

ซึ่งเจ้าของบ้านได้ไว้ใจให้ คุณธาวิน หาญบุญเศรษฐ และคุณกิตติชนม์ ภูเกียรติก้อง สถาปนิกจากบริษัท Octane Architect & Design มารีโนเวท และแก้ไขปัญหาโครงสร้างของตัวบ้านที่ทรุดโทรมนี้ใหม่ โดยมีการรื้อถอนอาคารต่อเติมเดิมออก และออกแบบในส่วนต่อเติมใหม่ให้กลายเป็นอาคารสองชั้น รวมถึงการสร้างพื้นที่ใช้งานที่มากขึ้นอย่างมุมพักผ่อนและพื้นที่อเนกประสงค์

“ไมโครสปันไพล์” ตัวช่วยต่อเติมความแข็งแรง

จุดแรกที่ทำการแก้ไขของตัวบ้าน คือ การสร้างฐานรากส่วนต่อเติมใหม่ โดยใช้ “เสาเข็มไมโครสปันไพล์” ซึ่งเป็นเสาเข็มสำหรับการต่อเติมโดยเฉพาะ มีการออกแบบเพื่อรองรับน้ำหนักได้มาก ปรับรากฐานที่ไม่แข็งแรงให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น และด้วยลักษณะของเสาที่มีความกลวงทำให้สามารถลดการสั่นสะเทือนระหว่างตอกนั้นได้ดีกว่าการใช้เสาเข็มตอกแบบทั่วไป

ตัวอย่างเสาเข็มไมโครสปันไพล์

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ตัวบ้านหลัก ในการก่อสร้างจะมีการใช้เสาเข็มขนาดใหญ่ยาว 21 เมตร ลงไปถึงชั้นหิน ซึ่งเมื่อมีการต่อเติมอาคารใหม่ของบ้านหลังนี้ โดยใช้เสาหกเหลี่ยมตื้นที่มีความลึกเพียง 6 เมตร จึงไม่เพียงพอสำหรับการรับน้ำหนัก การที่จะทำให้ส่วนต่อเติมมีความแข็งแรงและไม่ทรุด จึงจำเป็นต้องมีการคำนวนก่อนการก่อสร้างและใช้เสาเข็มขนาดยาวหว่านี้ ยิ่งยาวเท่าเข็มบ้านเก่าเท่าไรยิ่งดี

แต่การที่จะตอกเสาเข็มยาว 21 เมตรในพื้นที่ต่อเติมซึ่งมีลักษณะแคบคงเป็นเรื่องที่ยาก ทั้งการขนส่งวัสดุ และเครื่องจักร การใช้เสาเข็มไมโครสปัน ที่มีลักษณะเป็นเสากลมตรงกลางกลวง มีโครงลวดเหล็กฝังอยู่ในเนื้อคอนกรีตโดยรอบ ขนาดแต่ละท่อนที่ยาวไม่มาก สามารถขนส่งและใช้เครื่องตอกที่เล็กกว่าเสาเข็มแบบทั่วไป โดยการตอกย้ำลงไปเป็นท่อนๆ เชื่อมต่อระหว่างท่อนด้วยลวดเชื่อม ซึ่งความลึกจากการตอกเสาเข็มไมโครสปันหลายท่อนต่อกัน จึงมีความแข็งแรงมากพอที่จะรับน้ำหนักในส่วนต่อเติมนั่นเอง

คลิปตัวอย่างระหว่างการตอกเสาเข็มไมโครสปันไพล์

บริเวณทางเดินข้างบ้านเดิมที่ใช้โครงสร้างเหล็กติดกับพื้น ซึ่งเกิดสนิมและทรุดตัวลง ได้เปลี่ยนเป็นคานคอดินหรือโครงสร้างคอนกรีตที่วางอยู่เหนือฐานรากทั้งหมด แล้วจึงต่อด้วยการใช้โครงสร้างเหล็ก H Beam ซึ่งกลายมาเป็นมุมพักผ่อนเล็กๆสำหรับทุกคนในครอบครัว โดยข้อดีของการใช้โครงสร้างเหล็กนั้น นอกจากจะสร้างได้ง่ายแล้ว ยังประหยัดเวลาในการก่อสร้าง และเกิดมลพิษน้อยเพราะเป็นงานระบบแห้ง(Dry Process) อีกด้วย

ต่อเติม เพิ่มกำแพงอิฐ

หลังจากการแก้ไขโครงสร้างให้มีความแข็งแรงขึ้นแล้ว การออกแบบอาคารต่อเติมใหม่จึงได้เริ่มต้นขึ้น ด้วยการลบภาพอาคารเดิมที่เป็นอาคารชั้นเดียวมาเป็นอาคารสองชั้น เชื่อมต่อกับพื้นระเบียงไม้ที่ทอดยาวออกมา ประกอบกับแนวกำแพงอิฐ ที่ถูกจัดวางในรูปแบบที่มีลูกเล่นแปลกใหม่ พร้อมทั้งการตกแต่งภายในที่บ่งบอกถึงสไตล์ Loft ได้อย่างลงตัว

ซึ่งเมื่อตอนเริ่มโปรเจค คุณกัมพลอยากให้ส่วนนี้เป็นฟิตเนส แต่ด้วยการใช้ชีวิต ทำให้พื้นที่ชั้น 1 ของอาคารนี้เปลี่ยนเป็นมุมพักผ่อนเล็กๆ ที่มีความดิบเท่ด้วยการโชว์โครงสร้างเหล็กสีดำ และกำแพงก่ออิฐแดงที่ใช้ก่อสร้างทั่วไปในท้องตลาดอย่าง อิฐแดงขนาดเล็ก2 รู (ขนาด 3x6x14 เซนติเมตร) และขนาดใหญ่3 รู (ขนาด 6.5×10.5×21.5 เซนติเมตร) มาวางสลับแถวกัน และเว้นช่องว่างระหว่างอิฐที่ไม่เท่ากันเพื่อสร้างแพทเทิร์นใหม่ที่ดูแปลกตา

ซึ่งสถาปนิกออกแบบให้มีโครงสร้างเสาคานย่อยเพื่อรับกำแพงอิฐให้น้อยที่สุด เพราะต้อการโชว์ให้เห็นรูปแบบของการเรียงอิฐแบบเต็มๆ โดยอาศัยระยะเวลาการเซทตัวของปูนที่นานกว่าปกตินั่นเอง

ความแตกต่างระหว่างรูปแบบการวางอิฐภายในและภายนอกอาคาร

ความสูงของอาคารแต่ละชั้น ถูกลดระดับลงมาให้ต่ำกว่าชายคาบ้านเดิม ส่วนพื้นที่ด้านบน เป็นห้องอเนกประสงค์ที่เชื่อมต่อกับห้องเสื้อผ้าชั้นสองของบ้าน

รวมถึงมีการรีโนเวทห้องครัวด้านหลังของบ้านใหม่ ที่เดิมถูกรีโนเวทมาแล้ว ในส่วนของหลังคามีน้ำรั่วลง สถาปนิกจึงต้องรีโนเวทใหม่เพื่อแก้ไขในจุดนี้ โดยเปลี่ยนมาใช้โครงสร้างเหล็ก และสร้างหลังคายื่นออกมาเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างอาคารอเนกประสงค์ด้วย

ภายในครัวตกแต่งกรุผนังด้วยกระเบื้องสีขาว และใช้โคมไฟรูปแบบเดียวกับอาคารอเนกประสงค์ เพื่อให้รูปแบบและความรู้สึกถึงสไตล์ Loft ไปในแนวทางเดียวกัน

ด้านบนห้องครัวมีระเบียงเชื่อมต่อออกมาจากห้องนอน เป็นเหมือนมุมพักผ่อนพิเศษ

ในภายภาคหน้า เสาเข็มไมโครสปันไพล์ อาจเป็นหนึ่งทางเลือกใหม่ในการต่อเติมโครงสร้าง เพราะสามารถรับน้ำหนักได้มากขึ้น มีความแข็งแรงคงทน สามารถลดความกระทบกระเทือนต่ออาคารหรือสถานที่ข้างเคียงได้เป็นอย่างมาก ขนย้ายสะดวก และไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางเสียง หรืออาจเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทรุดตัวของบ้านได้อย่างตรงจุดดั่งเช่นบ้านหลังนี้

ขอบคุณรูปภาพเพิ่มเติมจาก

ไมโครสปัน.com และ home-pile