“หน้าต่างรอบบ้าน ระเบียงรอบห้อง”
Ballet Mécanique
Location | Zurich, Switzerland
Architect | Manuel Herz Architects
Photographer | Yuri Palmin
เป็นธรรมดาของงานสถาปัตยกรรมที่มักมีการออกแบบ “หน้าต่าง” หรือช่องปิด-เปิดบนผนัง ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างภายนอกและภายใน เปิดรับธรรมชาติ หรือระบายอากาศให้การอยู่อาศัยภายใต้สถาปัตยกรรมเหล่านั้นสุขสบาย แต่หากหน้าต่างสามารถสร้างความพิเศษได้มากกว่าเดิม อย่าง Ballet Mécanique บ้านที่มีหน้าต่างกลายเป็นระเบียงและแผงบังแดดได้เพียงเปิดออก สร้างสรรค์โดย Manuel herz สถาปนิกชาวสวิสเซอร์แลนด์ที่แต่งเติมสีสันในการอยู่อาศัยให้บ้านหลังนี้น่าค้นหามากขึ้น
ภาพบ้าน Ballet Mécanique ที่ตั้งอยู่ในย่านชานเมืองของเมืองซูริค ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ดินแดนแห่งยอดเขาสูงที่หลายคนใฝ่ฝันอยากไปสักครั้ง ด้วยการเคลื่อนไหวของ Façade ในลักษณะที่คล้ายกับหน้าต่าง สามารถเปิด-ปิดได้ทั้ง 4 ทิศทาง พร้อมทั้งเผยโทนสีแดงและสีน้ำเงินสลับกันไปตัดกับสีเขียวของธรรมชาติโดยรอบ ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความสนุกสนานท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบขรึม
แรงบันดาลใจจากบริบท และบัลเลต์
สีสันและรูปร่างสามเหลี่ยมปลายโค้งมน อันสะดุดตาบนบานพับเหล็กในบ้านหลังนี้ มีแรงบันดาลใจมาจาก“พิพิธภัณฑ์ Heidi weber” ซึ่งตั้งอยู่ห่างไปในระยะไม่เกิน 100 เมตร ออกแบบโดย Le Corbusier สถาปนิกแห่งยุคโมเดิร์นที่ใช้แม่สีและรูปทรงเรขาคณิตในการออกแบบงานสถาปัตยกรรม อีกทั้งการเคลื่อนไหวของหน้าต่าง สถาปนิกตั้งใจออกแบบให้เสมือนเป็น Kinetic art หรือศิลปะที่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นงานศิลปะที่เจ้าของบ้านชื่นชอบ และเก็บสะสมไว้อยู่แล้ว
พิพิธภัณฑ์ Heidi weber ออกแบบโดย Le Corbusier
แม้ว่าขนาดและการออกแบบบ้านหลังนี้ จะเทียบเคียงกับโครงสร้างที่อยู่อาศัยอื่นๆ ในระแวงใกล้เคียง แต่หากลักษณะภายนอกที่ปรากฏออกมาช่างดูแตกต่างโดยสิ้นเชิง ด้วยรูปแบบทรงเรขาคณิตที่ดูเรียบง่ายแต่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาคล้ายการเต้นบัลเลต์ ทำให้บ้านหลังนี้มีชื่อว่า ‘ballet mécanique’ หรือ ‘mechanical ballet’
แปลนบ้านชั้นแรกและบริบท ที่แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมต่อทางเดินระเบียงไม้เข้าสู่บ้านในทิศตะวันตก
เมื่อ “หน้าต่าง” กลายเป็นระเบียงและหลังคา
มองเผินๆบานพับทั้งในแนวตั้งและแนวนอนเหล่านี้ เหมือนมีลักษณะและการใช้งานไม่ต่างกัน ปิด-เปิดเพื่อเชื่อมต่อกับธรรมชาติ และควบคุมระดับความเป็นส่วนตัว แต่ความจริงแล้ว สถาปนิกได้ใส่ความพิเศษลงไปให้บานหน้าต่างในแนวตั้ง สามารถแปรเปลี่ยนเป็นระเบียง และหลังคาที่ช่วยบดบังแสงแดดในทิศทางที่แตกต่างในช่วงเวลาของแต่ละวัน และประหยัดเนื้อที่ใช้สอย โดยแบ่งการใช้งานออกเป็น 4 ประเภทด้วยกัน โดยทั้งหมดถูกติดตั้งแบบระบบกลไกลไฮดรอลิก ได้แก่
- บานพับในแนวตั้งที่สามารถเปิดปิดได้ โดยมีราวกันตกสำหรับระเบียง
- บานพับที่สามารถเปิดปิดได้ แต่ไม่มีราวกันตก ทำหน้าที่เป็นดั่งแผงบังแดดในทิศทางต่างๆ
- บานเปิดถาวรในแนวตั้ง ที่ทำหน้าที่เป็นระเบียงนั่งเล่น
- บานปิดถาวร ที่รูปร่างหน้าตาแนบเนียนเหมือนกับบานที่เปิดได้
ไดอะแกรมแสดงตำแหน่งของหน้าต่างประเภทต่างๆ รวมถึงสีสันและความหนาที่แตกต่างกันไป โดยเพลนไหนที่ทำหน้าที่เป็นระเบียงก็จะมีความหนามากกว่าด้านอื่น เพราะต้องรองรับการรับน้ำหนักที่มากกว่าปกติ
รูปด้านของบ้าน และหน้าต่างที่สามารถเปิดปิดได้
นอก 3 ใน 4 ห้อง 5
ดูภายนอกเหมือนบ้านหลังนี้จะมี 3 ชั้น แต่ทว่าจริงๆแล้วพื้นที่ภายในมีทั้งหมด 4 ชั้น รวมชั้นใต้ดินที่เป็นที่จัดเก็บระบบเซอวิสและห้องเครื่องต่างๆด้วย ส่วนห้องพักจะแบ่งได้ทั้งหมด 5 ห้อง เปิดเป็นอาพาร์ทเมนท์สำหรับอยู่อาศัย โดยมีบันไดและลิฟท์ ซึ่งเป็นผนังรับน้ำหนักอยู่ส่วนกลางของบ้าน และมีดาดฟ้าหลังคา ที่สามารถเข้าถึงได้ถูกใช้เป็นพื้นที่สำหรับงานศิลปะ
แปลนชั้นที่ 1 และ 2
Section บ้าน
โครงสร้าง และความจริงของวัสดุ
บ้านหลังนี้มีโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ภายนอกเป็นวัสดุอลูมิเนียมสีไข่มุก ส่วนภายในบ้าน ผนังรับน้ำหนักและเพดานมีพื้นผิวคอนกรีตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ราวระเบียงราวบันไดหน้าต่างบานเกล็ดใช้โครงเหล็กที่มีความโค้งละมุน เข้าคู่กับกรอบบานประตูและหน้าต่างที่ทำจากโพลีโพรพิลีนอลูมิเนียม ภายใต้สัจจะจริงของวัสดุที่เผยออกมานี้ ทำให้เราเห็นความแตกต่างของสีโทนแดงและน้ำเงินที่อยู่ภายในของบานพับได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
ราวระเบียงราวบันไดหน้าต่างบานเกล็ดใช้โครงเหล็กที่ดูโค้งละมุนตัดกับผนังคอนกรีตบ้านที่รูปทรงเรียบง่าย
บ้านหลังนี้ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การมองเรื่องใกล้ตัว หรือปรับใช้สิ่งใกล้ตัวให้มีหลากหลายฟังก์ชัน อาจจะปรากฏงานออกแบบใหม่ๆ และสร้างเอกลักษณ์พิเศษให้แก่บ้าน ทั้งการทำให้พื้นที่ใช้สอยเกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างความสนุกสนาน ทำให้การอยู่อาศัยมีชีวิตชีวามากกว่าเดิม
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก Designboom และ Dezeen