“เปลี่ยนวัสดุที่มูลค่าไม่ได้สูง ให้มีคุณค่าทางด้านจิตใจ ทางด้านความรู้สึกดี สร้างความสงบในการปฏิบัติธรรม ผ่านการออกแบบ”
อาคารที่พักสำหรับผู้ที่มาปฏิบัติธรรม วัดป่าวชิรบรรพต จังหวัดชลบุรี
Location: วัดป่าวชิรบรรพต จังหวัดชลบุรี
Architect: คุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ แห่ง Walllasia
Photograph: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
ภาพความสวยงามของสถาปัตยกรรมและธรรมชาติที่สะท้อนลงบนผิวน้ำ ท่ามกลางบรรยากาศอันความเงียบสงบแห่งนี้ คือ สถานที่สำหรับการปฏิบัติธรรม และพื้นที่พักอาศัยสำหรับผู้ที่มีใจใฝ่ธรรมะ ณ “วัดป่าวชิรบรรพต จังหวัดชลบุรี“ ด้วยปัจจัยที่ต้องการรองรับจำนวนผู้มาปฏิบัติธรรมที่มากขึ้น ประกอบกับฝีมือการออกแบบอาคารภายในวัดมาอย่างยาวนานอย่าง “คุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิกแห่ง Walllasia” ทำให้ผู้มาเยือนพื้นที่แห่งนี้เข้าใจความหมายของการใช้ชีวิตอย่างสงบสุขอย่างแท้จริง
สถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญนี้ เป็นอาคาร 4 ชั้น ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ตั้งอยู่ใกล้ชิดติดธรรมชาติ รายล้อมไปด้วยป่าไม้และภูเขา ซึ่งถือว่าเป็นทัศนียภาพที่สวยงามที่สุดของพื้นที่แห่งนี้ เกิดขึ้นจากแรงศรัทธาของผู้ต้องการมาปฏิบัติธรรมที่มีจำนวนมากขึ้นและส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง อาคารหลังนี้จึงมีจำนวนห้องพักถึง 100 ห้อง และพื้นที่ปฏิบัติธรรมที่มีขนาดกว้างบนดาดฟ้า
– ปรับองศา เพื่อเปลี่ยนมุมมอง –
ด้วยความที่พื้นที่สร้างติดกับธรรมชาติที่สวยงาม สถาปนิกจึงเลือกวางตำแหน่งอาคารขวางทิศแนวเขาที่เรียงรายกันอยู่ และหักองศาของอาคารบริเวณทางเข้าเล็กน้อย เพื่อไม่ให้อาคารหลังนี้ บดบังทัศนียภาพที่สวยงามของภูเขามากเกินไป นั่นทำให้มุมมองแรกจากทางเดินมายังที่นี่ เห็นเพียงแค่ภาพของธรรมชาติที่สวยงาม ก่อนที่จะค่อยๆเผยให้เห็นตัวอาคารต่อมา นอกจากนี้ยังเป็นการลดทอนแมสของอาคารที่มีขนาดใหญ่อีกด้วย
ผังชั้นล่างของอาคารและชั้นสองของอาคาร แสดงให้เห็นการเปลี่ยนองศาของตัวอาคาร
ส่วนชั้นสอง สาม และสี่ จะเป็นห้องพักสำหรับผู้ที่มาปฏิบัติธรรมเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น
– กระจกเงาบนผืนน้ำ สะท้อนภาพสถาปัตยกรรมและธรรมชาติ –
การที่อาคารรายล้อมไปด้วยบริบทที่สมบูรณ์นั้น ข้อดีคือได้สัมผัสกับธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิด แต่ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาเรื่องของกระแสน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่ จึงต้องมีการขุดบ่อน้ำขนาดใหญ่ด้านหน้าอาคาร เพื่อเป็นแหล่งชะลอและเก็บกักน้ำไว้ใช้ภายในวัด ซึ่งผืนน้ำนั้นยังทำหน้าที่เป็นเหมือนกระจก สะท้อนภาพเงาอันสวยงามระหว่างสถาปัตยกรรมและธรรมชาติรวมไว้ด้วยกัน ส่วนดินที่เกิดจากการขุดนั้นได้นำไปถมพื้นที่บริเวณก่อสร้างอาคาร
– “จังหวะธรรมะ” สู่จังหวะการเปิด-ปิดสถาปัตยกรรม –
“สังเกตว่าเวลา ‘สวดมนต์’ มันจะมีจังหวะเวลาที่ซ้ำและไม่ซ้ำ” คุณสุริยะเริ่มต้นเล่าแนวคิดในการนำจังหวะของการปฏิบัติธรรมอย่างการสวดมนต์ มาใส่ในจังหวะของงานสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ด้วยการกำหนดจังหวะช่องเปิดปิดของอาคาร การซ้ำกันของรูปแบบห้องพักที่มีมากถึง 100 ห้อง และช่องเปิดระหว่างอาคารที่มีความกว้างไม่เท่ากันในแต่ละจุด ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการเลือกเปิดดูจากทัศนียภาพที่สวยงามของมุมมองที่มองผ่านไปยังภูเขา
ช่องเปิดจากภายในอาคารสู่ภายนอก เพื่อให้ลมสามารถพัดผ่านเข้ามาได้
– “ผืนน้ำ” แทนค่า ราวระเบียง –
ช่องเปิดของอาคารหลังนี้ไม่มีระเบียง แต่จะใช้ผิวน้ำเป็นตัวแทนค่าระเบียงและราวกันตก การที่ไม่มีเส้นสายเข้ามาบดบังสายตาทำให้พื้นที่นี้เปรียบดั่งกรอบรูปภาพที่สวยงามของภูเขา ผืนผ้าใบของท้องฟ้า ที่กำลังหยิบยื่นความเป็นธรรมชาติเข้ามาผ่านเงาสะท้อนบนน้ำที่ช่วยเราเห็นภาพเหล่านี้ที่เกิดขึ้นภายนอก ทั้งๆที่อยู่ภายในอาคาร บรรกาศที่เกิดขึ้นจึงมีแต่ความเงียบสงบ
บ่อน้ำมีขนาดกว้างเพื่อเป็นเหมือนราวกันตก ขวางกั้นไม่ให้เกิดอันตรายระหว่างการเดินจงกรมและทำสมาธิ
ภายในพื้นที่ส่วนกลาง อย่างบริเวณช่องเปิดของอาคาร ลานปฏิบัติธรรม จะเห็นได้ว่า “ไม่มีเฟอร์นิเจอร์เลยสักชิ้น” ทั้งนี้เป็นความตั้งใจของสถาปนิก ที่สร้างความเรียบง่ายแฝงไปด้วยสัจจะบางอย่างของพื้นที่ ที่อยากให้ผู้มาปฏิบัติธรรมโฟกัสกับสิ่งตรงหน้าและสัมผัสการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลามากกว่า
“ต่อให้เราดูภาพเขียนที่สวย แต่ถ้าเรายืนในอากาศที่ร้อนจัด มันไม่น่าจะดี เราก็น่าจะมีภาวะตัวเราที่น่าสบายก่อน เราถึงจะรื่นรมณ์กับสิ่งที่มันเกิดขึ้น”
คุณสุริยะเล่าถึงแนวคิดที่ได้นำธรรมชาติเข้ามาสอดแทรกภายในงานสถาปัตยกรรมหลังนี้อย่างแยบยล ด้วยการเจาะพื้นที่อาคารบางส่วนให้ปลอดโปร่งในบริเวณที่มีมีหินน้อยใหญ่บนพื้นที่เดิมเรียงรายเป็นกลุ่มก้อนอยู่ชั้นล่างสุดของอาคาร เพื่อให้สายลมและแสงแดด ไหลผ่านเข้ามาทั่วทั้งพื้นที่ได้
ทางเดินเข้าห้องพักในชั้น 2 – 4 เป็นลักษณะDouble corridor คือมีห้องสองฝั่ง แต่ด้วยการออกแบบที่มีการเจาะช่องเล็กๆล้อมด้วยราวกันตก เชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างชั้นสองไปสู่ชั้นบนสุดที่เป็นสกายไลท์ ช่องนี้เป็นช่องที่ทำให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเทได้ดี และนำพาแสงธรรมชาติเข้ามาสร้างแสงสว่างให้พื้นที่ในเวลากลางวัน ซึ่งทำให้พื้นที่ส่วนกลางของอาคารหลังนี้ไม่มีไฟติดอยู่บนฝ้าเพดานเลย
– เผยเนื้อแท้ของวัสดุที่ไม่ได้มีมูลค่าสูง ให้มีคุณค่าทางจิตใจ –
“ไม่อยากให้นำวัสดุที่มันมีราคาแพงเข้ามาใช้ อยากให้รู้สึกถึงว่า ‘ไม่มีวัสดุเลย’ เราต้องการจะโชว์แค่ความรู้สึกอย่างเดียว ไม่ต้องบอกว่ากระเบื้องยี่ห้ออะไร ปูยังไง ทำเป็นเพลนเดียวเลย ด้วยเทคนิคก่อสร้างและผนังสีขาว ที่เหลือก็เป็นเรื่องของความรู้สึก”
ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของภาพความสวยงามที่ผสมผสานระหว่างคอนกรีตเปือยและผนังที่เลือกทาสีขาวในบางจุด เลือกใช้วัสดุที่ราคาไม่ได้แพงมาทำให้เรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยคุณค่าทางจิตใจ ทางความรู้สึก แสดงถึงสัจจะของวัสดุได้ดี เพราะอยากให้ทุกคนที่มาปฏิบัติธรรมที่นี่ได้สัมผัสถึงแก่นแท้ทางธรรม และความสงบที่เกิดขึ้นควบคู่กับธรรมชาติอย่างแท้จริง
เส้นสายที่เกิดขึ้นระหว่างก่อสร้าง ที่สถาปนิกต้องการให้เป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง อย่างในรูปนี้ที่เป็นรูปผังวัดโบราณ
ถ้าสังเกตดีๆ จะมีการขีดเส้นสายบนพื้น บนฝ้าคอนกรีตเปลือย ซึ่งเป็นความตั้งใจของสถานิกที่อยากใส่องค์ประกอบของเส้นสายที่เกิดขึ้นในงานสถาปัตยยกรรมไทยต่างๆ เข้าไปในงาน
พื้นภายในห้องพักถูกปูด้วยไม้ ในขณะที่ยังคงความเป็นเนื้อแท้ของวัสดุคอนกรีตไว้ที่ด้านบนฝ้า นอกจากนี้ยังมีการใช้กระจกสีเขียวเพื่อป้องกันนกบินมาชนแล้วเจ็บ ซึ่งเหมือนเป็นการทำร้ายสัตว์ทางอ้อม แสดงให้เห็นว่าเรื่องความสวยเป็นรองกว่าการใช้งาน
บานเกล็ดสีเขียวเหนือทางเข้าห้องพัก
“อาคารมันอาจจะหนักหน่วงจริง เพราะว่าหนึ่ง เป็นเรื่องของโครงสร้าง แต่เชื่อได้เลยว่า เวลาเราเข้าไปเราจะรู้สึกเบาสบายด้วยการเจาะช่องอาคาร เพราะสอง เราไม่สังเกตเห็นวัสดุ เราเห็นแค่ว่าเราเดิน เราเห็นภูเขาได้ชัดขึ้น”
เป็นสิ่งที่คุณสุริยะกล่าวปิดท้ายกับเรา ด้วยปัจจัยการอยู่อาศัยภายใต้การออกแบบที่อยู่นอกเหนือสิ่งปลูกสร้าง นั่นคือความรู้สึกนึกคิดของผู้มาปฏิบัติธรรมที่สอดแทรกลงไปในงานออกแบบได้อย่างแนบเนียน