OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

In Praise of Shadows เมื่อบ้านเปรียบเสมือนผืนผ้าใบ และมีแสงแดดเป็นผู้สร้างงานศิลปะ

ลายกราฟิกจากแสงธรรมชาติภายในบ้าน ที่เปลี่ยนแปลงไปตามองศาที่แตกต่างของดวงอาทิตย์

In Praise of Shadows

Location: Tel Aviv-Yafo, Israel

Architects: Pitsou Kedem Architects

Photographs: Amit Geron

เมื่อแสงแดดเป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบบ้าน ซึ่งโดยปกติการยินดีต้อนรับแสงแดดเข้ามายังพื้นที่อย่างเป็นมิตรนั้น ช่วยทำให้บ้านดูสว่าง รู้สึกไม่ทึบตัน แต่หากแสงแดดสามารถสร้างมิติแห่งศิลปะบางอย่าง น่าจะสร้างความน่าอยู่ให้กับบ้านยิ่งขึ้นไม่น้อย เช่นเดียวกับ “In Praise of Shadows” บ้านที่เป็นเหมือนพื้นที่นิทรรศการแสดงลวดลายกราฟิกจากแสงแดด ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนรูปแบบไปตามช่วงเวลาการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ในหนึ่งวัน

In Praise of Shadows บ้านอยู่อาศัยสไตล์ร่วมสมัยตั้งอยู่ใน Savion ย่านในเมืองหลวงของอิสราเอล บ้านสองชั้นที่มีขนาด 580 ตารางเมตร ด้วยฝีมือของสถาปนิกท้องถิ่น Pitsou Kedem Architects ออกแบบให้ภายนอกดูดิบเท่ด้วยสีเทาของคอนกรีต ตัดกับสีน้ำตาลของ Façadeเหล็กลายตารางหมากรุก ที่เป็นดั่งพระเอกของบ้าน ทำหน้าที่คัดกรองแสงให้ผ่านเข้ามาอย่างพอดี และยังสร้างงานศิลปะในรูปแบบของลวดลายกราฟิกต่างๆจากแสงเงาที่สัมผัสลงบนทุกๆพื้นที่ภายในบ้าน

– พื้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านและดวงอาทิตย์ –

เมื่อบ้านให้ความสำคัญกับแสงแดด การกำหนดตำแหน่งของผนังและรูปแบบของช่องว่างต่างๆขององค์ประกอบบ้านจึงมีความสำคัญ บ้านหลังนี้จึงกำหนดผนังและช่องเปิดโดยใช้ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับดวงอาทิตย์ ซึ่งเราทราบกันดีว่าดวงอาทิตย์ขึ้นในทางทิศตะวันออกและตกในทิศตะวันตก แต่ทว่าดวงอาทิตย์ไม่ได้ขึ้นและตกในตำแหน่งเดิมเป๊ะๆทุกวัน ทำให้กำแพงทึบถูกกระจายล้อมรอบพื้นที่ภายในบ้านไว้

แปลนชั้นใต้ดินและชั้น 1 ของบ้าน

ส่วนFacade ลายตารางหมากรุกที่ทำจากเหล็ก Cor-Ten ที่มีส่วนผสมของทองแดงนั้น ทำให้คุณสมบัติของเหล็กนี้ทนต่อสภาพแวดล้อมดินฟ้าอากาศ ซึ่งสถาปนิกออกแบบไว้ที่ชั้นสองของบ้าน เป็นเลเยอร์ลอยออกมาเหมือนแผงลอย ทั้งหน้าบ้านในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และหลังบ้านในทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อคัดกรองแสงแดดและสร้างมิติที่สวยงามลายตารางลงบนพื้นและผนังทั่วทั้งบ้าน

นอกจากจะทำให้เกิดกราฟิกลายตารางหมากรุกสลับพื้นที่ตลอดทั้งวันแล้ว แสงที่เข้ามายังเป็นแสงแบบIndirect ซึ่งสามารถควบคุมปริมาณแสงแดดเข้าอาคารให้เหมาะสม รวมถึงการสร้างมุมมองภาพปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกอาคารด้วย

ลายตารางหมากรุกที่ทอดลงบนผนังคอนกรีตในพื้นที่ของคอร์ทยาดหน้าบ้าน

– เพราะองศาที่แตกต่าง –

บริเวณหน้าบ้าน พื้นที่ระหว่างFacade เหล็กลายตารางหมากรุกกับพื้นที่ภายในบ้าน จะมีพื้นที่คอร์ทยาดที่เปิดโล่งสู่ธรรมชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายระหว่างภายในและภายนอก โดยแสงและเงาที่ปรากฏในพื้นที่นี้นั้น นอกจากเราจะเห็นจะลายตารางหมากรุกจาก Façade เหล็กแล้ว ยังมีแสงเงาจากต้นไม้รอบๆ และลายกราฟิกเฉียงที่ได้รับจากโครงสร้างคานคอนกรีตด้านบนอีกด้วย ซึ่งขนาดของลายกราฟิกที่เกิดขึ้นอาจจะเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง มีองศาความเฉียงของเส้นสายแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาของวัน ดั่งการเวียนหมุนงานศิลปะในนิทรรศการนั่นเอง

ลายกราฟิกเฉียงที่เกิดขึ้นจากคานคอนกรีต มีรูปแบบแตกต่างกันไปตามองศาที่เปลี่ยนไปตามแสงของดวงอาทิตย์

ตอนกลางคืนเราสามารถเห็นงานศิลปะในบริเวณคอร์ทยาดหน้าบ้านนี้ได้เช่นกัน ซึ่งจากการจัดแสงไฟ ทำให้เกิดเงาต้นไม้และตารางหมากรุกแบบจางๆ แตกต่างกับตอนกลางวันที่จะเด่นชัดกว่า

พื้นที่ช่องว่างระหว่างบันไดและที่จอดรถ ถูกล้อมรอบด้วยกระจกเพื่อปลูกต้นไม้ในชั้นใต้ดิน เปิดโล่งจนถึงชั้นที่สองของบ้าน ซึ่งมีการจัดแสงไฟในบริเวณนี้ ทำให้เราสามารถเห็นเงาของต้นไม้ทอดลงบนพื้นคอนกรีต

ส่วนคอร์ทบริเวณหลังบ้านเป็นแบบ Double high เปิดโล่งสู่ชั้นสอง แต่ทว่ามีเพดานคอนกรีตด้านบน เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวและบดบังแสงแดดไม่ให้เข้าสู่พื้นที่แบบตรงๆ แต่ยังคงเปิดรับความสว่างเข้ามาในพื้นที่ด้วย Façade ลายหมากรุกรูปแบบเดียวกับด้านหน้าบ้าน ทำให้พื้นที่ภายในไม่ดูทึบตัน

– เมื่อพื้นและผนัง เปรียบดังผืนผ้าใบ –

การเลือกใช้วัสดุเรียบง่ายอย่างผนังและพื้นเป็นคอนกรีตเปลือย รวมถึงการที่พื้นที่ภายในบ้านมีสีขาวเป็นหลักนั้น เป็นความตั้งใจของสถาปนิก ซึ่งเปรียบความเรียบง่ายนี้เสมือนผืนผ้าใบที่ว่างเปล่า รอเวลาที่แสงธรรมชาติส่องผ่านลงมาแต่งแต้มลายกราฟิก ซึ่งเมื่อแสงเงากระทบกับพื้นและผนัง จะทำให้งานศิลปะนี้มีความโดดเด่น ชัดเจนและทำให้พื้นที่มีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น

การใช้กำแพงกระจกในชั้น 1 ช่วยเพิ่มความรู้สึกโปร่ง ดูเบาลอย ทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถมองทะลุจากหน้าบ้านเชื่อมต่อไปยังสระว่ายน้ำด้านหลังได้ตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินเข้าสู่ตัวบ้าน และยังสะท้อนมิติของแสงเงาที่เกิดขึ้นภายในบ้านให้มากขึ้นด้วยนั่นเอง

แผงตู้เก็บของที่เลือกสลับการเปิดและปิดของช่องว่างนี้ เป็นเหมือนฉากกั้นที่แบ่งพื้นที่ระหว่างห้องนั่งเล่นและห้องรับประทานอาหาร ทำให้พื้นที่ยังคงเชื่อมต่อกันผ่านสายตา แต่ยังแบ่งสัดส่วนการใช้งานได้อย่างชัดเจนอยู่

บางครั้ง แสงแดดก็ไม่ได้ทำให้บ้านสูญเสียภาวะน่าสบายในการอยู่อาศัยอย่างเดียวเสมอไป หากนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบ เปิดรับในตำแหน่งที่เหมาะสมภายในบ้าน นอกจากจะทำให้บ้านสว่าง ดูปลอดโปร่งแล้ว ยังอาจเกิดมิติความสวยงามของแสงและเงา เป็นเหมือนงานศิลปะที่ประดับบ้านให้ดูน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ดังเช่นบ้านหลังนี้ก็เป็นได้

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก Archdaily และ Dezeen

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading