OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

ไอเดียแบ่งเฟรมประตู-หน้าต่าง ให้สวยงามและลงตัว

เพราะประตู-หน้าต่างนั้น ทำหน้าที่ไม่ต่างจากหน้าตาของบ้าน นอกจากเป็นจุดเด่นที่สามารถสังเกตเห็นได้ก่อนแล้ว เส้นสายที่เกิดจากวงกบและกรอบบาน ยังช่วยสร้างเอกลักษณ์และแนวคิดของอาคารให้น่าสนใจมากขึ้นด้วย

ซึ่งในการออกแบบเส้นสายของการแบ่งบานนั้น ต้องคำนึงถึงการใช้งานเป็นอันดับแรก ว่าบริเวณนั้นเราจะทำบานอะไร เช่น บานเปิด บานเลื่อน บานเฟี้ยม หรือบานช่องแสง ออกแบบขนาดของช่องให้เหมาะสมกับการใช้งานก่อน ส่วนเส้นสายที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น อาจเป็นการเพิ่มเติมเพื่อให้ตัวอาคารดูน่าสนใจขึ้น ทั้งหมดนี้คือไอเดียในการซอยเฟรมประตู-หน้าต่างที่เรานำมาฝากกันครับ

กว้างแคบตามจังหวะ สูงจรดพื้นถึงฝ้า

สำหรับรูปแบบสไตล์โมเดิร์น ที่ไม่ต้องการเฟรมแนวนอนมาขัดตาขัดใจ จึงนิยมให้เพียงเส้นตั้งของเฟรม เพื่อให้ภาพรวมและรูปด้านมีเส้นสายที่น้อยที่สุด แต่ยังคงสามารถเพิ่มความน่าสนใจโดยการแบ่งระยะของเฟรมตั้งที่ไม่เท่ากัน กว้างบ้าง แคบบ้าง ทั้งนี้ต้องพิจารณาลักษณะการใช้งานหรือการเปิด-ปิด ควบคู่กันไปอย่างเหมาะสมด้วย ทั้งนี้เฟรมรูปแบบนี้อาจเหมาะกับความสูงของบานที่ไม่มากเกินไป (ไม่เกิน 3 – 3.5 เมตร) เพราะไม่มีเฟรมนอนคอยเพิ่มความแข็งแรงนั่นเอง

หน้าต่างเข้ามุมเปิดโล่ง ไร้เฟรมตั้ง

หน้าต่างเข้ามุมถือเป็นท่าไม้ตายของเหล่าสถาปนิก ยามที่ต้องการให้ห้องดูโปร่ง ดูกว้าง เพราะการออกแบบหน้าต่างเข้ามุมนั้นคือการออกแบบส่วนของโครงสร้างเสาให้เลื่อนออกมา ไม่ได้อยู่ที่มุมของห้อง และใช้การยื่นคานมาชนกันที่มุมห้องนั้นแทน เพิ่มความน่าสนใจของช่องเปิดนี้ โดยการออกแบบให้กระจกใสนั้นวิ่งมาชนกัน โดยไม่มีเฟรมแนวตั้งมาเป็นจุดต่อ ห้องก็จะยิ่งดูโปร่งและสบายตามากขึ้นไปอีกขั้น

เส้นสายแนวนอน เพิ่มมุมให้ห้องดูกว้างขึ้น

คือทฤษฎีการออกแบบเส้นสายที่สร้างความรู้สึก เส้นนอนสร้างความรู้สึกของการยืดขยายในแนวนอนมากยิ่งขึ้น เหมาะกับการใช้ภายในห้องที่ต้องการเพิ่มมุมมองให้ดูกว้างขวาง เพิ่มความรู้สึกในการมองเห็นให้กว้างไกลมากขึ้น ทั้งนี้อาจพิจารณาออกแบบให้มีเส้นตั้งแทรกบ้างในบางจุดเพิ่มความแข็งแรงของตัวบาน

เส้นสายแนวตั้ง เพิ่มมุมให้ห้องดูสูงโปร่งขึ้น

สำหรับห้องที่มีฝ้าสูง Double Space ห้องฝ้าสูง 2 ชั้น และมีบานหน้าต่างสูงส่วนนี้ การออกแบบให้เฟรมมีลักษณะแคบสูงนั้น ช่วยเน้นให้พื้นที่นี้ดูชะรูดและสูงโปร่งมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ไม่ดูเรียบโล้นจนเกินไป แต่การออกแบบบานสูงขนาดนี้ ต้องมีการออกแบบโครงสร้างของเฟรมพิเศษ ที่มีความแข็งแรงที่สามารถใช้กับพื้นที่นี้โดยเฉพาะ

แบ่งเท่าๆกัน เป็นจัตุรัส เพิ่มความอบอุ่นสไตล์วินเทจ

การแบ่งเฟรมให้เป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส จะทำให้อาคารหรือห้องนั้นดูนุ่มนวล และเข้ากับสไตล์วินเทจหรือคลาสสิคมากขึ้น เพราะรูปแบบของสไตล์วินเทจและคลาสสิค ต้องการรายละเอียดในทุกๆส่วนของการตกแต่ง การที่แบ่งตัวบานให้เป็นช่องๆนั้น จึงดูจะเหมาะกับรูปแบบนี้ ทั้งนี้ยังช่วยให้ตัวบานแข็งแรงจากการมีเฟรมนอนหลายตัวอีกด้วย โดยสีสันก็เป็นสิ่งสำคัญ อาจพิจารณาเป็นสีโทนอ่อนอย่างขาวหรือครีม เพื่อให้เข้ากับความนุ่มนวลและสไตล์วินเทจและคลาสสิค

แบ่งตามใจชอบ แต่เป็นระเบียบในการก่อสร้าง

หลายครั้งที่เราอยากหลุดออกจากเส้นสายของเฟรมแบบเดิมๆ การแบ่งโดยการคละระยะ คละขนาดช่องหน้าต่าง ก็เป็นการแก้ความเบื่อนี้ได้ดี แต่ทั้งหมดนั้นต้องถูกออกแบบและคิดเรื่องการรับน้ำหนักของตัวเฟรมมาแล้ว อีกทั้งเส้นสายที่เกิดขึ้นต้องเป็นระเบียบ มีแกนหลักที่เป็นเส้นทางการถ่ายน้ำหนักของตัวบานด้วย เพื่อความแข็งแรงในการใช้งานนั่นเอง

แบ่งเท่าๆกัน ตลอดแนว เรียบนิ่ง น้อยแต่มาก

เป็นรูปแบบพื้นฐานที่ใช้ได้กับทุกยุคสมัย คือการแบ่งเฟรมแบบหารเฉลี่ยเท่าๆกัน เช่นความยาวของช่องเปิด 10 เมตร แบ่งตัวเฟรมกว้าง 1 เมตร ได้ทั้งหมด 10 เฟรม ที่มีขนาดเท่ากัน ในอาคารที่มีความเรียบง่าย หรือสไตล์โมเดิร์น เฟรมแบบนี้ก็จะยิ่งช่วยให้อาคารดูลงตัวและเรียบง่ายด้วยเส้นสายที่เว้นเท่าๆกัน เป็นความน้อยแต่มากและทรงพลังตลอดมา

ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.tostemthailand.com

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading