OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

สถาปัตยกรรมแห่งการเรียนรู้ และเปลือกอาคารที่มีความหมายซ่อนอยู่…โรงเรียนประภัสสรวิทยา

โรงเรียนประภัสสรวิทยา

Location: ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี, ชลบุรี

Architect: Message Design Studio

ภาพของอาคาร 4 ชั้นขนาดใหญ่ ที่สวยงามโดดเด่นด้วยเปลือกอาคารอิฐช่องลมสีขาวสะอาดตา ดูจากบริบทโดยรอบไม่ยากที่จะคาดเดาได้ว่าที่แห่งนี้คือ สถาปัตยกรรมแห่งการเรียนรู้หรือ โรงเรียนที่เราคุ้นเคย และนี่คืออาคารเรียนหลังใหม่ของโรงเรียนประภัสสรวิทยาจังหวัดชลบุรี ตั้งอยู่บนพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 7,195 ตารางเมตร แวดล้อมไปด้วยอาคารเรียนอื่นๆที่สร้างก่อนหน้า อาคารเรียนแห่งใหม่นี้สร้างขึ้นด้วยความต้องการรองรับนักเรียนเพิ่มขึ้น และต้องการให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ นันทนาการ ห้องสมุดในระดับประถมศึกษาและระดับอาชีวศึกษา รวมถึงสำนักงานในส่วนบริหารของโรงเรียน ด้วยฝีมือการออกแบบของ Message บริษัทสถาปนิกผู้มีเอกลักษณ์ในการออกแบบอาคารด้วยการใช้อิฐบล็อกช่องลม

ทีมสถาปนิก Message ผู้ออกแบบอาคารเรียนใหม่ในโรงเรียนประภัสสรวิทยา

นำโดยคุณจีรศักดิ์ เกื้อสมบัติ และคุณระพี่พัฒน์ รัตนโชติ (เจ้าของบริษัท)

โรงเรียนของเราน่าอยู่ พื้นที่เรียนรู้เป็นรูปตัว S

จากข้อจำกัดแรกในด้านโครงสร้าง นั่นคือ พื้นที่แห่งนี้ได้ทำการตอกเสาเข็มไว้ก่อนแล้ว อาคารใหม่จึงต้องออกแบบให้อยู่บนตำแหน่งโครงสร้างเสาเข็มเดิมให้มากที่สุด จากเดิมที่เสาเข็มถูกออกแบบมาเพื่อสร้างอาคารในลักษณะ Double load corridor หรือทางเดินแบบกลางมีห้องเรียนสองฝั่ง ทั้งหมด 4 แนวกริด ก็ถูกเพิ่มเป็น 5 แนวกริด และออกแบบให้เป็นอาคารเรียน 4ชั้น รูปทรงตัว S เพราะสามารถอยู่บนกริดเสาเข็มเดิมได้และสามารถทำพื้นที่อาคารให้มีลักษณะแบบ Single load corridor หรือโถงทางเดินหน้าห้องที่มีห้องเพียงฝั่งเดียว ได้นั่นเอง

แผนผังไดอะแกรมของการปรับโครงสร้างเสาเข็ม และโมเดลรูปทรงของอาคาร

ซึ่งข้อดีของการวางผังแบบ single load corridor ทำให้อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวกและสามารถนำแสงธรรมชาติเข้าสู่ห้องเรียนและพื้นที่ภายในอาคารได้อย่างทั่วถึง รวมถึงพื้นที่ทางเดินเองก็ไม่มืดทึบ

รับฟังผู้ใช้ และนำไปออกแบบ

แนวคิดในการออกแบบ เริ่มจากการสัมภาษณ์ ครู นักเรียน และพนักงานของโรงเรียน เพื่อกำหนดขนาดของห้องเรียน และพื้นที่ต่างๆตามลักษณะกิจกรรมที่เกิดขึ้นจริง และเพิ่มเติมให้มีความยืดหยุ่นในการใช้งานด้วยการลดความชัดเจนของบางพื้นที่ลง เช่น พื้นที่กึ่งสันทนาการ ที่เป็นพื้นที่โล่งแทรกตัวอยู่ภายในอาคารระหว่างห้องเรียนแบบปิด ซึ่งพร้อมจะปรับเปลี่ยนเข้ากับการเรียน หรือกิจกรรมของนักเรียนได้ตลอดทั้งวัน ทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบใหม่ที่ทำให้นักเรียนรู้สึกว่า “การเรียนไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในห้องเรียนเสมอไป”

ส่วนห้องเรียนประเภทสันทนาการ เช่น ห้องเรียนทางศิลปะที่ใช้เน้นการจินตนาการและไม่จำเป็นต้องใช้สมาธิมาก ก็ใช้ผนังกระจกเพื่อเปิดมุมมองและเปิดรับเอาธรรมชาติเข้ามาใช้ได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่ภายนอกก็สามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวของการเรียนการสอนภายในห้องเรียนได้ด้วยเช่นกัน

ส่วนพื้นที่ทำกิจกรรมนอกห้องเรียน เช่น ลานดนตรี เป็นการสร้างขอบเขตของพื้นที่โดยการลดระดับของพื้นที่ลง และอยู่ในตำแหน่งที่สามารถเอื้อให้เกิดกิจกรรมที่ต่อเนื่องจากภายในสู่ภายนอกได้โดยง่าย

เรียนรู้ภาษาสถาปัตยกรรมผ่านผนัง

เราสามารถรับรู้สัญลักษณ์การใช้งานแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันของอาคารเรียนหลังนี้ได้ ผ่านรูปแบบของเปลือกอาคาร 3 แบบด้วยกัน เช่น ผนังทึบ แสดงสัญลักษณ์ของพื้นที่ส่วนตัว สำนักงาน ห้องพักครู ผนังอิฐบล็อกช่องลม แสดงสัญลักษณ์ของพื้นที่กิจกรรม และห้องเรียน และสุดท้ายผนังกระจก แสดงสัญลักษณ์ของพื้นที่สาธารณะ

พื้นที่ช่องว่างระหว่างอาคาร

พื้นที่ว่าง 2 ตำแหน่งระหว่างอาคารรูปทรงตัว S ทางสถาปนิกออกแบบให้เป็น Courtyard หรือลานสำหรับทำกิจกรรมต่างๆของนักเรียน โดย Courtyard แรกเป็นเหมือนทางเข้าหลักของอาคาร เข้าถึงได้ง่ายเพื่อเชื่อมต่อไปยังฟังก์ชันต่างๆในชั้น 1 อย่างห้องสมุด และร้านค้า

ส่วนคอร์ทที่สองที่เป็นสนามหญ้าสีเขียวสวยงาม น่าใช้งานด้วยขั้นบันไดต่างระดับที่สามารถเป็นอัฒจันทร์นั่งดูการแสดงกลางแจ้งได้ มีความเป็นส่วนตัว แต่ก็ยังมีทางออกเล็กๆที่สามารถเชื่อมต่อไปยังพื้นที่สาธารณะได้เพื่อความสะดวกสบาย

Courtyard ที่ถูกล้อมรอบไปด้วยโซนห้องเรียนของชั้นประถมศึกษา

เปลือกอาคารอิฐบล็อกช่องลมและธรรมชาติ

ภาพอิฐบล็อกช่องลมสีขาว รูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสน้อยใหญ่เหล่านี้ ได้รับอิทธิพลมาจากอาคารเดิมของโรงเรียนที่ส่วนใหญ่มีการใช้แผงบังแดดแบบรังผึ้ง ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของโรงเรียนที่ไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งเป็นการนำสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นของไทยมาแปลงโฉมใหม่ให้มีความทันสมัยเหมาะสมกับการใช้งานของปัจจุบัน

ซึ่งFacade ของอาคารเป็นแบบ double skin มีผนังสองชั้น ด้านนอกเป็นแผง อิฐบลอกช่องลมนั้น ช่วยลดความร้อนคัดกรองแสงแดด โดยเฉพาะจากทางเข้าหลักของอาคารที่หันไปทางทิศใต้ ซึ่งเป็นทิศที่มีบริมาณความร้อนเข้าสู่อาคารมากที่สุด ในขณะที่ทำหน้าที่เป็นระเบียงกันตก และเป็นแผงบดบังสายตางานระบบปรับอากาศได้ด้วย

รูปแบบช่องของ Façade อาคารที่สลับกับช่องเล็กและใหญ่สร้างขึ้นเพื่อเปิดมุมมองที่แตกต่างกันของพื้นที่การใช้งานภายในอาคาร และเป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมทางเดิน หน้าต่าง ให้ผู้ใช้งานสัมผัสกับบริบทโดยรอบได้อย่างเหมาะสม

การเรียนรู้ของเด็กๆภายใต้สถาปัตยกรรมแห่งนี้ คงเป็นอีกหนึ่งผลงานที่แสดงให้เห็นว่า รูปแบบของอาคารเรียนที่ดี ไม่จำเป็นต้องออกแบบให้แตกต่าง รูปทรงหวือหวาตามยุคสมัยมากมายอะไร แต่อยู่ที่การออกแบบพื้นที่ภายในเพื่อทำให้ผู้ใช้งานทุกคน มีความสุขในการใช้งานมากกว่า ที่เป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบ

Something MORE

  • แผงผนังช่องลม จากอิฐบล็อกช่องลมสี่เหลี่ยมจตุรัสมีขนาด 25×25 เซนติเมตรประกอบกันเป็นชุดเล็กๆด้วยขนาด 4×4 ช่อง และ 4×8 ช่อง ก่อนที่จะยกนำมาประกอบกันเป็น Façade ขนาดใหญ่อย่างที่เราเห็นกันในภาพอาคารที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว

ขอบคุณรูปภาพจาก Beer Singnoi

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading