OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

บ้านเกียดฟั่ง คงไว้ในรูปแบบเก่าแต่สมบูรณ์ด้วยวิถีชีวิตใหม่

การชุบชีวิตบ้านพักอาศัยในย่านเมืองเก่าจังหวัดสงขลา ที่ครึ่งหนึ่งเป็นบ้านไม้เก่าและอีกครึ่งเป็นบ้านคอนกรีตสไตล์ชิโน – ยูโรเปียน จุดตัด 2 วัฒนธรรม และ 2 ช่วงเวลา ด้วยสถาปัตยกรรมและการออกแบบได้อย่างลงตัว

Owner: คุณปทุมรัตน์ ศิริคติธรรม คุณธนธร ศิริคติธรรม
Architect: คุณ ปกรณ์ เนมิตรมานสุข คุณแสงธรรม พรมเล็ก
Architect Firm: Pakorn Architect
Location: ย่านเมืองเก่า สงขลา

Photograph: ธนวัฒน์ สร้อยนิติรัตน์

 – เมืองเก่าสงขลา เมืองหลากวัฒนธรรม –

เมืองเก่าสงขลาคือย่านเมืองเก่าที่ยังคงความมีชีวิตชีวาอยู่ หากใครเคยสัมผัสก็จะพบว่าเป็นเมืองที่มีการผสานรวมวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่การได้รับอิทธิพลจากเมืองจีนแผ่นดินใหญ่ หรือในยุคต่อมาที่มีสถาปัตยกรรมในรูปแบบชิโน – ยูโรเปียนจนเรียกได้ว่าเมืองเก่าสงขลานี้ คือเมืองแห่งวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันหลากหลาย

สถาปัตยกรรมหลากหลายรูปแบบของเมืองเก่าจังหวัดสงขลา

Credit: http://songkhlacityskru.blogspot.com/2015/10/blog-post_7.html

ในย่านเมืองเก่าสงขลามีร้านอาหารที่โด่งดังอยู่ร้านหนึ่ง นั่นคือร้านข้าวสตูเกียดฟั่ง เป็นร้านที่เปิดกิจการมานานกว่า 80 ปี จนเจ้าของร้านเกิดความคิดที่จะปรับเปลี่ยนพื้นที่ร้านอาหารให้ตอบสนองต่อการใช้งานมากขึ้น เจ้าของจึงได้ตัดสินใจซื้ออาคารบ้านไม้เก่าแก่กว่า 100 ปีหลังนี้ เพื่อนำมาแปลงโฉมเป็นร้านค้าและที่พักอาศัยในอนาคตอันใกล้

 – ก่อนจะมาเป็น บ้านเกียดฟั่ง –

บ้านไม้เก่าก่อนคุณปทุมรัตน์ และคุณธนธร ศิริคติธรรม เจ้าของร้านข้าวสตูเกียดฟั่งจะซื้อ มีสภาพค่อนข้างทรุดโทรมมาก จึงต้องรื้ออาคารเดิมทิ้งแล้วสร้างอาคารใหม่ขึ้นแทน แต่ถึงกระนั้นเจ้าของบ้านก็ยังเชื่อว่าความเป็นบ้านไม้เก่า ก็ย่อมมีสเปซหรือพื้นที่ ที่สวยงามและน่าสนใจอยู่เสมอ ซึ่งตรงกับแนวคิดของคุณปกรณ์ เนมิตรมานสุข สถาปนิกผู้สร้างสรรค์บ้านเกียดฟั่ง โดยเขาเชื่อว่าการใช้องค์ประกอบของบ้านไม้เก่า จะเป็นการนำบรรยากาศแบบเดิมคืนให้กับบ้านใหม่ เขาจึงนำ Element บางส่วนของบ้านไม้เก่ากลับมาใช้อีกครั้ง เช่น การมี“เหล่าเต๊ง” ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของแบบบ้านไม้เดิม

Dtips: เหล่าเต๊งมาจากภาษาจีน ซึ่งหมายถึงส่วนชั้นลอยของบ้านที่เปิดโล่ง

คุณปกรณ์ เนมิตรมานสุข สถาปนิกผู้ออกแบบ จากบริษัท Pakorn Architect

“ก่อนที่จะมาเป็นบ้านเกียดฟั่งแบบที่เห็นกันนี้ ได้ผ่านมือสถาปนิกมาถึง 2 ท่านแล้ว โดยสถาปนิกท่านแรกได้ทำการรื้อบ้านเดิมออกเพราะค่อนข้างมีสภาพที่ทรุดโทรมมากแล้ว ส่วนตัวผมรู้สึกภูมิใจที่ได้รับโอกาสในการออกแบบบ้านเกียดฟั่ง เพราะผมคิดว่าบ้านหลังนี้มีสเปซที่น่าสนใจมากครับ” คุณปกรณ์กล่าว

บ้านเกียดฟั่งมีพื้นที่ทั้งหมด 306 ตารางเมตร โดยมีทั้งส่วนของร้านค้าและส่วนที่พักอาศัย ส่วนของร้านค้าจะอยู่ในบริเวณชั้นล่างของเรือนไม้เก่า และส่วนอื่นๆนอกจากนี้จะเป็นบริเวณที่พักอาศัย โดยรูปแบบที่โดดเด่นของบ้านหลังนี้คือ การเผชิญหน้ากันระหว่างสถาปัตยกรรมบ้านไม้เรือนเก่าและอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสไตล์ชิโน – ยูโรเปียนเป็นอาคารที่เกิดมิติสัมพันธ์ของ 2 ช่วงเวลา ในประวัติศาสตร์เมืองเก่าสงขลามาไว้ที่เดียวกัน

Dtips: อาคารสไตล์ชิโน – ยูโรเปี้ยน คืออาคารที่มีการประดับตกแต่งโดยใช้ลวดลายแบบจีนและยุโรปผสมผสานกัน คล้ายคลึงกับอาคารสไตล์ชิโน – โปรตุกีสที่จังหวัดภูเก็ต

 – การเผชิญหน้ากันของสถาปัตยกรรมทั้ง 2 ช่วงเวลา –

การที่จะคงบ้านไม้แบบเดิมไว้แทบจะเป็นไปไม่ได้ สถาปนิกจึงต้องรื้อบ้านไม้เดิมทิ้ง แต่เมื่อรื้อบ้านแล้วก็พบปัญหาในเรื่องกฎหมาย Setback ให้ย่นระยะอาคาร อีกทั้งความต้องการของเจ้าของบ้านที่ต้องการพื้นที่ใช้งานค่อนข้างมาก การสร้างบ้านไม้แบบเดิมจะมีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน สถาปนิกจึงแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างบ้าน 2  รูปแบบในหลังเดียว เพื่ออนุรักษ์คุณค่าในบ้านไม้เก่า แต่เพิ่มเติมด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่ตอบสนองการใช้งานนั่นเอง

 “เพราะความคิดสร้างสรรค์สำคัญกว่าการอนุรักษ์” คุณปกรณ์ กล่าวถึงแนวคิดของบ้านเกียดฟั่ง

ด้วยความชื่นชอบในสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของย่านเมืองเก่าสงขลา คุณปกรณ์จึงเลือกที่จะออกแบบบ้านเกียดฟั่ง โดยมีส่วนที่แสดงถึงวิวัฒนาการประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมในเมืองเก่าสงขลา โดยบ้านหลังนี้จะมีส่วนบ้านไม้เก่าแบบดั้งเดิมและบ้านชิโน-ยูโรเปียนอยู่ติดกัน ซึ่งจะอยู่ในลักษณะบ้านไม้และบ้านปูนอย่างละครึ่งของตัวบ้าน เกิดความน่าสนใจในมิติของสเปซที่ต่างกัน

รูปด้านโชว์ความแตกต่างสไตล์บ้านได้อย่างชัดเจน

เนื่องจากบริเวณที่ตั้งของบ้านเกียดฟั่งมีพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับการปลูกพืชหรือต้นไม้ สถาปนิกจึงออกแบบให้บริเวณชั้น 2  มีระเบียงขนาดใหญ่ เพื่อให้ผู้พักอาศัยสามารถมานั่งเล่นชมวิวเมืองเก่า ณ บริเวณนี้ได้

แผนผังอาคาร

– สเปซ และการแบ่งแยกสัดส่วนที่ลงตัวของบ้านเกียดฟั่ง –

ภายในบ้านจะมีการแบ่งแยกการใช้งานอย่างเป็นสัดส่วน ได้แก่ส่วน Public space และ Semi-public space จะอยู่บริเวณบ้านไม้ 2 ชั้น ซึ่งประกอบไปด้วย ห้องนั่งเล่นและรับประทานอาหารเป็นพื้นที่ ที่สามารถรองรับการเปิดร้านในอนาคต และชั้น 2 ที่มีเหล่าเต๊งนั้น เป็นส่วนของระเบียง ห้องพระ และห้องดูโทรทัศน์สำหรับครอบครัว

เหล่าเต๊งหรือระเบียงชั้นลอยของบ้าน

ส่วน Private area คือส่วนของบ้านคอนกรีตสไตล์ชิโน-ยูโรเปียน 3 ชั้น โดยชั้น 1 ประกอบไปด้วย พื้นที่จอดรถ ห้องครัว ห้องนอน ส่วนชั้น 2 จะมีห้องนอน 2 ห้อง มีระเบียงที่สามารถเดินออกไปชมวิวตัวเมืองเก่าสงขลาได้ และชั้น 3 หรือชั้นดาดฟ้าจะเป็นส่วนของพื้นที่ซักล้างและระเบียงภายนอก โดยระหว่างอาคารไม้และคอนกรีตนั้น จะเชื่อมต่อกันอย่างแนบสนิท เพราะโครงสร้างของบ้านทั้ง 2 ส่วนถูกสร้างมาพร้อมกันนั่นเอง

– วัสดุที่แตกต่าง เกิดบรรยากาศที่หลากหลาย –

จากรูปแบบอาคารที่ต่างกัน สถาปนิกจึงเลือกใช้วัสดุที่ไม่เหมือนกัน โดยในส่วนของบ้านไม้ สถาปนิกเลือกใช้ไม้ตะเคียนเก่า ซึ่งหาได้ในพื้นที่ นำมาใช้เป็นโครงสร้าง และผนัง ส่วนอีกอาคารเป็นคอนกรีตและเหล็กตามรูปแบบบ้านชิโน-ยูโรเปียนทั่วไป โดยการเลือกใช้วัสดุที่ขัดแย้งกันระหว่างไม้และคอนกรีต จะสร้างบรรยากาศที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกแปลกใจทุกครั้งเมื่อได้เข้าใช้งานในแต่ละสเปซ

บ่อน้ำโบราณก่อด้วยอิฐจากบ้านไม้เก่าที่ถูกรื้อทิ้งไปนั่นเอง 

 – ทิศทางลมและแสงธรรมชาติ –

เนื่องด้วยบริบทรอบข้างส่วนมากเป็นอาคารอยู่ชิดกัน และสงขลาเป็นเมืองที่ติดทะเลสาปและทะเล ทำให้ทิศทางลมมีหลายทิศทาง การมีหน้าต่างในพื้นที่กลางบ้านจะช่วยให้ลมพัดผ่านได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นผู้พักอาศัยยังสามารถเปิดหน้าต่างเพื่อพูดคุยกันได้อีกด้วย

บริเวณบันไดที่จะขึ้นไปชั้นดาดฟ้าของอาคารคอนกรีตมีการเจาะช่องแสง Sky Light เพื่อนำแสงธรรมชาติเข้ามาในบ้าน และช่วยสร้างบรรยากาศให้สว่างน่าใช้งานมากขึ้น

การออกแบบอาคารที่แตกต่างและมีเรื่องราวนั้น แค่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่พอ หากต้องมีความคิดสร้างสรรค์ถึงจะทำให้ผลลัพธ์นั้นออกมาตรงกับความตั้งใจ เช่นเดียวกับบ้านเกียดฟั่งหลังนี้ ที่นอกจากจะมีการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้พักอาศัย มีความสวยงามที่แตกต่างจากอาคารอื่นแล้ว ยังเป็นอาคารที่แสดงตัวตนและวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมในเมืองเก่าสงขลา ด้วยการผสานบ้านไม้แบบดั้งเดิมและบ้านคอนกรีตสไตล์ชิโน – ยูโรเปียนได้อย่างน่าสนใจ

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading