OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Chiang Mai Design Week 2018: ยิ่งขัดเกลายิ่งแหลมคม

“เทศกาลงานออกแบบใจกลางเมืองเชียงใหม่ ในคอนเซปต์ “Keep Refining ยิ่งขัดเกลา ยิ่งแหลมคม” ที่รับรองว่า ยิ่งได้ชม ยิ่งสร้างสรรค์”

เมื่อ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ มิได้เป็นเพียงแค่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น แต่หากประสบการณ์จากการฝึกฝน ‘ขัดเกลา’ ทักษะฝีมือในการออกแบบนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่ทำให้งานออกแบบมีความ ‘แหลมคม’ มากขึ้น พร้อมตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตได้ทันท่วงที…

CHIANG MAI DESIGN WEEK 2018 หรือเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ จึงเป็นเสมือนพื้นที่ที่สะท้อนมุมมองต่องานออกแบบที่ผ่านการรังสรรค์จากศิลปินหลากหลายสาขาในเชียงใหม่ และในประเทศมากกว่า 500 คน รวมถึงจากต่างประเทศอีกกว่า 10 ประเทศ ผนึกกำลังกันทุกๆปี แสดงผลงานทั่วเมืองเชียงใหม่ เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างงานออกแบบและผู้คน โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Keep Refining ยิ่งขัดเกลา ยิ่งแหลมคม” นั่นเอง

ซึ่งหลังจากที่เราได้เดินชมเทศกาลนี้แล้ว จึงได้คัดสรรค์ 9 ผลงานที่ไม่ควรพลาดในงาน CHIANG MAI DESIGN WEEK 2018 มาฝากกัน และหวังใจว่า จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งต่อความสร้างสรรค์นี้ไปถึงผู้ที่มีใจรักศิลปะทุกคน

| The Act of Thought |
ผู้ออกแบบ:
Living Spirits
สถานที่:
ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์

“The act of thought” หรือโรงละครทางความคิด เป็นศิลปะในรูปแบบ interactive installation art ที่สร้างปฎิสัมพันธ์กับผู้ชมได้โดยการให้ผู้ชมสแกน QR และตอบคำถามทางความรู้สึก จากนั้นจะถูกส่งเข้าไปและปรากฏเป็นการแสดงผลลัพธ์ผ่านแสงสีในโคมลอยที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับคำตอบเมื่อสักครู่ ซึ่งเปรียบได้กับ ‘กลุ่มก้อนของความคิดและความรู้สึกของคน’

QR Code ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางของงาน รายล้อมไปด้วยโคมไฟ

QR Code ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางของงาน รายล้อมไปด้วยโคมไฟ

| Textile Story|
ผู้ออกแบบ: วิทยา จันมา
สถานที่: หอภาพถ่ายล้านนา

ผลงานแอนิเมชั่นจากผ้าไทย แรงบันดาลใจจากผ้าซิ่นของแม่ ผลงานของศิลปินสื่อผสมอย่าง “วิทยา จันมา” ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานด้านแอนิเมชั่นมาก่อน นำเสนอด้วยการผสานผ้าฝ้ายทอที่มีลวดลายไทยเหมือนและสมมาตรกันในแถวเดียวกัน และนำมาฉายด้วยวิธีหมุนฟิล์มภาพยนตร์ โดยผ่านการควบคุมความถี่ของแสงกระพริบ ผู้ชมจะได้เห็นภาพเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจากลายผ้าที่แตกต่างกันไปตามความถี่ของแสงที่เกิดขึ้นนี้

การใช้เทคนิคภาพติดตา หรือการนำภาพนิ่งหลายๆภาพมาเคลื่อนที่ผ่านตาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลากระชั้นชิด
ทำให้ตามองภาพเหล่านั้นเป็นภาพเคลื่อนไหว

| HOLO-LIGHT|
ผู้ออกแบบ: MOD
สถานที่: ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์

สำหรับใครที่เคยไปงาน Awakening Bangkok: A Festival of Lights ที่จัดขึ้นย่านบางรักเมื่อปลายเดือนพฤษจิกายนที่ผ่านมา ก็คงคุ้นตากันบ้างกับงานออกแบบนี้ งานออกแบบที่เล่นกับวัสดุที่สะท้อนแสง และการทำงานของแสงไฟ เวลา สภาพอากาศ และผู้คนที่มาเข้าร่วมกับผลงาน สร้างปฎิสัมพันธ์ร่วมกัน

| SOS Garden |
ผู้ออกแบบ:
7 นักออกแบบ และบริษัท PTTGC
สถานที่:
ประตูท่าแพ

“SOS Garden” สวนพืชพรรณท้องถิ่นผสานงานสถาปัตยกรรมแห่งความยั่งยืน สะท้อนแนวคิดผ่านการเพิ่มพื้นที่สีเขียวกลางเมืองไปพร้อมๆกับใช้วัสดุอย่างไม้ไผ่และพลาสติกรีไซเคิล มาออกแบบผนังและหลังคาของพาวิเลียน เป็นดั่งฉากโปร่งแสง มีพื้นที่นั่งเล่นในสวนท่ามกลางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่

ผนังพาวิเลียนที่เกิดจากการนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาออกแบบใหม่ให้กลายเป็นแผ่นพลาสติกที่นำมาต่อกันดั่งลวดลายฉลุ สร้างความรู้สึกเสมือนงานหัตถศิลป์สมัยใหม่

| Every day |
ผู้ออกแบบ: ปพิชชา ธนสมบูรณ์ Flowers in the vase
สถานที่: หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่

เริ่มต้นกันที่งานออกแบบลวดลายเครื่องเคลือบดินเผา 30 ใบ จากการเก็บเรื่องราวและสีสันบนท้องฟ้าในทุกๆวัน เป็นเวลา 30 วัน ด้วยเทคนิคเนริโกมิ ที่เป็นการนำดินสีสโตนแวร์แต่ละชั้นมาทับซ้อนให้เกิดลวดลาย ซึ่งจะเห็นได้ทั้งด้านในและด้านนอกภาชนะ นำเสนอผลงานผ่านกระจกที่สะท้อนภาพของท้องฟ้าในขณะนั้น

| Vestige |
ผู้ออกแบบ: COTH-ing
สถานที่: พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์

‘Vestige’ เป็นศิลปะ Lighting Installations ที่สะท้อนถึงเรื่องราวของกาลเวลา อดีต อนาคต ความทรงจำ และความเป็นชุมชน ผ่านหลอดไฟทรงยาวที่ตั้งไว้หลากหลายทิศทาง ที่โอบล้อมไปด้วยไฟหลากสีสันที่เปล่งประกายอยู่เป็นจังหวะ

| เหนือแรงบันดาลใจ |
ผู้ออกแบบ: Kor.Bor.Vor.
สถานที่: พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา

การแสดงศิลปะแบบ “Projection Mapping” ฉายแสงสีด้วยเครื่องโปรเจกเตอร์บนพื้นผิว 3 มิติอย่างสถาปัตยกรรมเก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่ ไม่มีข้อจำกัดด้านรูปทรงที่จะใช้แสดง ออกแบบโดยกลุ่ม Kor.Bor.Vor. Visual Label แนวคิดเกี่ยวกับสิ่งรอบตัว ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมแสดงงานได้ด้วย

| Trans Alu to Design by SUS|
ผู้ออกแบบ: SUS x Atelier2+
สถานที่: พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา

พาวิเลียนที่จะทำให้ทุกคนรู้จักกับ Aluminum มากขึ้น และการนำมาใช้ในงานดีไซน์ในรูปแบบที่แตกต่าง อย่างสถาปัตยกรรมแบบ Knock-down ที่สามารถเคลื่อนที่ไปประกอบที่ใดก็ได้ด้วยเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งมีงานดีไซน์ต่างๆที่เกี่ยวกับ Aluminum และมี workshop ทำโคมไฟจาก Aluminum

| 4D Design |
ผู้ออกแบบ: นักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช.
สถานที่: พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา

ผลงานการออกแบบของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม 3 มิติ ที่มีมิติที่ 4 เข้ามาเกี่ยวข้องคือ “เวลา” อย่างในภาพที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากต้นไทร และสีของผ้าเป็นสีฟ้าเข้ม ซึ่งสื่อถึงความราบรื่น เอกภาพ รวมถึงเป็นสีประจำจังหวัดเชียงใหม่ด้วย

สำหรับใครที่อยากไปสัมผัสงานออกแบบทั่วเมืองเชียงใหม่ด้วยตัวเอง งานจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2561 และสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่… https://chiangmaidesignweek.com/

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading