“ทุกวันนี้ภาพของสวนสัตว์ทั่วโลกที่เราคุ้นชิน คงเป็นภาพการเดินชมสัตว์น้อยใหญ่ที่ถูกขังอยู่ในกรง ซึ่งแท้จริงแล้วการอนุรักษ์และเรียนรู้ชีวิตสัตว์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ได้ถูกออกแบบด้วยการมองความจริงถึงคุณภาพชีวิตของสัตว์อย่างแท้จริงแล้วหรือยัง?”
ความคิดเหล่านี้ทำให้ Archstorming บริษัทจัดการประกวดที่เผยความคิดทางสถาปัตยกรรมและการแก้ปัญหาด้าน urbanistic และยังตอบสนองความต้องการของสังคมและพยายามสร้างโลกใบนี้ในทางที่ดีขึ้น ได้จัดการประกวดการออกแบบสวนวัตว์ “Coexist: Rethinking Zoos” ซึ่งเป็นโครงการออกแบบสวนสัตว์ล่าสุดในศตวรรษที่ 21 ในเมืองบาร์เซโลนา เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการนำแนวคิดสวนสัตว์ใหม่ โดยให้ความสำคัญกับสัตว์และการอนุรักษ์ของพวกเขามากกว่าการจัดนิทรรศการให้กับมนุษย์
โดยทาง Archstorming ได้ทำการคัดเลือกผู้ชนะ 3 อันดับแรก จากผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมส่งผลงานมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก และที่น่ายินดีไปมากกว่านั้น คือผลงานที่ชนะเลิศโครงการออกแบบสวนสัวต์นี้เป็น “ฝีมือการออกแบบจากคนไทย” กับแนวความคิดที่มีชื่อว่า “RE-HABITAT” ออกแบบโดย WORAWUT OER-AREEMITR, CHANAKARN ASSAVASIRISILP, THAKAN NAVAPAKPILAI, BEMJAMA PRASERTPAN
พื้นที่ที่เป็นโจทย์สำหรับการนำเสนอแนวทางแก้ไขคือสวนสัตว์ในเมืองบาร์เซโลนา ซึ่งมีความมุ่งมั่นที่จะให้ความสำคัญกับการเป็นอยู่ของสัตว์ในสวนสัตว์ การออกแบบสร้างสรรค์ทางเลือกใหม่ ๆ สำหรับการมีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ เช่น การสร้างเส้นทางที่ไม่ก้าวก่ายความเป็นอยู่ของสัตว์หรือแม้กระทั่งการนำเทคโนโลยีเสมือนจริง 3 มิติมาเป็นทางเลือก เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของสัตว์และธรรมชาติ ซึ่งยังมีทางเลือกอีกหลายทางที่จะทำให้นักท่องเที่ยวได้เข้าใจวิถีความเป็นอยู่ของสัตว์อย่างเป็นมิตรและยั่งยืน
แทนที่จะใช้การล้อมรั้วเพื่อกั้นอาณาเขตใหม่สำหรับสัตว์เหมือนกับสวนสัตว์ทั่วไป ทางทีมออกแบบคิดว่าสวนสัตว์ควรจะเป็นส่วนหนึ่งของเมืองมากกว่าที่จะแยกตัวออกมา จากการศึกษาบริบทโดยรอบและเงื่อนไขเฉพาะในความเป็นอยู่ของสัตว์จนกลายมาเป็นแนววคิด “การอยู่ร่วมกันแบบใหม่ระหว่างสัตว์และมนุษย์” ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงและเรียนรู้สัตว์ทั้งหลายตามธรรมชาติได้อย่างถูกต้อง โดยมีชื่อเรียกว่า “Habitat Parc” การทำลายกำแพงกั้นระหว่างมนุษย์และสัตว์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะนำพาเราไปสู่การยกระดับความเป็นอยู่ของสัตว์และการเพิ่มความตระหนักในการอนุรักษ์เพื่อนสัตว์ทั้งหลาย
ไดอะแกรมแสดงการวางโซนนิ่งภายในสวนสัตว์
ไดอะแกรมSection แสดงพฤติกรรมหรือกิจกรรมของคนที่สามารถอยู่ร่วมกับสัตว์ได้ในชีวิตจริง เป็นมากกว่าการเข้ามาชมสัตว์แบบเป็นนิทรรศการ โดยที่ไม่รบกวนการใช้ชีวิตของกันและกัน
ผลงานอันดับที่สอง เป็นของ elias vogel and estelle filliat จากประเทศฝรั่งเศส ด้วยแนวคิดออกแบบสะพานแขวนแทรกตัวอยู่เหนือพื้นที่ของสัตว์ต่างๆ
ส่วนผลงานอันดับที่สาม “Limit” ผลงานของ Pinar Kesim Aktaş, Mehmet Cemil Aktaş, Ekin Şeker, Nergis Aşa จากประเทศตุรกี
และนี่เป็นเพียงตัวอย่างการออกแบบที่ทำให้ผู้คนตระหนักว่าสวนสัตว์ไม่ใช่เพียงพื้นที่ที่กักขังสัตว์ไว้ มีแค่อาหารให้แค่นั้น หากมนุษย์ต้องเข้าใจพฤติกรรม สภาพสิ่งแวดล้อมที่สัตว์ในที่อยู่เดิม วิถีการเป็นอยู่เดิม พฤติกรรมของสัตว์แต่สายพันธุ์ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง และการออกแบบที่อยู่ในสวนสัตว์นั้น ควรเอื้อให้สัตว์สามารถใช้ชีวิตแบบในธรรมชาติแท้ๆได้มากเท่าที่จะมากได้
อ่านแนวคิดการออกแบบสวนสัตว์ดีๆเพิ่มเติมได้ที่… archstorming
ขอบคุณข้อมูลจาก designboom และ archdaily