OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

แอบดูดีไซน์สุดล้ำ ก่อนงาน EXPO 2020 Dubai

นิทรรศการที่ประชันงานออกแบบของแต่ละประเทศไว้มากที่สุด เป็นงานที่เหล่านักออกแบบและดีไซน์เนอร์ไม่ควรพลาด

เชื่อว่างานจัดแสดง หรืองานนิทรรศการที่เหล่าสถาปนิก นักออกแบบ และดีไซน์เนอร์ต่างเฝ้ารอกันคืองาน EXPO 2020 Dubai ที่จะจัดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งงานนี้เป็นงานที่รวบรวมนวัตกรรม เอกลักษณ์ และวัฒนธรรมจากทั่วทุกมุมโลกมารวมไว้ในสถานที่เดียว ทั้งงานดีไซน์และสถาปัตยกรรมของแต่ละประเทศก็ต้องมาแบบจัดเต็มและสวยงามอย่างแน่นอน

นิทรรศการนี้จะจัดขึ้นในทุกๆ 5 ปี ซึ่งปี 2015 ที่ผ่านมามีการจัดงานที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี และมีผู้เข้าชมอย่างล้นหลาม และเราเชื่อว่าในปี 2020 ผู้ชมก็คงสนใจเป็นจำนวนมากเช่นกัน เห็นได้จากภาพเรนเดอร์พาวิลเลียนของประเทศต่างๆ ที่เริ่มปล่อยภาพให้เห็นความคืบหน้าและรูปแบบของงานบ้างแล้ว เราจึงอยากนำเสนอ 8 พาวิลเลียนดีไซน์เจ๋งที่เริ่มมีการเปิดตัว มาดูกันค่ะว่าแต่ละโปรเจคจะล้ำและแตกต่างแค่ไหน

Mobility Pavilion, Foster + Partners

ศูนย์กลางนิทรรศการและ 3 พาวิลเลียนหลัก

งาน EXPO 2020 ที่เมืองดูไบแห่งนี้ มีแนวคิด ‘Connectiong Minds, Creating the Future’ หรือก็คือการเชื่อมต่อจิตใจ เพื่อก่อเกิดอนาคต ซึ่งในการออกแบบพาวิลเลียนหลักของงาน 3 ชิ้นนี้ สถาปนิกจาก Foster + Partners, BIG และ Grimshaw Architects เป็นผู้ชนะการแข่งขัน และได้รับหน้าที่ให้ออกแบบพาวิลเลียนศูนย์กลาง ซึ่งประกอบไปด้วย Opportunity  Mobility และ Sustainability โดยมี HOK เป็นผู้ออกแบบ Master Plan ในงาน

Opportunity Pavilion, BIG

“องค์ประกอบสำคัญในการออกแบบพาวิลเลียนนอกจากความสวยงามและความเกี่ยวเนื่องกับแนวคิดหลักของนิทรรศการแล้ว ยังต้องมีความยืดหยุ่น คงทน และต้องสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อได้เมื่อนิทรรศการเสร็จสิ้น” ผู้จัดงานกล่าวถึงเหตุผลในการเลือกสถาปนิกทั้ง 3 มาเป็นผู้ออกแบบอาคาร

Sustainability Pavilion, Grimshaw Architects

UK Pavillion, Poem Pavilion

Ed Devlin ศิลปินและนักออกแบบได้ชนะการแข่งขันและถูกรับเลือกให้เป็นผู้ออกแบบ UK Pavilion ในงานนิทรรศการครั้งนี้ มีแนวคิดในการออกแบบคือ ‘Poem Pavilion’ ที่แสดงถึงความเชี่ยวชาญในด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ฟาซาดของพาวิลเลียนจะสื่อสารออกมาโดยใช้แสงไฟ LED เป็นตัวนำสายตาให้เข้าไปยังภายในอาคาร พร้อมทั้งมีข้อความ “Messege to space” เชิญชวนผู้เข้าชมงาน

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของ UK Paviliion คือผู้ออกแบบ Ed Devlin ใช้โครงสร้างเดียวกับ UK Pavillion ในปี 2010 และ 2015 ที่ Thomas Heatherwick และ Wolfgang buttress เป็นผู้ออกแบบ การทำเช่นนี้จะช่วยลดระยะเวลาในการก่อสร้าง ใช้ทุนในการก่อสร้างไม่มากนัก และยังช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย

“แนวคิดในการออกแบบพาวิลเลียนประยุกต์มาจากโปรเจค ‘Breakthrough Message’  ซึ่งเป็นโปรเจคสุดท้ายของ Stphen Hawking เกี่ยวกับการแข่งขันของเขากับเพื่อนร่วมรุ่นมหาวิทยาลัยในปี 2015 โดยเป็นการเชิญชวนผู้คนจากทั่วโลกมาพิจารณาว่าเราจะอธิบายตัวตนของเรา แสดงตัวว่าเป็นดาวเคราะห์ดาวหนึ่งได้อย่างไร เพราะในอนาคตอันใกล้นี้มีความเป็นไปได้ ว่าเราจะได้พบกับอารยธรรมอื่นๆในอวกาศ และจะเกิดอะไรขึ้นถ้าใน UK Pavilion ผู้เข้าชมจะเป็นส่วนหนึ่งกับโปรเจคชิ้นนี้” Es Devlin ผู้ออกแบบกล่าว

New Zealand Pavilion

New Zealand Pavillion ในงาน EXPO 2020 ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิก Jasmax โดยมีแนวคิด ‘Care for People and Place’ หรือก็คือการใส่ใจผู้คนและสถานที่ ภายในพาวิลเลียนจะมีการจัดแสดงนิทรรศการ ร้านอาหาร และร้านค้าเกี่ยวกับงานออกแบบ

แนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมสำหรับ New Zealand Pavilion คือ Waka Taonga หรือถ้วยและภาชนะที่ทำจากชนเผ่าเมารี ชนเผ่าพื้นเมืองของประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อแสดงถึงเรื่องราวของชาวเผ่ามารีที่พวกเขาสามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์ และส่งต่อวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นได้เป็นอย่างดี ซึ่งคล้ายกับพาวิลเลียนแห่งนี้ที่มีแนวคิดด้วยการนำเสนอเรื่องราวในอดีตและเชื่อมต่อผู้เยี่ยมชมด้วยการมีปฎิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และยังเป็นตีมหลักของงาน EXPO 2020 อีกด้วย

Austrian Pavilion

Penda และ Smartvoll ได้ออกแบบ Austrian Pavilion ให้เป็นกังหันน้ำขนาดยักษ์ ภายใต้แนวคิด  ‘The Source of Everything’ หรือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งอย่าง ซึ่งกังหันน้ำยักษ์นี้ได้ถูกรับเลือกให้เข้ารอบคัดเลือกรอบสุดท้ายก่อนกรรมการจะตัดสินผู้ชนะอีกครั้ง

โปรเจคนี้เกิดจากแนวคิดในการแสดงจุดเด่นของประเทศออสเตรียนั่นคือกังหันน้ำ ซึ่งนอกจากความสวยงามแล้ว ภายในพาวิลเลียนยังเกิดจังหวะและการเคลื่อนไหลของน้ำอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย เป็นการสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างให้กับสภาพแวดล้อมของดูไบที่เป็นเมืองแห่งทะเลททรายได้เป็นอย่างดี

“เป้าหมายหลักในตอนแรกคือ เราจะออกแบบอย่างไรให้สามารถป้องกันอากาศร้อนจัดจากภายนอก โดยไม่ต้องติดเครื่องปรับอากาศภายในอาคาร เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองพลังงานและขัดกับแนวคิดความยั่งยืน ซึ่งเป็นตีมหลักของนิทรรศการปีนี้ และพวกเราก็ต้องการอาคารที่เปิดโล่งด้วยเช่นกัน เพราะสภาพอากาศในดูไบค่อนข้างแห้งแล้งและมีฝนตกแค่เดือนละครั้งเท่านั้น เราเลยตัดสินใจออกแบบโดยใช้กังหันน้ำเป็นแนวคิดหลัก และมีท่อปล่อยน้ำและไอน้ำอยู่ภายในอาคารเพื่อสร้างหยดน้ำให้คล้ายกับตอนฝนตก และในอีกบริบทหนึ่ง Austrian Pavilion ยังเปรียบเสมือนสปริงเกิลขนาดใหญ่ภายในงานที่ช่วยให้ผู้ชมงานรู้สึกสดชื่นมากขึ้น” Chris Precht กล่าว

Austrian Pavilion ออกแบบโดยใช้โครงสร้างไม้ และมีช่องเปิดในอาคารทั้ง 2 ด้าน เพื่อเปิดรับลมและสร้างการถ่ายเทอากาศ และมีแผงกันแดดอยู่บริเวณด้านบนของอาคาร ระหว่างโครงสร้างแต่ละส่วนจะมีการติดตั้งระบบของกังหันน้ำ ซึ่งจะหมุนไปอย่างช้าๆ เพื่อเก็บและทำความสะอาดหยดน้ำที่ไหลลงมาจากด้านบน และหยดน้ำจากด้านบนจะค่อยๆไหลลงมา เสมือนฝนตกภายในอาคาร เชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาเล่นหรือสร้างประสบการณ์จากพาวิลเลียนแห่งนี้

German Pavilion

Graft Architects ผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่รอบตัดสินในการประกวด German Pavilion EXPO 2020 ด้วยการออกแบบที่เน้นถึงการพัฒนาอาคารอย่างยั่งยืน ภายในพาวิลเลียนมีการออกแบบสเปซให้มีความเคลื่อนไหว ผ่านรูปแบบนิทรรศการที่จัดภายในอาคาร โดยแบ่งพื้นที่ทั้งหมดเป็น 6 ส่วนเกี่ยวกับโลกปัจจุบันและอนาคต แต่ละส่วนจะตั้งอยู่อย่างกระจายตัว และเชื่อมต่อแต่ละส่วนด้วยการให้ผู้เข้ามาใช้งานมีส่วนร่วม สามารถเล่นและโต้ตอบกับนิทรรศการได้

Graft Architects ออกแบบพาวิลเลียนโครงสร้างอาคารให้โปร่งใส เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถมองส่วนนิทรรศการได้ทั้งหมด เมื่อผู้เข้าชมเดินชมในพื้นที่แต่ละส่วนจะพบกับความเชื่อมโยงของสเปซต่างๆ

โครงสร้าง ของตกแต่งและวัสดุต่างไปภายในอาคารเป็นโครงสร้างชั่วคราว เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งานทั้งตอนติดตั้ง รื้อออก และโครงสร้างพาวิลเลียนนี้สามารถนำมาประกอบด้วยกันใหม่ ตามสเปซและพื้นที่จัดนิทรรศการต่างๆ อย่างไม่มีข้อจำกัด นอกจากนั้นยังมีการแยกกลุ่มวัสดุที่ใช้ภายในอาคารเพื่อช่วยในการรีไซเคิลวัสดุอีกด้วย

Spain Pavilion

บริษัทสถาปนิก Selgascano และ FRPO ได้รับการประกาศให้เข้ารอบตัดสินในการประกวด Spain Pavilion ด้วยการใช้ถังพลาสติก ETFE สีเหลืองสด จำนวน 9 อัน วางเรียงกันในโครงสร้างเหล็ก โดยประยุกต์มาจาก ‘จตุรัสสเปน’ สถานที่ท่องเที่ยวอันโด่งดังในสเปน ซึ่งโครงสร้างและพลาสติก ETFE นี้ เป็นโครงสร้างชั่วคราวที่สามารถรื้อถอนและเคลื่อนย้ายได้โดยง่าย

Spain Pavillion ถูกออกแบบภายใต้แนวคิด ‘Breathing Pavilion’ หรือพาวิลเลียนที่หายใจได้ เพราะถังพลาสติกสีเหลืองนี้จะเคลื่อนไหวขึ้นและลงอย่างเบาๆ คล้ายกับการหายใจของมนุษย์ ด้วยการมีพัดลมขนาดใหญ่อยู่ใต้ถังพลาสติก ที่จะช่วยระบายอากาศภายในอาคารไม่ให้ร้อนจนเกินไปนัก

บรรยากาศภายใน Spain Pavilion

ทั้ง 8 พาวิลเลียนนี้เป็นเพียงแค่น้ำจิ้มเล็กๆ ที่แต่ละประเทศได้ปล่อยออกมาให้เราได้ดูก่อน ที่งานจริงจะมีอะไรบ้างนั้น สามารถติดตามได้ที่งาน EXPO 2020 ที่ดูไบ ซึ่งจะจัดในวันที่ 20 ตุลาคม 2020 – 10 เมษายน 2021 ส่วนจะมีข่าวอะไรน่าสนใจบ้างนั้น เราจะคอยทยอยอัพเดทอยู่เป็นประจำค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก Archdaily, Designboom