OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

บุษบาโฮสเทล ชื่อไทย สเปซไทย รูปทรงไทย แต่ทำไมโมเดิร์น ?

โรงแรมที่รับรู้ความเป็นไทยได้มากกว่าแค่การมองเห็น หากแต่เป็นการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทั้งการมอง ฟัง รับรสชาติ กลิ่น และการสัมผัส เพราะนี่คือที่พักในรูปแบบไทยโมเดิร์นที่เปรียบเสมือนงานศิลปะชิ้นใหญ่ … Busaba Ayutthaya

Architect: Pattakorn Thanasanaksorn (Mic), Suppat Pornputtkul (Kong), Chirapat Chimlek (Art), Penprapa Sutadsan (Pang)

Architect Firm: Tidtang Studio 

Photography: Jinnawat Borihankijanan

Location: Ayutthaya, Thailand

Busaba Ayutthaya

อยุธยาเมืองเก่าที่มากด้วยวัดและสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ ชวนให้หวนนึกถึงความเป็นไทย ที่ส่งต่อจากอดีตมาถึงปัจจุบัน และหนึ่งในเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่เด่นชัดคือ บ้านเรือนไทย Busaba Ayutthaya (บุษบา อยุธยา) โรงแรมที่นำบ้านเรือนไทยภาคกลางมารีโนเวท โดยนำเสนอความเป็นไทยในรูปแบบที่เป็นสากลมากขึ้น

โรงแรมแห่งนี้ตั้งอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นโรงแรมที่นำบ้านเรือนไทยเดิมมาปรับปรุงให้เป็นที่พัก โดยมีการนำจุดเด่นของบ้านเรือนไทยและลดทอนเส้นสายบางอย่างให้เข้ากับการใช้งานในยุคปัจจุบันมากขึ้น จนเป็นบ้านเรือนไทยที่ผสานกันระหว่างความเก่าและความใหม่ได้อย่างลงตัว

Busaba Ayutthaya ออกแบบโดยสถาปนิกจาก Tidtang Studio กลุ่มสถาปนิกที่มีความคิดว่าความเป็นไทยไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อ

คุณมิ้งค์ พรเทพ แซ่ลี้ เจ้าของ Busaba Ayutthaya ผู้ต้องการนำแนวคิดความเป็นไทยมาตีความใหม่ โดยใส่ความเป็นสากลมากขึ้น

บ้านเรือนไทยเดิมก่อนรีโนเวทเป็น Busaba Ayutthaya

– เรื่องราวในอดีต แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ –

จากบ้านเรือนไทยริมน้ำอายุกว่า 50 ปี ที่สภาพบ้านเดิมนั้นทึบและทรุดโทรมตามระยะเวลาการใช้งาน จึงไม่สามารถใช้งานได้อีก เมื่อคุณมิ้งค์ พรเทพ แซ่ลี ผู้เป็นเจ้าของโรงแรมได้พบเข้า จึงเกิดแนวคิดที่จะรีโนเวทบ้านเรือนไทยใหม่ โดยได้รื้อพื้น ฝ้า เพดาน ออกจนหมด เหลือเพียงแค่กรอบและโครงสร้างอาคารเท่านั้น ซึ่งแต่เดิมบ้านเรือนไทยนี้ เป็นบ้านที่มีเจ้าของแต่ถูกทิ้งร้างไว้ คุณมิ้งค์จึงได้ทำการเช่าระยะยาวกับเจ้าของบ้าน เพื่อที่จะมาทำเป็นโฮสเทลในรูปแบบไทยโมเดิร์น

– เรื่องของเรือนไทย –

เมื่อได้รับโจทย์เรื่องการทำเรือนไทยให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน สถาปนิกจึงได้นำองค์ประกอบที่สำคัญของบ้านมาเรียบเรียงและตีความใหม่ ด้วยการนำลักษณะเด่นทั้ง 3 อย่างของเรือนไทย ได้แก่ หลังคาจั่ว การใช้พื้นที่ในบ้าน และฝาปะกน มาลดทอนเส้นสายสร้างความเรียบง่าย แต่เข้าถึงผู้คนได้อย่างหลากหลายมากขึ้น

หลังคาจั่ว – หลังคาในอดีตจะมีความลาดชันสูงและยกยอดจั่วขึ้น เพื่อระบายความร้อนภายในบ้าน โดยบ้านทุกหลังในประเทศไทย มักใช้หลังคาจั่ว ดังนั้นหลังคาจั่วจึงเป็นสิ่งที่แสดงความเป็นไทยได้ชัดที่สุด

โครงสร้างหลังคารูปทรงจั่วในรูปแบบทั่วไป จะประกอบไปด้วยรายละเอียดหลายอย่าง เช่น  จั่วบน ปีกนก และตง แต่ที่โรงแรมบุษบา สถาปนิกออกแบบโดยใช้เค้าโครงของรูปทรงหลังคาจั่ว แต่นำมาลดทอนและรวมเส้นสายหลังคา ให้มีความเรียบง่ายมากขึ้น จนเกิดเป็นหลังคาจั่ว 3 อัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโรงแรมบุษบา และการที่บุษบาโฮสเทลมีหลังคาจั่ว 3 อัน นั่นเป็นเพราะเป็นหลังคาเดิมตั้งแต่ก่อนรีโนเวท แต่สถาปนิกได้หมุนแกนหลังคาอันกลางให้เป็นแนวเดียวกับด้านซ้ายและขวา เพื่อที่จะได้ให้เห็นไอเดียของการลดทอนรูปทรงหลังคาได้ชัดเจนมากขึ้น

ชานบ้าน – เรือนไทยเปรียบดั่งวิถีชีวิตคนไทยในสมัยก่อน มีชานกลางบ้านที่ผู้พักอาศัยจะมานั่งรับประทานอาหารและใช้เวลาอยู่ร่วมกัน ส่วนห้องนอน ห้องน้ำ และห้องต่างๆจะถูกแยกกันอย่างชัดเจน สถาปนิกจึงนำรูปแรบบกาใช้งานเช่นนี้มาใช้ ด้วยการให้มีชานกลางบ้านเป็นพื้นที่ส่วนกลางและนั่งเล่นของผู้เข้าพัก มีห้องน้ำรวมซึ่งแยกตัวออกมาจากห้องนอน

ฝาปะกน – นำลวดลายฝาปะกนมาออกแบบใหม่ ให้มีระยะชิด-ห่าง ไม่เท่ากัน เป็นการสร้างสรรค์ลวดลายแบบใหม่ที่ยังมีความเป็นไทยแฝงอยู่

ลักษณะอีกประการของเรือนไทยคือการยกพื้นสูงจากใต้ถุนบ้าน สร้างความโล่งและโปร่งให้กับตัวเรือน ที่โรงแรมบุษบามีการออกแบบให้มีผิวอาคารเพิ่มอีกชั้น ทั้งนี้เพราะใต้เรือนไทยถูกใช้งานเป็นที่พัก 2 ห้อง จึงทำเสาและผนังเหล็กลายปะกนครอบอีกชั้น เพื่อสร้างความรู้สึกโปร่งและโล่งให้เหมือนกับการอยู่บ้านเรือนไทย

– โรงแรมในรูปแบบไทยโมเดิร์น –

บ้านก่อนรีโนเวทเป็นบ้านไม้เก่าที่ค่อนข้างทรุดโทรม อีกทั้งเมื่อกล่าวถึงบ้านไม้เก่าแล้ว บางคนอาจจะลังเลในการเข้าพักได้ สถาปนิกจึงแก้ไขโดยการใช้สีขาวและสีสว่างโทนใกล้เคียง ใช้เป็นเฉดสีหลัก และทาสีขาวทับผนังไม้เก่าทั้งหมด สีขาวสื่อถึงความเป็นสมัยใหม่ มีค่าเป็นกลาง ทำให้อาคารดูเป็นมิตรและน่าเข้าหามากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเว้นที่ว่างให้ผู้คนจินตนาการ ลองใส่สีที่ตนชื่นชอบบนพื้นผิวอาคารได้อีกด้วย

ในช่วงเวลากลางวัน แสงและเงาจะส่องทาบลงที่ผนัง เป็นลวดลายของฝาปะกน ก่อเกิดความรู้สึกการซ้อนทับของช่วงเวลาในอดีตและปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ภายนอกที่พักจะรู้สึกถึงความเรียบง่ายด้วยสีขาวสะอาดตา แต่เมื่อได้ลองเดินเข้ามาข้างในแล้วจะรู้สึกราวกับได้ย้อนอดีตไปในสมัยก่อน จากรายละเอียดของสถาปัตยกรรมที่สื่อถึงองค์ประกอบของเรือนไทยรวมถึงพื้นที่ และองค์ประกอบหลายอย่างที่คงแบบเรือนไทยไว้ เป็นการเล่นกับห้วงเวลาในสถาปัตยกรรมได้อย่างน่าสนใจ

– Busaba Ayuthaya –

ภายในโรงแรมบุษบามีห้องพักทั้งหมด 8 ห้อง โดยแบ่งเป็น

-ห้องแบบดอร์ม 8 เตียง 4 ห้อง (ราคาเตียงละ 450บาท) แบ่งเป็นห้องรวม 3 ห้อง และห้องหญิงล้วน 1 ห้อง

-ห้องครอบครัว 6 เตียง 2 ห้อง (2500 บาท)

-ห้องส่วนตัว 2 ห้อง (1700 บาท)

โดยจะมีห้องพัก 2 ห้องอยู่ใต้เรือนไทย และ 6 ห้องอยู่บนเรือน มีพื้นที่ส่วนกลาง ศาลานั่งเล่น และห้องน้ำ แยกออกมาจากบนเรือนที่พัก คล้ายกับเรือนไทยสมัยก่อน

ส่วนต้อนรับของโรงแรมตกแต่งด้วยรูปแบบที่เรียบง่ายแต่น่าใช้งาน มีการเก็บโครงสร้างฝ้าเพดานก่อนการรีโนเวท และเพิ่มเคาน์เตอร์ต้อนรับลูกค้าซึ่งเป็นของใหม่ เพื่อให้ตรงกับคอนเซปของโรงแรมโดยรวมนั่นคือของใหม่ในของเก่า และโทนสีหลักภายในส่วนรับรองแขกคือสีเขียวที่ขลิบด้วยเส้นทองเหลือง ซึ่งทั้ง 2 นี้ เป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์ Busaba ซึ่งเป็นแบรนด์ของคุณมิ้งค์ ผู้เป็นเจ้าของโฮสเทลนั่นเอง

ศาลานั่งเล่นสีขาวสะอาดตาอยู่ติดริมแม่น้ำ เป็นทั้งที่รับประทานอาหารเช้าและที่สังสรรค์ในเวลากลางคืน

ห้องพักจะใช้สีขาวเป็นโทนหลักเช่นเดียวกับภายนอกอาคาร และมีการใช้ไม้ในบางส่วนของห้องพัก เช่น พื้น ขั้นบันได เสา เป็นต้น โดยไม้ที่ใช้จะเป็นไม้เก่าไม่ทาสีทับเพิ่มเติม ช่วยให้ภายในห้องเกิดความน่าใช้งานและเป็นมิตรมากขึ้น

ห้องพักแบบ Private ซึ่งมีเพียง 2 ห้อง สถาปนิกออกแบบห้องในรูปแบบคลาสสิค จากเฟอร์นิเจอร์และสีทองเหลืองที่เลือกใช้

ห้องพักแบบ 8 เตียงและ 6 เตียง โดยแต่ละเตียงถูกออกแบบมาให้มีพื้นที่ส่วนตัว มีที่เก็บของซ่อนอยู่ริเวณหัวเตียง และยังมีม่านกั้นระหว่างเตียงเพื่อความปลอดภัยและเป็นส่วนตัวของผู้เข้าพักอีกด้วย

แสงธรรมชาติสามารถส่องถึงภายในห้องพักทุกห้อง ช่วยให้ห้องดูโปร่งและโล่งมากขึ้น

Busaba Cafe & Meal คือส่วนของร้านกาแฟที่แยกกันอย่างเป็นสัดส่วนกับภายในโรงแรม ตกแต่งในรูปแบบเรียบง่ายและสอดคล้องกับส่วนที่พัก ด้วยการใช้เส้นสายที่ลดทอนมาจากลวดลายของผ้าขาวม้า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของเจ้าของ มาโอบล้อมรอบพื้นที่ของร้านกาแฟ และออกแบบให้มีเส้นสายทองเหลืองยาวจากพื้น ขึ้นสู่ผนัง แล้ววิ่งสู่ฝ้าเพดาน ที่นำโครงเหล็กเส้นทาด้วยสีขาวมาเรียงต่อกันเป็นแพทเทิร์น และยังเชื่อมต่อไปถึงเฟอร์นิเจอร์ Built-in ที่ทำมาจากไม้เซาะร่องตารางอีกด้วย

เส้นใหญ่อยุธยา ซัลซ่ากุ้ง โฮมเมดซอสต้มยำ 130 บาท, สปาเกตตี้ ผัดไทยกุ้งสด 165 บาท, กุ้งแม่น้ำย่าง สไตล์บุษบา 950 บาท

นอกจากอาหารทั้งเมนูจานหลักและของหวานที่ขายใน Busaba Cafe & Meal แห่งนี้ก็ยังดึงความเป็นอยุธยาอย่าง สายไหม และ กุ้งแม่น้ำ มาเป็นส่วนประกอบในอาหารแต่ละอย่างด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นการนำแนวความคิดหลัก ไทยโมเดิร์น มาใช้กับอาคารสถาปัตยกรรมและส่วนของร้านอาหารนั่นเอง

บุษบา ลาเต้เย็น 95 บาท, บุษบา ลาเต้ร้อน 85 บาท, ครีมชีสเค้ก ชาดำ 75 บาท

– เก่าและใหม่ สัมผัสได้จากวัสดุ –

ถึงแม้ว่าเฉดสีหลักของโรงแรมจะเป็นสีขาว แต่ก็มีบางส่วนที่ใช้เฉดสีอย่างเทาอ่อนมาใช้เช่นกัน เพื่อสร้างความแตกต่างและความมีมิติให้กับอาคาร นอกจากนั้นยังมีการเลือกใช้วัสดุที่แสดงความแตกต่างของแต่ละช่วงเวลาได้อย่างชัดเจน เช่น ฟาซาดด้านนอกอาคารจะใช้เหล็กซึ่งเป็นวัสดุใหม่มาใช้ และเรือนไทยจะใช้ไม้เก่าที่แสดงความเป็นเรือนไทยได้อย่างชัดเจน

“การที่ใช้วัสดุทั้งใหม่และเก่าผสมกันนั้น เปรียบได้กับวงดนตรีออเคสตร้า ที่ใช้เครื่องดนตรียุคเก่ามาแทรกเข้าไปในวง ในแต่ละการแสดงจะเป็นการสอดประสานจังหวะและช่วงทำนอง ทำให้งานสถาปัตยกรรมมีความกลมกล่อมมากขึ้น” สถาปนิกกล่าว

โรงแรมบุษบาเปรียบเสมือนกับงานศิลปะชิ้นใหญ่ชิ้นหนึ่ง ที่ผู้คนสามารถมาเสพผลงาน ได้เข้ามาสัมผัส รับรู้ความรู้สึก และได้ลองทำความกับงานชิ้นนี้ เพราะบุษบานำรากฐานความเป็นไทยยุคเก่า มานำเสนอผ่านสเปซ และกาลเวลาในห้วงปัจจุบัน และยังมีการเว้นที่ว่าง(ด้วยการใช้สีขาว)ให้ผู้คนสามารถจินตนาการต่อไปได้อย่างไม่รู้จบ…

 แผนผังอาคาร

Busaba Ayutthaya

Facebook: Busaba Ayutthaya 

Tel : 061 396 8899

Location: Ayutthaya, Thailand

Map: 

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading