“เมื่อระบบการเดินทางของเมืองเปลี่ยน ชีวิตผู้คนเสมือนถูกตัดขาดด้วยเส้นทางคมนาคมใหม่ๆ พื้นที่รอยต่อระหว่างคลองและรถไฟฟ้าจะเป็นอย่างไรเพื่อประโยชน์ของคนเมือง และจะเชื่อมโยงทั้งผู้ใช้รถไฟฟ้ากับผู้ใช้ชีวิตในเส้นทางคลองเดิมในรูปแบบใด” ASA CAN WORKSHOP 2018
ท่ามกลางการใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบของคนเมืองผ่านการคมนาคมจากทางรถยนต์และรถไฟฟ้า ชีวิตที่คล้ายกับถูกจำกัดอยู่แค่การเดินทางประเภทนี้เท่านั้น หากจริงๆแล้วยังมีอีกหนึ่งเส้นทางซึ่งเป็นทางผ่านแต่กลับไม่ได้แสดงออกซักเท่าไหร่นัก นั้นคือการคมนาคมทางทางเรือ ลัดเลาะเส้นทางผ่านตามคลองและแม่น้ำต่างๆ ถึงแม้ว่าวิถีชีวิตที่เร่งรีบของคนเมืองและความสบายๆของชุมชนริมน้ำจะดูสวนทางกัน แต่ทั้ง 2 พื้นที่ก็มีรอยต่อเชื่อมถึงกัน ซึ่งเราจะออกแบบพื้นที่รอยต่อนี้ให้เกิดความเชื่อมโยงสร้างปฎิสัมพันธ์ของคนเมืองและคนริมน้ำได้อย่างไร ?
ทางสมาคมสถาปนิกแห่งสยามหรือ ASA จึงร่วมมือกับกรรมาธิการสถาปนิกเพื่อสังคมและเมือง กรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ASA VERNADOC ร่วมด้วยสถาบันอาศรมศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร และ ม.รังสิต สถาปนิกจาก CROSSs และเหล่านักศึกษาสถาปัตยกรรมจากหลากหลายมหาวิทยาลัย เล็งเห็นความสำคัญในจุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าและการเดินเรือ จึงเกิดโครงการเวิร์คช้อป ASA CAN WORKSHOP รถไฟฟ้ามาหานะคลอง เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาการใช้ชีวิตทั้ง 2 แบบ ให้เกิดการเชื่อมโยงผ่านการออกแบบนั่นเอง
– เรียนรู้และอนุรักษ์คลอง –
“เราจะพบเรื่องราวระหว่างการสัญจรโดยเรือผ่านคลองต่างๆ เพราะชุมชนริมน้ำมีอะไรที่มากกว่าการใกล้ชิดกับน้ำ มากกว่าการเป็นตลาดน้ำ แต่ละชุมชนต่างก็มีประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตที่น่าสนใจ ซึ่งการที่จะนำเสนอมรดกทางวัฒนธรรมนี้ เราจะต้องสื่อสารผ่านทางนิทรรศการ รูปวาด Installation และทั้งหมดนี้จึงเกิดเป็นโปรเจครถไฟฟ้ามาหานะคลองขึ้นมา” ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ ประธานกรรมาธิการสถาปนิกเพื่อสังคมและเมือง สมาคมสถาปนิกสยามฯ กล่าว
นักศึกษาสถาปัตยกรรมจำนวน 44 คนพร้อมทั้งอาจารย์และที่ปรึกษาซึ่งเข้าร่วมโครงการนี้ จะถูกแบ่งพื้นที่ในการทำเวิร์คช้อปออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ชุมชนวัดกำแพงบางจาก(คลองหลวง) และ ชุมชนท่าแพ(วัดหนังราชวรวิหาร) ซึ่งทั้ง 2 ชุมชนนี้มีวิถีชีวิตริมคลองมาตั้งแต่สมัยก่อน โดยในชุมชนจะมีทั้งวัด ตลาด และการใช้ชีวิตที่น่าสนใจ พร้อมทั้งมีศักยภาพในการสร้างการพัฒนาให้กับชุมชน ซึ่งนักศึกษาทั้ง 2 กลุ่มนี้มีเป้าหมายเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาพื้นที่ริมคลองให้เจริญก้าวหน้า พร้อมทั้งเกิดการเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่บนรถไฟฟ้าและเรือมากขึ้น
– ชุมชนวัดกำแพงบางจาก คลองบางหลวง –
ชุมชนคลองบางหลวงเป็นกลุ่มชุมชนที่เข็มแข็ง มีการดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของผู้คนตลอดเส้นทางการเดินเรือริมคลอง เช่น บ้านไม้เก่าที่ยังมีผู้พักอาศัยอยู่ บ้านที่ถูกดัดแปลงเป็นร้านอาหารหรือร้านกาแฟ บ้านศิลปินแหล่งรวมศิลปะ มีการแสดงโชว์หุ่นละครเล็กตลอดวัน และยังมีวัดกำแพงบางจากซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นวัดที่สามารถคงสภาพเดิมทั้งทางสถาปัตยกรรมและประติมากรรมได้เกือบครบถ้วน เพราะสถานที่ตั้งของวัดแห่งนี้อยู่ค่อนข้างไกลจากเส้นทางคมนาคม และเป็นวัดที่มีขนาดเล็ก จะเห็นได้ว่าเรื่องราวของทางชุมชนมีความน่าสนใจ ยิ่งไปกว่านั้นถ้าชุมชนเกิดการพัฒนา ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนก็จะดีขึ้น คล้ายกับการฟื้นคืนชีพและเพิ่มเติมสีสันให้กับผู้คนในชุมชน
นักศึกษากลุ่มคลองบางหลวงเริ่มจากการศึกษาและพูดคุยกับทางชุมชนว่ามีอะไรที่น่าสนใจ หรือมีส่วนไหนที่สามารถนำมาออกแบบเพื่อพัฒนาพื้นที่ได้ เมื่อได้พูดคุยกับทางชุมชนแล้วนักศึกษาจึงเกิดความคิดในการสร้างพื้นที่ Common Space เป็นมีสถานที่ ที่สามารถมาแบ่งปันพูดคุยเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับพวกเขา และสำหรับเด็กๆในชุมชนก็จะมีพื้นที่ในการวิ่งเล่น ในการเจอกันมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีการออกแบบ Installation ต่างๆ ตั้งแต่เส้นทาง Skywalk จากรถไฟฟ้าบางหว้าจนถึงท่าเรือในบริเวณใกล้เคียง
งาน Installation ของนักศึกษากลุ่มคลองบางหลวงที่ออกแบบพื้นที่ให้เป็นจุดสังเกตด้วยภาพวาด ภาพถ่าย และสติ๊กเกอร์ปลา ในบริเวณ Skywalk ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าบางหว้าและท่าเรือบางหว้า
Installation รูปหน้าแมวที่สื่อถึงบ้านแมวในชุมชนคลองบางหลวง โดยผลงานชิ้นนี้เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทางนักศึกษาและเด็กๆในชุมชน ที่อยากจะนำเสนอเอกลักษณ์และวิถีชีวิตของทางชุมชนให้เห็นเด่นชัดมากขึ้น
– วัดหนังราชวรวิหาร ชุมชนท่าแพ –
วัดหนังราชวรวิหาร ชุมชนท่าแพเป็นชุมชนที่มีศักยภาพ โดยพวกเขาอาศัยอยู่ ณ พื้นที่แห่งนี้ตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา ภายในชุมชนมีสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่นวัดราชโอรสามหาราชวรวิหารหรือวัดจอมทอง วัดนางนอง และวัดหนังราชวรวิหาร เสมือนเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ ที่มีสถาปัตยกรรมสมัยก่อนมากมาย
นักศึกษากลุ่มที่ 2 เริ่มจากการจัดการประชุมสร้างพื้นที่ส่วนกลาง ให้ผู้คนในชุมชนออกมาแสดงความคิดเห็นร่วมกัน จากนั้นจึงได้ทำการสร้างสรรค์แผนที่ท่องเที่ยวสำหรับบุคคลที่สนใจ เป็นจุดเริ่มต้นในการประชาสัมพันธ์ชุมชน เพื่อส่งผลต่อการพัฒนาสืบต่อไป กิจกรรมภายในวัดหนังจะมีการจัดแสดงภาพถ่ายอาคารบ้านเรือน วัด และผู้คนในชุมชน มีการวาดภาพสถาปัตยกรรม(ASA CAN Vernadoc) สะท้อนวิถีชีวิตริมคลอง
ภาพวาดจากมุมมองของเด็กๆในชุมชน
การเริ่มต้นจัดนิทรรศการหรือ Installation นี้ สามารถจุดประกายให้กับผู้คนในชุมชน ผ่านการช่วยให้ชุมชนเห็นศักยภาพของตนเอง เช่น จากพื้นที่โล่งในวัดกำแพงกลับกลายเป็นพื้นที่ Common area และจากพื้นที่ ที่ดูไม่มีอะไรในวัดหนังราชวรวิหาร ก็ได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่จัดงานแสดงนิทรรศการ หรือแม้แต่บ้านที่ดูเก่าและทรุดโทรม เมื่อทาง Vernadoc ได้เข้ามาวาดก็เห็นถึงความสวยงามที่แอบซ่อนไว้อยู่ภายใน ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้เป็นการช่วยให้ชุมชนตระหนักรู้ในสิ่งที่มี รับรู้และจุดประกายให้เกิดการพัฒนาต่อยอดยิ่งขึ้น
การลงพื้นที่ศึกษาในครั้งนี้นอกจากทางนักศึกษาจะได้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการออกแบบเพื่อชุมชนแล้ว ทางชุมชนก็ยังได้ประโยชน์จากการช่วยพัฒนาพื้นที่ การประชาสัมพันธ์ชุมชนในอีกทางหนึ่ง เพราะการฟื้นฟูพื้นที่ริมน้ำนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่มากกว่าการมีร้านค้าขายของริมน้ำ การนั่งเรือชมทิวทัศน์ตลอดข้างทาง หากแต่ยังมีเรื่องราวของวิถีชีวิต สถาปัตยกรรมเก่าแก่ และบรรยากาศอันสงบเงียบริมน้ำซึ่งหาได้ค่อนข้างยากจากในเมืองกรุง เรื่องราวการจัดแสดงเวิร์คช้อปในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของก้าวเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ในการพัฒนาชุมชนริมน้ำ และเชื่อมต่อพื้นที่สังคมเมืองและวิถีชีวิตริมน้ำเข้าด้วยกัน ในขณะที่ผู้คนในพื้นที่เกิดการพัฒนา ผู้คนทั่วไปก็สามารถเข้าถึงในพื้นที่ได้มากขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงผ่านเส้นทางคมนาคมที่ต่างใช้งานกันเป็นประจำนั่นเอง
SomethingMore
- สามารถนั่งเรือจากท่าน้ำบริเวณ BTS บางหว้า สู่คลองบางหลวงในระยะเวลาประมาณ 15 นาที แต่บรรยากาศทั้ง 2 สถานที่นั้นมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
- บ้านศิลปินเกิดจากคนนอกพื้นที่ ที่เล็งเห็นศักยภาพที่ดีของคลองบางหลวง จึงได้เข้ามาพัฒนาและสร้างสรรค์บ้านศิลปินขึ้นมา
- ทางกรุงเทพมหานครได้เปิดทดลองการเดินเรือเส้นทางใหม่จากท่าเรือสะพานตากสิน-เพชรเกษม ( BTS บางหว้า) คลองภาษีเจริญ ถึง ท่าเรือวัดกำแพงบางจากคลองบางกอกใหญ่ ทำให้การเข้าถึงพื้นที่ในชุมชนสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น