OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Sponge House บ้านที่มีรูพรุน เพื่อดูดซับธรรมชาติ

Sponge House ที่พักอาศัยซึ่งเกิดจากการคว้านสเปซภายในบ้าน ภายใต้แนวคิดการดูดซับแสง ลม และ ธรรมชาติ

Location: Bangkok, Thailand

Owner: Pongpreeya Kittikunanant

Architect: Pawan Ritipong, Acharayu Intathep, Mananuj Ritipong, RAD Studios

Photograph: Jinnawat Borihankijanan

“เพราะประเทศไทยเป็นเมืองร้อน เราก็ควรจะปรับตัวและอาศัยอยู่ในสภาพอากาศแบบนี้ได้ และการออกแบบบ้านให้เปิดรับธรรมชาติก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมันเป็นความรู้พื้นฐานที่เราเรียนมานั่นแหละครับ” นี่คือประโยคที่คุณปูน ปวัน ฤทธิพงศ์ สถาปนิกผู้ออกแบบบ้านกล่าวกับเราตั้งแต่ตอนแรก เพราะแนวคิดของ บ้านหลังนี้คือการคำนึงถึงสภาวะอยู่สบายเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในท้ายที่สุดจึงก่อเกิดเป็นอาคารที่มีรูพรุนคล้ายกับฟองน้ำเพื่อดูดซับลม แสงแดด และธรรมชาติ เข้ามาสู่สเปซภายในบ้าน …

บ้านเดิมก่อนจะทำการรื้อออก

– บ้านหลังใหม่ บนพื้นที่เก่า –

จากบ้านพักหลังเก่า 2 ชั้นที่ทึบตัน มีการระบายอากาศที่ค่อนข้างน้อย เพราะมีพื้นที่การใช้งานอย่างจำกัด ประกอบกับขนาดบ้านที่มีหน้ากว้างแคบแต่ด้านยาวลึก จึงทำให้บางสเปซในบ้านได้รับแสงธรรมชาติไม่เพียงพอ คุณปอง ปองปรียา กิตติคุณานันต์ เจ้าของบ้านจึงต้องการสร้างบ้านหลังใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาตามข้างต้น โดยมีคุณปูน ปวัน ฤทธิพงศ์ สถาปนิกจาก RAD Studios เป็นผู้ออกแบบบ้านหลังใหม่ และเมื่อคุณปูนได้เข้ามาดูบ้านเดิมของคุณปองแล้ว ก็ตัดสินใจว่าจะทุบบ้านเก่าทิ้งและสร้างบ้านใหม่บนที่ดินของบ้านเก่าแทน สาเหตุที่ต้องการทุบบ้านเก่าทิ้งนั่นเป็นเพราะสภาพบ้านเก่าค่อนข้างทรุดโทรม มีช่องเปิดน้อย และคุณปองต้องการขยับขยายพื้นที่ในบ้านนั่นเอง

คุณปูน ปวัน ฤทธิพงศ์  สถาปนิกจาก RAD Studio ผู้ออกแบบบ้าน

บ้านหลังใหม่นี้มีพื้นที่ 300 ตารางเมตร เป็นบ้านขนาด 2 ชั้น ที่มีห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องนอน คล้ายกับบ้านตามทั่วไป แต่แตกต่างตรงที่ฟังก์ชันภายในบ้านระหว่างชั้น 1 และชั้น 2 นั้นจะคล้ายกันทุกประการ กล่าวคือ จะมีห้องครัว ห้องนั่งเล่น ห้องนอน อยู่ทั้งชั้น 1 และชั้น 2 เปรียบเสมือนมีบ้าน 2 หลังอยู่ในบ้านเดียว เป็นการแบ่งแยกสเปซระหว่างคุณพ่อ คุณแม่ และคุณปองด้วยการสร้างพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น แต่ก็มีพื้นที่ร่วมกันดังเดิม โดยใช้ระยะเวลาในการออกแบบและก่อสร้างทั้งหมด 2 ปี

– บ้านที่รับแสงและลมได้ดีดั่งฟองน้ำ –

“บางครั้ง แนวคิดงานออกแบบก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากการสร้างเสมอไป หากการตัดออก การคว้านก็สามารถสร้างสิ่งที่น่าสนใจหรือสิ่งที่คาดไม่ถึงได้ไม่หยิ่งหย่อนไปกว่ากัน” คุณปูน สถาปนิกผู้ออกแบบกล่าว

ไดอะแกรมแสดงการเจาะช่องเปิดหลากหลายขนาดและพื้นที่ เพื่อนำแสงและลมเข้าสู่พื้นที่ภายในบ้าน

แนวคิดของบ้านหลังนี้เริ่มต้นฟองน้ำ สัตว์ที่มีรูพรุนเพื่อเป็นช่องทางผ่านให้น้ำเข้าไปในลำตัว โดยบ้านหลังนี้จะมีช่องเปิดคล้ายกับรูพรุนของฟองน้ำ เพื่อทำการแบ่งพื้นที่ใช้งานในบ้าน กำหนดช่องทางให้แสง ลม และธรรมชาติเข้าสู่ทุกพื้นที่ในบ้าน และทุกพื้นที่ ที่มีการเจาะ คว้าน เพื่อให้เกิดรูพรุนนั้นยังช่วยให้ภายในบ้านเกิดคุณภาพสเปซที่ดีอีกด้วย

คุณปูนเริ่มออกแบบบ้านจากการสร้างรูปทรงสี่เหลี่ยมให้พื้นที่ครอบคลุมไซท์ จากนั้นจึงเริ่มออกแบบโดยการคว้านพื้นที่บางส่วนของก้อนสี่เหลี่ยมออก กลายเป็นส่วนฟังก์ชัน ส่วนนั่งเล่น คอร์ทยาร์ดกลางบ้าน บันได และห้องต่างๆ จากนั้นจึงทำการคว้านสเปซเพิ่มเติมบางส่วนเพื่อกำหนดช่องเปิด ให้ลม แสงแดดและธรรมชาติเข้าถึงทุกพื้นที่ภายในบ้าน โดยขนาดและรูปแบบที่ทำการคว้านจะมีขนาดที่ไม่เท่ากัน อิงจากการใช้งานในแต่ละพื้นที่ คล้ายกับฟองน้ำที่มีรูพรุนนั่นเอง

ผังอาคารชั้น 1

ผังอาคารชั้น 2

เหตุผลในการเจาะช่องเปิดต่างๆภายในบ้านนั้น เพื่อนำแสงสว่างและเพิ่มทิศทางลมเข้าสู่พื้นที่ในบ้าน จากเดิมบ้านเก่าของคุณปองที่มีลักษณะปิดทึบ มีหน้าต่างค่อนข้างน้อย จึงทำให้ลมไม่ผ่านเข้ามาในบ้าน มักจะต้องเปิดแอร์คอนดิชั่นตลอดทั้งวัน แต่พอคุณปูนได้ทำการออกแบบบ้านใหม่มีช่องเปิดกระจายอยู่ทั่วบ้านและอยู่ตรงกับทิศทางลม แค่ผู้ใช้งานเปิดหน้าต่างก็สามารถสัมผัสความเย็นจากลมที่พัดผ่านแล้ว

– ช่องเปิดและการถ่ายเทอากาศ –

จากแนวคิดของบ้านคือฟองน้ำที่มีรูพรุน ภายในบ้านจึงมีหน้าต่างและช่องเปิดหลากหลายขนาดและตำแหน่ง บางส่วนมีหน้าต่างอยู่ติดกับพื้น ซึ่งในส่วนนี้เกิดจากการคว้านแบบแรนดอม เพื่อให้เกิดความสมดุลเมื่อมองจากภายนอก และสร้างมุมมองที่แตกต่างแม้จะอยู่ในระดับพื้นที่ต่างกันจากภายใน เช่น ระหว่างเดินขึ้นบันไดขึ้นชั้น 2 จะมีช่วงหนึ่งที่จะพบช่องหน้าต่างอยู่ตรงกับระดับสายตา แต่เมื่อเดินขึ้นมาข้างบนสุด หน้าต่างนี้ก็จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกตินั่นเอง

ช่องเปิดขนาดใหญ่ภายในบ้าน มีเพื่อเชื่อมสเปซระหว่างพื้นที่ของคุณพ่อ คุณแม่ และคุณปอง ซึ่งจะอยู่ในบริเวณทางเดินขึ้นบันไดไปสู่ชั้น 2

สกายไลท์ที่อยู่ในส่วนทางเดินขึ้นชั้น 2 เกิดจากการใช้กระเบื้องหลังคาลอนใสแทนลอนทึบ ช่วยให้เกิดช่องแสงส่องลงมายังพื้นที่ชั้น 1 ให้ความรู้สึกคล้ายกับการถูกคว้านสเปซจากข้างบน

บริเวณฝ้าเพดานถูกเจาะในรูปแบบสี่เหลี่ยมล้อไปกับตัวผนังอาคาร 

ฟาซาดอาคารเป็นฟาซาดที่ซ้อนกัน 2 ชั้น ชั้นในสุดจะเป็นช่องเปิดรับลมจากภายนอก ส่วนชั้นนอกเป็นระแนงอลูมิเนียมที่เกิดขึ้นจากความต้องการสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้พักอาศัย พรางสายตาจากผู้คนภายนอก แต่ในขณะเดียวกันก็ผู้พักอาศัยก็ยังสามารถเปิดหน้าต่างภายใน เพื่อให้เกิดการระบายอากาศในบ้านได้

– ทำไมถึงเป็นสีขาว ? –

“งานออกแบบอินทีเรียแบบบิลด์อินควรแสดงตัวให้น้อยที่สุด เพราะเจ้าของบ้านจะมาแต่งเติมเพิ่มเองในภายหลัง คล้ายกับการสร้างบ้านที่เป็นเหมือนผืนผ้าใบว่างเปล่าในตอนแรก แต่ในท้ายที่สุดผ้าใบผืนนี้จะถูกเติมเต็มด้วยสีสันในแบบที่เจ้าของอาคารชื่นชอบ” คุณปูนกล่าว

เฟอร์นิเจอร์บิลด์อินชั้น 1

เฟอรนิเจอร์บิลด์อินชั้น  2

เนื่องจากคุณพ่อและคุณแม่ของเจ้าของบ้านชอบอาคารสไตล์ Comtemporary มีกลิ่นอายของความเป็นไทย แต่คุณปองชอบสไตล์สแกนดิเนเวียน สถาปนิกจึงเลือกออกแบบบ้านในโทนสีขาวคล้ายกับผืนผ้าใบเพื่อผสานรวมทั้ง 2 สไตล์และใช้วัสดุเป็นส่วนเชื่อมต่อพื้นที่เข้าไว้ด้วยกัน เช่น ในชั้น 1 และชั้น 2 ใช้กระเบื้องยางลายไม้เป็นวัสดุปูพื้นเหมือนกัน แต่มีลายและรูปแบบการวางที่ไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์บิ้ลด์อินของทั้ง 2 ชั้นก็จะมีรูปแบบที่คล้ายกันแต่รายละเอียดบางส่วนจะต่างกัน เช่น เฟอร์นิเจอร์ในชั้น 1 จะมีดีเทลการฉลุลายคล้ายกับเฟอร์นิเจอร์ไม้ในสมัยก่อน ส่วนชั้น 2 จะเป็นแบบเรียบง่าย มีเส้นสายองค์และประกอบค่อนข้างน้อยนั่นเอง ถึงแม้ว่าคุณพ่อ คุณแม่ และคุณปองจะชื่นชอบในสไตล์ต่างกัน แต่ภาพรวมและ Mood & Tone ภายในบ้านจะมีความคล้ายคลึงกัน

– ฟังก์ชันและวัสดุ –

สถาปนิกออกแบบผนังด้านที่ติดกับเพื่อนบ้านเป็นผนังทึบทั้งหมด เพื่อเว้นระยะจาก Setback 50 เซนติเมตร ตามกฎหมาย ทำให้เกิดพื้นที่ใช้สอยมากที่สุด และเลือกที่จะเปิดช่องว่างตรงคอร์ทกลางบ้าน สร้างทิวทัศน์จากภายในแทน เพราะบริบทรอบข้างเป็นเขตที่พักอาศัย ซึ่งมีบ้านใกล้เรือนเคียงค่อนข้างติดกัน และการมีคอร์ทยาร์ดกลางบ้านยังเป็นการสร้างช่องเปิดเพื่อให้ลมและแสงแดดเข้าถึงภายในบ้านมากขึ้นอีกด้วย โดยเกือบทุกห้องภายในบ้านจะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของคอร์ทยาร์ดนี้

บันไดและโถงทางเดิน

ภายในบ้านประกอบด้วยพื้นที่ 2 ชั้น เมื่อเดินเข้ามาในบ้านจะพบกับพื้นที่กึ่งสาธารณะ นั่นคือส่วนของโถง ห้องนั่งเล่น และห้องครัว เมื่อเดินออกไปถึงจะเป็นห้องนอนของคุณพ่อกับคุณแม่ ในขณะที่ประตูทางเข้าอีกบาน เมื่อเปิดแล้วจะพบกับบันไดขึ้นไปที่ชั้น 2 ซึ่งเป็นพื้นที่ของคุณปอโดยทันที ซึ่งพื้นที่ชั้น 2 นี้ จะมีฟังก์ชันที่คล้ายคลึงกับชั้น 1 นั่นเอง

ห้องนั่งเล่นชั้น 1 และชั้น 2

ในส่วนชั้น 1 จะมีความกว้างกว่าชั้น 2 เนื่องจากมีพื้นที่ค่อนข้างเยอะ โถงกลางบ้านเป็น Double Volume ที่มีความโล่งและโปร่งมากที่สุด เพราะส่วนนี้เป็นส่วนที่เจ้าของบ้านทั้ง 3 ท่าน เข้ามาใช้งานบ่อยที่สุด เป็นพื้นที่ในการเชื่อมความสัมพันธ์ อีกทั้งด้านหลังของบ้านเป็นทิศใต้จะมีช่องเปิดขนาดเล็ก ซึ่งลมจะพัดมาจากทิศนี้ ส่วนหน้าบ้านจะมีช่องเปิดขนาดใหญ่ ดังนั้นเมื่อเปิดหน้าต่างระหว่างด้านหน้าและด้านหลังจะทำให้มีลมพัดผ่านในบ้านตลอดทั้งวัน

คุณปูนได้ออกแบบตะแกรงเหล็กฉีกบริเวณบันได ซึ่งมีแพทเทิร์นแตกต่างจากส่วนอื่นในบ้าน เป็นการเลือกใช้วัสดุและรูปแบบที่ต่างออกไปแต่คุมโทนสีขาว ช่วยให้บรรยากาศของบ้านเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

บ้านหลังนี้มีความสนุกและความมีชีวิตชีวาแอบซ่อนอยู่ เมื่อมองจากข้างนอกจะไม่ทราบเลยว่า ภายในมีส่วนที่น่าสนใจมากมาย เช่น เมื่อเข้าบ้านแล้วจะเห็นต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่กลางบ้าน มีหน้าต่างที่ถูกเจาะด้วยสัดส่วนต่างกัน หรือแม้แต่การแบ่งพื้นที่การใช้งานระหว่างชั้น 1 และชั้น 2 อย่างชัดเจน ถึงแม้ Sponge House จะเป็นบ้านขนาดเล็ก แต่กลับมีแนวคิดอันซับซ้อนและมีการออกแบบพื้นที่ได้อย่างน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading