OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

LAN DIN : อาคารโปร่งแสงที่สะท้อนความเป็นธรรมชาติของการอยู่ร่วมกัน

ผลลัพธ์จากสมการมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ คุณค่าของธรรมชาติ และความงามทางสถาปัตยกรรม

Location : อำเภอเมือง , เชียงใหม่

Owner : Lan Din Cafe : คุณ ประมวล ชูสกุล
               Reading Room : คุณ วรุฒม์  วงศ์กาฬสินธุ์      

Architect : SHER MAKER
Photographer : Dsign Something/ Chaiyaporn  Sodabunlu

อาคารโปร่งแสงที่เติมโตขึ้นจากผืนดินที่เคยแห้งแล้ง

ลานดิน (LAN DIN) นอกจากจะเป็นชื่อของโครงการและอาคารคาเฟ่ที่สร้างขึ้นเป็นหลังแรกแล้ว ยังโยงกลับไปถึงสภาพดั้งเดิมและภาพจำของลานดินสีแดง ที่ผู้คนในละแวกนั้นคุ้นชิน ที่แม้จะเต็มไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ แต่ก็แห้งแล้งทีเดียว ซึ่งหลังจากที่ได้รับโจทย์จากทางเจ้าของ ทางทีมผู้ออกแบบ Sher Maker ได้นำโจทย์นั้นกลับมาวางโปรแกรมการใช้งานพื้นที่ใหม่ เพื่อเสนอแนวทางการใช้งานที่จะทำให้มีการใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด บนเงื่อนไขสำคัญคือการหลีกเลี่ยงการตัดต้นไม้เดิมที่มีอยู่ และคืนความร่มรื่นให้กับพื้นที่   โดยการวางผังอาคารแต่ละหลังให้แทรกตัวอยู่ตามแนวต้นไม้  ดันลานจอดรถไปไว้ด้านหลังโครงการ เว้นพื้นที่สวนตรงกลางไว้ใช้ประโยชน์ร่วมกันของกลุ่มร้านค้า รองรับการจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตลาดนัดงานคราฟต์ ที่ได้ทดลองจัดไปแล้วเป็นครั้งแรก หรือ นิทรรศการกลางแจ้ง ไปจนถึงอีเวนท์เล็กๆที่จะตามมาในอนาคต

ที่น่าสนใจกว่านั้น คือการวางผังโครงการแบบเปิด ซึ่งช่วยสนันสนุนแนวคิดที่จะทำให้โครงการเป็นพื้นที่สาธารณะ   กลางชุมชนที่ชาวบ้าน หรือเจ้าของร้านค้าในละแวกเดียวกันสามารถเข้ามาพักผ่อน เดินเล่นได้อย่างไม่อึดอัดใจ  เพราะแม้ย่านวัดอุโมงค์-วัดร่ำเปิง จะเต็มไปด้วยธุรกิจร้านค้า แต่ก็ยังมีความเป็นชุมชนชาวบ้านอยู่มาก

ผลลัพธ์จากสมการมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ คุณค่าของธรรมชาติ และความงามทางสถาปัตยกรรม

‘ ไม่ได้คิดว่ามันต้องออกมาโปร่งแสง หรือหน้าตาอาคารมันต้องออกมาเป็นแบบนี้ตั้งแต่แรก แต่จะคิดระบบอาคารให้อยู่ในงบของทางลูกค้าก่อน คุณพัชรดา อินแปลง หนึ่งในทีม Sher Maker เล่าถึงสิ่งที่โดนตั้งคำถามจากผู้คนที่สัญจรไปมาผ่านหน้าพื้นที่ตั้งแต่ช่วงแรกๆของการก่อสร้าง ซึ่งผลลัพธ์ที่เราเห็นกันทุกวันนี้นั้นถูกพัฒนามาจาก โปรแกรมการใช้งาน งบประมาณ และระยะเวลาการก่อสร้างที่มีอยู่อย่างจำกัด เป็นการออกแบบที่อยู่บนพื้นฐานหลักเศรษฐศาสตร์ที่ต้องถูกที่สุด ก่อสร้างเร็วที่สุด และข้ามส่วนของผู้รับเหมา ไปเน้นใช้ช่างท้องถิ่นซึ่งจะเป็นการสื่อสารระหว่างสถาปนิกและช่างก่อสร้างโดยตรง องค์ประกอบเหล่านี้ส่งผลไปถึงสัดส่วนของอาคารที่ผันตรงตามขนาดวัสดุในท้องตลาดที่สถาปนิกเลือกใช้มาหุ้มอาคาร โดยแทบไม่มีการตัดแต่งวัสดุให้เหลือเศษ เพื่อย่นระยะเวลาการทำงานของช่าง และอุดช่องโหว่ของความไม่ประณีตที่อาจเกิดจากการไม่คุ้นชินกับวัสดุของช่างพื้นบ้าน 

และเมื่อตัวอาคารตั้งอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ สถาปนิกจึงเลือกใช้แผ่นโปร่งแสงโพลีคาร์บอเนต  วัสดุที่จะช่วยดึงประโยชน์ของทรัพยากรที่มีอยู่แล้วอย่าง แสงแดดและธรรมชาติโดยรอบ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดเอฟเฟกต์กับผู้ใช้งานโดยไม่ต้องผ่านการประดับตกแต่งเพิ่มเติม

ผิววัสดุลอนคลื่นทำหน้าที่หักเหแสงให้มุมมองภายอกและภายในบิดเบือนไป เป็นการแยกพื้นที่ออกจากกันแต่คงไว้ซึ่งความโปร่งโล่งโดยไม่ตัดขาดจากความเขียวชอุ่มภายนอก เปิดรับแสงธรรมชาติที่กรองความสว่างจ้าออกไปแล้วบางส่วน บวกกับโทนสีภายในร้านที่เน้นการใช้สีของเนื้อวัสดุเอง คุมด้วยสีเทาเป็นหลัก ทำให้บรรยากาศดูสบายตาและมีความสว่างพอดี ช่วยลดการใช้แสงจากหลอดไฟตลอดช่วงเวลากลางวัน

ทั้งนี้สถาปนิกยังได้ออกแบบหน้าต่างที่จะเปิดมุมอาคารด้านติดถนน และชุดหน้าต่างบานกระทุ้งด้านข้างอาคาร เพื่อรองรับการเปิดใช้อาคารแบบ OPEN AIR ในวันที่อากาศไม่ร้อน และช่วงฤดูหนาว

ขยับไปทางโซนด้านหลังของโครงการ ยังมีอาคารที่หน้าตาคล้ายกันแต่มีความโปร่งแสงของวัสดุน้อยกว่า อาคารหลังนี้ คือ Reading Room ทำหน้าที่เป็นห้องอ่านหนังสือประจำโครงการ ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาหรือบุคคลทั่วไป ที่ต้องการความสงบ เข้ามาเช่าพื้นที่สำหรับอ่านหนังสือ หรือคุยงาน โดยมีการดึงสีน้ำเงินสดเข้ามาใช้เพื่อสร้างความตื่นตัวให้กับผู้ใช้งาน และแสงสว่างหลักภายในจะเป็นแสงขาวเหมาะสำหรับการอ่านหรือทำงาน แตกต่างจากส่วนร้านกาแฟด้านหน้าที่จะเป็นแสงไฟโทนอบอุ่นเพื่อการพักผ่อน

ตะเกียงแสงนวลริมทางในยามพลบค่ำ

ไม่เพียงแต่ช่วงกลางวัน แผ่นโพลิคาร์บอเนตที่หุ้มอาคารอยู่นั้นยังทำให้ตัวอาคารเป็นแหล่งกำเนิดแสงให้กับถนนที่มืดสนิท ในช่วงพลบค่ำ จากประสบการณ์ในการเป็นผู้จัดงานนิทรรศการมาก่อน ทำให้สถาปนิกเลือกติดตั้งหลอดไฟให้แสงสว่างกับผนังอาคารแทนที่จะเป็นบนฝ้าเพดานแบบทั่วไป นอกจากจะทำให้เพดานโปร่ง โชว์สเปซภายในทางตั้งได้อย่างเต็มที่ ยังทำให้เกิดมวลแสงสว่างที่นุ่มนวลภายในอาคาร ถ้ามองจากภายนอกจะยิ่งเห็นแสงที่เกลี่ยกันทั่วถึงอย่างชัดเจน

โครงการ ลานดิน คอมมูนิตี้สเปซแห่งนี้ จึงไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเพียงพื้นที่แบ่งขายให้เช่า แต่ยังสร้างขึ้นมาเพื่อดึงดูดกลุ่มคนต่างๆ ให้ทดลองเข้ามาใช้งานในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งยังส่งผลกระทบถึงการรับรู้ มุมมองของบุคคลทั่วไปที่มีต่องานออกแบบ ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนจำนวนมาก และในระยะยาวพื้นที่แห่งนี้อาจสามารถพัฒนาไปเป็นพื้นที่สาธารณะที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในย่านนั้นได้อย่างแท้จริง

ขอขอบคุณ

ลานดิน (LAN DIN)

สถาปนิก SHER MAKER

ภาพ Chaiyaporn  Sodabunlu