OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

ออกแบบบานเปิดอย่างไรไม่ให้บ้านร้อน

เมืองไทยกับอากาศร้อนเป็นของคู่กัน ทางเลือกสำหรับบ้านจึงเป็นการเปิดช่องหน้าต่าง แต่การเปิดบานหน้าต่างสำหรับบ้านในเมืองไทยก็เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะขณะเดียวกับที่ได้ระบายอากาศร้อน บางครั้งก็เป็นการรับไอร้อนและแสงแดดที่จ้าเกินไปเข้าสู่ตัวบ้านเช่นกัน การเลือกตำแหน่ง วิธีการเปิด และจำนวนของบานเปิดจึงควรมีเคล็ดลับเพื่อให้หน้าต่างบานนี้ทำงานได้อย่างเต็มที่ทั้งในเชิงฟังก์ชั่นและความงามให้กับตัวบ้าน

(เครดิตภาพ +Aao)

ความรู้เบื้องต้นเพื่อบ้านเย็นลง

“ไอความร้อน” และ “การระบายอากาศ” เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้บ้านไม่ร้อน 

ข้อแรกที่ควรต้องทราบคือ คุณสมบัติของความร้อนที่จะลอยตัวขึ้นสู่ที่สูง ดังนั้นหากความร้อนที่ลอยตัวขึ้นไปใต้ฝ้าได้ถูกระบายออกบ้านก็จะเย็นลง และอีกส่วนคือลมที่พัดผ่านเข้าสู่ตัวบ้าน ซึ่งจะทิศทางที่ดีที่สุดที่ทำให้บ้านเย็นคือทิศทางที่อยู่ตรงข้ามกันพอดี เพราะลมจะเข้าบ้านก็ต่อเมื่อมีทางระบายออกอีกทาง

หนึ่งห้องควรมีบานเปิดสองด้าน

(เครดิตภาพ Mario Mibowo)

ธรรมชาติของลมที่จะไม่พัดเข้าหากพื้นที่หากมีช่องเปิดเพียงช่องเดียว นั่นก็เพราะลมเก่าภายในห้องออกไม่ได้ ดังนั้นการเจาะช่องสำหรับหน้าต่างของสองฟากผนังควรตรงกันพอดี โดยให้ทิศทางที่ลมเข้ามีขนาดหน้าบานเล็กกว่าทิศทางที่ลมออก เพื่อสอบลมให้พัดแรงขึ้น หรือหากไม่สามารถทำให้ตรงกันพอดีได้ ควรให้มีบางส่วนที่ทับเหลื่อมกัน เพื่อให้มีทางเข้า-ออกของลม

อีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงคือ ทิศที่เลือกเจาะหน้าต่างควรเป็นไปในทิศทางเหนือ-ใต้ เพราะลมจากทิศเหนือจะพัดตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงมกราคม (4 เดือน) และลมจากทิศใต้จะพัดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงกันยายน (8 เดือน) ดังนั้นทิศทางที่ดีที่สุดของการทำบานเปิดคือ บานเล็กกว่าทางทิศใต้ตรงกับบานใหญ่กว่าทางทิศเหนือ

(เครดิตภาพ Gokul Rao Kadam)

หน้าต่างบานเปิดรับลมเต็มที่

สำหรับหน้าต่างที่ติดตั้งในทิศทางที่เหมาะสมสำหรับการรับลม เราขอแนะนำให้ติดตั้งหน้าต่างแบบบานเปิด หรือบานสไลด์ซึ่งมีพื้นที่ซ่อนเก็บหน้าบาน เพราะสามารถเปิดออกทั้งสองด้านได้อย่างอิสระ มากกว่าบานเปิดแบบเลื่อนซ้อนกันสองด้าน บานเลื่อนขึ้นลง หรือบานกระทุ้ง นับเป็นการใช้ช่องเปิดที่เจาะและออกแบบมาแล้วให้เกิดฟังก์ชั่นเรื่องการรับลมสูงสุด

และทางที่ดีควรติดตั้งมุ้งลวดซ้อนไปอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันแมลงหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ตัวบ้านขณะเปิดหน้าบาน เหลือเพียงลมเย็นสบายและแสงธรรมชาติเอื้อเข้าสู่ตัวบ้านได้ตามต้องการ หรือหากต้องการเพิ่มความปลอดภัยก็สามารถติดตั้งเหล็กดัดเพิ่มเติมได้อีก

(เครดิตภาพ Imbue Design)

หน้าต่างทรงสูง

สำหรับบ้านดีไซน์โมเดิร์น อีกทางเลือกที่น่าสนใจคือหน้าต่างทรงสูงเท่าบานประตูหรือสูงจรดฝ้าเพดาน โดยแบ่งบางช่วง เช่น ช่วงบานหน้าต่างแบบเปิดหรือบานกระทุ้งสูงจากพื้น 85 เซนติเมตร ที่เหลือเป็นบานแบบฟิก ก็ช่วยให้อากาศระบายได้ดี และมีแสงธรรมชาติส่องเข้าได้ตลอดทั้งวัน

(เครดิตภาพ Shannon McGrath)

บานเกล็ดกับผนังหายใจได้

บานเกล็ดสามารถติดตั้งได้ทั้งกับผนังส่วนภายนอกบ้านเป็นเหมือนกับผนังหายใจได้ และเป็นพาร์ทิชั่นกั้นแบ่งระหว่างสองพื้นที่ภายในบ้าน โดยไม่สูญเสียการหมุนเวียนอากาศภายในบ้าน หรือในบางพื้นที่ที่ไม่สามารถติดตั้งบานหน้าต่างแบบเปิดหรือเลื่อนตามปกติได้จากเหตุผลเรื่องความเป็นส่วนตัว บานเกล็ดคือทางเลือกที่ดี เพราะสามารถเลือกเปิดปิดเพื่อระบายอากาศได้ และสามารถติดตั้งมู่ลี่เพิ่มเติมได้หากต้องการความเป็นส่วนตัวขึ้นอีก

บานกระทุ้งคู่บานหน้าต่างหลัก

(เครดิตภาพ Hugh Jefferson Randolph Architects)

จากภูมิปัญญาของบ้านเรือนไทยที่มักจะมี “หย่อง” หรือแผงไม้ลายฉลุโปร่งสำหรับระบายความร้อนเมื่อปิดบานหน้าต่างทึบติดตั้งอยู่ใต้บานหน้าต่าง ประยุกต์ให้เข้ากับบ้านสมัยใหม่ด้วยการใช้หน้าต่างบานกระทุ้งความสูงประมาณ 20-25 เซนติเมตร ติดตั้งคู่กับบานหน้าต่างหลัก พอดีกับที่สามารถเปิดออกเพื่อระบายอากาศได้ โดยไม่เกิดอันตรายจากการบุกรุกหรือตกหล่นกรณีอยู่ชั้นสูง

หรือหากหน้าต่างอยู่ชั้นบนซึ่งไม่ได้เป็นจุดเสี่ยงต่อการบุกรุก ก็สามารถใช้หน้าต่างส่วนล่างซึ่งเป็นบานกระทุ้งให้สูงขึ้นได้อีกตามสัดส่วนความสวยงามของงานดีไซน์ช่องเปิดและสอดคล้องไปกับงานสถาปัตยกรรมภายนอก หรือจะออกแบบเป็นบานกระทุ้งขนาบข้างกับบานหน้าต่างหลักก็เกิดเป็นกริดที่สวยงามไปอีกแบบ

(ภาพจาก Salworks)

ระบายลมพื้นที่ใต้หลังคา

อย่างที่เล่าไปข้างต้นว่า อากาศร้อนจะลอยตัวขึ้นสู่ที่สูง ดังนั้นหลายบ้านจึงมักติดตั้งบานเกล็ดซี่ถี่ๆ บริเวณใต้จั่วหลังคาหรือส่วนที่สูงที่สุดของห้อง เพื่อให้อากาศร้อนที่ลอยตัวขึ้นมีทางออกได้ ซึ่งจะส่งผลให้ภายในห้องเย็นขึ้น และอากาศก็ถ่ายเทได้ดีขึ้น แต่อาจมีความยุ่งยากตรงนี้เป็นจุดที่น้ำรั่วซึมจากหลังคาได้ง่าย จึงควรติดตั้งรอยต่อให้ปิดสนิท หรือใช้ชายคาช่วยกันน้ำก่อนในขั้นต้น

(เครดิตภาพ Tatjana Plitt)

อย่าลืมป้องกันความร้อนจากภายนอก

ลำพังแค่การเปิดช่องเปิดไม่สามารถช่วยลดความร้อนได้ ด้วยสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกันไป เช่น ผนังผืนใหญ่ หรือช่องเปิดหน้าต่างทิศทางตรงกับแสงแดดพอดี จึงจำเป็นต้องใช้ตัวช่วยเพื่อลดความร้อนจากแดดแรงภายนอก ได้แก่ การเบิ้ลกระจกสองชั้นหรือกระจกอินซูเลตซึ่งมีฉนวนกันความร้อน เพื่อช่วยกักเก็บความเย็นภายในบ้านให้ยาวนานขึ้น หรือการติดตั้งฟิล์มกรองแสงกันรังสีอัลตราไวโอเล็ต ลดความร้อนลงก่อนเข้าสู่ตัวบ้าน

ขอบคุณข้อมูลจาก www.TOSTEMTHAILAND.com

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading