OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

สถาปนิกผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมด้วยความรัก และมองการออกแบบเหมือนการทำอาหาร…”จีรเวช หงสกุล” แห่ง IDIN Architects

“อาชีพสถาปนิก เหมือนเราขายอดีตอยู่นะ สิ่งที่เรากำลังทำให้ลูกค้าเป็นสิ่งที่เขายังไม่เห็น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต”

“ไอดิน” กลิ่นไอธรรมชาติระเหยหลังฝนตก ปรากฏการณ์ที่พบได้บ่อยในเขตร้อนชื้น…

ภาพงานออกแบบที่ถ่ายทอดออกมาผ่านความสุขของ “คุณเป้ จีรเวช หงสกุล” ผู้ก่อตั้งบริษัท IDIN Architects ทำให้เราสัมผัสถึงแก่นแท้ของแรงบันดาลใจในการประกอบวิชาชีพ “สถาปนิก” ที่ตัวเขารัก การรอเวลาบ่มเพาะในสิ่งที่ตั้งใจจนผลิดอกออกผลเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างความสุขให้กับผู้อยู่อาศัย เป็นเหตุผลที่เรามายืนอยู่ ณ อาคารเหล็กสีดำแห่งนี้

คุณเป้เดินมาต้อนรับเราอย่างเป็นมิตร ในช่วงบ่ายวันธรรมดาๆวันหนึ่ง ณ ว่าที่บ้านหลังใหม่ของ IDIN ที่กำลังอยู่ในโค้งสุดท้ายของการก่อสร้างแล้ว แต่ทว่าพื้นที่ภายในชั้น 2 ถูกใช้งานเป็นห้องทำงานเรียบร้อย เมื่อเพลิดเพลินกับการเดินชมความคืบหน้าของพื้นที่แห่งนี้โดยมีคุณเป้อาสาเป็นไกด์ได้สักพัก ก็ถึงเวลาเริ่มต้นบทสนทนาเกี่ยวกับ IDIN Architects กันแล้ว

Dsign Something: การเริ่มต้นออกเดินทางของไอดินเป็นอย่างไร?

คุณเป้: ผมเริ่มตั้งบริษัทไอดินในวันที่ 4เดือนที่ 4 ปี2004 ผมรู้สึกถูกโฉลกกับเลข 4 โดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะรหัสนักศึกษาก็04 ออฟฟิศใหม่หลังนี้ก็บ้านเลขที่ 4 แม้แต่คบกับแฟนยังวันที่ 4 เลย (หัวเราะ) ถ้าพูดถึงช่วงแรกๆที่เพิ่งเปิดบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมก็ยากนะ สมัยนั้นลูกค้ายังถามอยู่เลยว่าเสียค่าแบบหรือเปล่า เค้านึกว่าเราเป็นผู้รับเหมา แต่คือเราไม่ใช่(หัวเราะ)

ตัวอย่างผลงานบ้าน W HOUSE อ่านเพิ่มเติมได้ที่…archdaily_w-house-idin-architects

“จริงๆอาชีพสถาปนิก สมัย 10 ปีที่แล้วไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มันมีปัจจัยหลายๆอย่าง เริ่มทำงานจริงๆ ลูกค้ายังไม่ค่อยได้สนใจอาชีพนี้เท่าไหร่ด้วยซ้ำ เค้านึกว่าเราเป็นผู้รับเหมา”

งานแรกที่จบแบบก่อสร้างได้สมบูรณ์น่าจะเป็น “ภูเก็ตเกตเวย์” ซึ่งตอนนั้นผมอายุ 35ปี แต่ก่อนแทบไม่มีการจัดประกวดแบบเลย พอส่งประกวดแล้วได้รางวัลสมาคมสถาปนิกสยาม เลยรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่มาก ไอดินได้รางวัลมาในปี 2010จาก ภูเก็ตเกตเวย์ และได้ลงปก ART4D ตอนนั้นคือที่สุดแล้ว จำได้ว่าซื้อหมดแผงเลย รู้สึกฟินมาก(หัวเราะ) มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้สึกว่าเรามาถูกทางแล้ว

Phuket Gateway สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นร่วมสมัย พื้นที่สาธารณะสำหรับต้อนรับแขกที่มาเยือนภูเก็ตเช่นเดียวกับห้องนั่งเล่น อ่านเพิ่มเติมได้ที่… archdaily_phuket-gateway-idin-architects

Dsign Something: เวลาออกแบบงานสถาปัตยกรรม ไอดินให้ความสำคัญกับอะไรมากที่สุด?

คุณเป้: จริงๆไม่ว่าจะออกแบบสถาปัตยกรรมประเภทไหน ไอดินใช้วิธีคิดเดียวกันหมดคือมีแนวคิดการออกแบบที่ชัดเจนเฉพาะเจาะจงในแต่ละงาน ซึ่งถ้าเป็นงานบ้านพี่จะให้ความสำคัญกับ user ก่อน เพราะบ้านมันต้องตอบcontext เอาเนื้อหาในชีวิตเค้าเข้ามาเป็นSpace ของบ้านเลย แต่พอเป็นงานโรงแรม กลายเป็นเรื่องบริบท และวัฒนธรรมเป็นสำคัญก่อน ซึ่งทั้งหมดยังคงอยู่บนพื้นฐานการออกแบบแบบTropical Architecture การใช้ passive design แดด ลม ฝน เป็นสิ่งที่เราควรต้องมีในงานออกแบบ

ตัวอย่างผลงานบ้าน PA HOUSE บ้านที่มีบริบทเป็นผู้ช่วยออกแบบ อ่านเพิ่มเติมได้ที่… http://bit.ly/PAHouse_DSS

Dsign Something: ผลลัพธ์งานออกแบบของไอดินมีเอกลักษณ์ จนเหมือนมีลายเซนต์ในทุกๆงาน จริงๆแล้วเป็นแบบนั้นไหม?

คุณเป้: คือเวลาที่ผมบอกว่าไอดินไม่เคยสนใจฟอร์ม คนเลยงงมาก เพราะรูปแบบสถาปัตยกรรมค่อนข้างออกมาโมเดิร์น เห็นว่าแมสและฟอร์มชัดเจน แต่จริงๆแล้วเราไม่ได้สนใจฟอร์มก่อน ที่เห็นนั่นคือลายมือที่หลุดออกไปเฉยๆมันเป็น visual ที่เราชอบ ซึ่งที่จริงเวลาเราคุยงานกัน สมมติมีเวลาทำงาน 10 วัน 9 วันเนี่ยจะคุยเรื่องโปรแกรมอาคารอย่างเดียวเลย โปรแกรมจะน่าสนใจได้ยังไง เราจะสร้างสเปซมันยังไง จะสร้าง circulation ยังไง คือจะเน้นคุยเรื่องไดอะแกรมกันก่อน

ตัวอย่างผลงานบ้าน PA HOUSE และไดอะแกรมอธิบายแนวคิดของบ้าน

งานออกแบบมันก็เหมือนการทำอาหาร บางทีเราก็คิดนะว่าเราทำให้มันน่ากินไปหรือเปล่า เค้าเลยรู้สึกว่าอาหารเราไม่มีประโยชน์

ทั้งที่จริงๆเนี่ย วัตถุดิบแต่ละอย่างที่เราเอามาปรุง เราคิดหมดเลยนะ ตั้งแต่วิเคราะห์การวางแปลน ไดอะแกรม ฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์การใช้งาน ทิศทางแสงแดด เราตั้งใจกับมันมากนะ แต่เราก็รู้ว่าคนจะทานอาหาร ไม่ว่ามันจะมีประโยชน์ยังไง ใส่วิตามินเท่าไหร่ สุดท้ายมันต้องอร่อยและหน้าตาต้องน่ากินด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เค้าต้องได้จากการออกแบบของเรา”

ตัวอย่างผลงานบ้าน NY HOUSE อ่านเพิ่มเติมได้ที่… archdaily_ny-house-idin-architects

Dsign Something: จริงๆแล้วไอดินออกแบบงานประเภทไหนมากที่สุด?

คุณเป้: คนอาจมองภาพลักษณ์ไอดิน ว่าส่วนใหญ่เป็นงานออกแบบบ้าน แต่จริงๆแล้วงานที่ผ่านมา 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นงานโรงแรม เพราะเค้าชอบแนวคิดที่ชัดเจนของสไตล์ไอดินที่มีคอนเซปต์เฉพาะแต่ละงานดี

การรับโปรเจคออกแบบบ้านจริงๆแล้วแทบไม่ได้กำไรเลย แต่เรารู้สึกว่าสถาปัตยกรรมประเภทบ้านเนี่ย มันเป็นสิ่งที่ควรจะทำไว้ เพราะเป็นเหมือนครูเพื่อฝึกน้องๆรุ่นใหม่ๆ ให้ได้ฝึกวิธีคิด ได้ฝึกให้เค้ารักงาน สังเกตว่าบ้านแต่ละหลังของไอดิน จะมีคอนเซปต์แนวคิดที่ชัดเจนมากคล้ายโปรเจคงานสมัยเรียนเลย และสเกลของบ้านเป็นการทดลองอะไรบางอย่างที่ต้องการหาคำตอบในช่วงนั้นๆ

ตัวอย่างผลงานบ้าน KA HOUSE และไดอะแกรมอธิบายแนวคิดของบ้าน อ่านเพิ่มเติมได้ที่… archdaily_ka-house-idin-architects

Dsign Something: แล้วไอดินมีวิธีการสกรีนงานที่อยากทำอย่างไรบ้าง?

คุณเป้: อย่างแรกคือ ต้องดูว่าเค้าอยากได้สถาปัตยกรรมที่ดีจริงๆไหม เพราะว่าถ้าเค้าแค่อยากได้บ้าน ก็ไปซื้อบ้านจัดสรรดีๆเลยก็ได้ แล้วงบประมาณพอที่จะจ่ายสิ่งที่เราคิดให้ไปจนสุดทางได้หรือเปล่า อีกอย่างคือรับเฉพาะคนรู้ใจ ดูประเด็นโจทย์ของงานว่าลูกค้ารักเราชอบเราจริงไหม เค้าเชื่อไหมว่าเราทำได้ และดูโจทย์แล้ว น่าสนใจแค่ได้ยินก็โอ้โหแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าโจทย์มีความยากหรือท้าทายมาก ผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วผลลัพธ์ต้องน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกแน่นอน

ตัวอย่างผลงาน Choui Fong Tea Café ที่ได้รางวัลสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2559 อ่านเพิ่มเติมได้ที่… archdaily_choui-fong-tea-cafe-idin-architects

Dsign Something: คิดว่านิยามของอาชีพสถาปนิกเป็นอย่างไร?

คุณเป้: อาชีพสถาปนิก เหมือนเราขายอดีตอยู่นะ สิ่งที่เรากำลังทำให้ลูกค้าเป็นสิ่งที่เขายังไม่เห็น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต แต่เขาเลือกเราเพราะอดีตของเรา เพราะผลงานของเรา เราจึงต้องสร้างอดีตให้ดี สร้างอดีตในแบบที่เราชอบ ในแบบที่เป็นตัวเรา

“อยากทำอะไรที่เราอยากทำจริงๆ แล้วเฝ้ารอเวลาบ่มเพาะดีกว่า ผมเชื่อว่า ถ้าเราไม่อยากทำอะไร เราก็อย่าไปทำมัน เพราะสุดท้ายชีวิตเราก็จะได้ทำแต่สิ่งที่เราไม่ชอบอย่างนั้นไปเรื่อยๆ”

จริงๆอาชีพนี้ กว่าจะสบความสำเร็จมันเหนื่อย อย่างหลุยส์ คาน กว่าจะดังก็ 54-55 ปีแล้ว เป็นอาชีพที่ต้องสะสมประสบการณ์ สะสมผลงาน กว่าจะได้ออกแบบผลงานที่ 1 2 3 ออกมาและได้ผลงานที่คุณพอใจ ต้องใช้เวลา สำหรับผม ผมให้เวลาตัวเองถึง ตอน 40 ปี ถึงจะมีผลงานที่ตัวเองพอใจ ซึ่งเป็นงานเกตเวย์ที่ภูเก็ต จากนั้นเริ่มสังเกตแนวทางตัวเอง มีแนวทางที่ตัวเองชอบ นั่นคือการออกแบบจากบริบท ทำให้เรามั่นใจ อยากทำงานมากขึ้นและตั้งใจทำงานต่อไป

ตัวอย่างผลงาน SIRI HOUSE ของไอดิน บ้านรีโนเวทตึกแถว อ่านเพิ่มเติมได้ที่… http://bit.ly/PAHouse_DSS

Dsign Something: ไอเดียในการตั้งชื่องานออกแบบ?

คุณเป้: ถ้าเป็นบ้านของครอบครัวก็ใช้นามสกุลเป็นชื่อ อย่าง SIRI HOUSE ก็มาจากนามสกุล ศิริวัจนางกูร เพราะเป็นครอบครัวอยู่ด้วยกัน ถ้าเป็นบ้านที่อยู่กันสองคน ก็จะใช้ตัวย่อภาษาอังกฤษ ดูก่อนว่าบ้านนั้นใครใหญ่กว่ากันก็จะคนนั้นขึ้นต้น (หัวเราะ) แล้วก็ดูว่าตัวอักษรแบบไหนอ่านแล้วเพราะกว่ากัน เช่น JB House มาจากคุณจิ๊บกับคุณเบิร์ด หรือ NY House มาจาก คุณนัทกับคุณยิ้ม ส่วนโรงแรมจะตั้งจากคอนเซ็ปต์ของงาน เช่น ธาราวิลลา เค้ามีร้านอาหารชื่อคีรีธาราอยู่แล้ว และตั้งอยู่ติดน้ำก็เลยเป็นธาราวิลลา จริงๆเราไม่ได้ตั้งชื่อไว้ในทุกๆโปรเจคหรอก แต่ลูกค้าชอบให้เราตั้งให้ (หัวเราะ)

ตัวอย่างผลงาน Lima Duva Resort ที่ได้รางงวัลสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2559 อ่านเพิ่มเติมได้ที่… archdaily_lima-duva-resort-idin-architects

Dsign Something: การทำงานในแบบฉบับไอดิน?

คุณเป้: ผมเซทอัพไว้ว่าอยากให้สมาชิกของไอดินมีไม่เกิน 12-14 คน การทำออฟฟิศใหม่นี้จะเห็นว่าโต๊ะทำงานขยายไม่ได้แล้ว เป็นการสร้างกรอบให้ตัวเองด้วยว่าจะมีเท่านี้ ผมเชื่อว่าคนโตได้นะถ้าออฟฟิศมีไดเรกชั่นที่ชัดเจน และเราควบคุมให้มันดีได้ง่ายกว่า ผมยังต้องคุมเองทุกงาน อยากทำให้มันดี ให้มันชัด สร้างงานที่เรามีความสุขกับมัน และเจ้าของก็มีความสุขด้วย

ตัวอย่างผลงานบ้าน T House อ่านเพิ่มเติมได้ที่… archdaily_t-house-idin-architects

Dsign Something: มองภาพอนาคตของไอดินไว้ว่าอย่างไร?

คุณเป้: อาจจะทำงานน้อยลง แต่เป็นงานที่มันมีคุณค่า ไม่ใช่ว่าที่ทำอยู่ไม่มีนะ แต่อยากทำให้ดีขึ้นไปอีก อาจจะทำงานต่างประเทศบ้างเพราะมันท้าทายดี

“ผมชอบหนังเรื่องฟอเรสกัมพ์มากเลย ไม่ว่าเค้าทำอะไรเค้าทำได้ดีนะ เค้าตั้งใจในสิ่งที่กำลังทำอยู่ตรงนั้น ผมก็เหมือนกัน ลมเพลมพัดให้เปิดออฟฟิศ ผมก็ทำให้มันดี คือไม่ว่าจะทำอะไรทำให้มันเต็มที่ รับผิดชอบให้มันดีอะ เชื่อเถอะคนตั้งใจทำงานไม่มีวันล่มจมหรอก ชีวิตจะเจริญแน่นอน”

และกำลังมีโปรเจคเปิดร้านกาแฟ จริงๆเกิดมาไม่เคยคิดจะทำร้านกาแฟเลย แต่อยู่ดีๆวันหนึ่งคิดชื่อเมนูออกแล้วรู้สึกสนุกดี อยากให้คนสนุกด้วย เลยกลายเป็นModernism Café ซื้อเครื่องทำกาแฟมาแล้วนะตอนนี้ สวยมาก สวยสุดในออฟฟิศละมั้งเนี่ย (5555)

สุดท้ายคุณเป้ได้ฝากถึงสถาปนิกรุ่นหลังเกี่ยวกับการทำงานด้านออกแบบสถาปัตยกรรมว่า…

“ปัจจุบันบริบทต่างๆมันเปลี่ยนไป ทำให้เราทำอะไรได้ง่ายขึ้น ติดต่อกันง่าย เจอกันง่ายขึ้น คือมันไม่ต้องรอ ความดีมันมี แต่ความไม่ดีคือ มันจะทำให้เราอดทนได้แค่ไหนกับบริบทที่เราเติบโตขึ้นมา”

Something MORE

  • ชื่อคาเฟ่ Modernism Café มาจากยุคสมัยของสถาปัตยกรรมรูปแบบโมเดิร์น ซึ่งในยุคบุกเบิกก็จะมีสถาปนิกดังๆ อย่าง Le Corbusier , Frank Lloyd Wright, Louis I. Kahn, Mies van der Rohe และอื่นๆ ซึ่งคุณเป้ได้กระซิบบอกกับเราว่า ชื่อของสถาปนิกเหล่านี้ จะกลายมาเป็นชื่อเมนูของกาแฟและขนม ในคาเฟ่ที่กำลังจะเปิดที่สำนักงานหลังใหม่ของไอดินหลังนี้อีกด้วย

ขอบคุณรูปภาพจาก Spaceshift และ Jeravej Hongsakul

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading