UNStudio สตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมสัญชาติดัชต์ชื่อดัง นำเสนอวิสัยทัศน์ใหม่ให้กับเมืองภายใต้โครงการ “เมืองแห่งอนาคต (The City of the Future)” ซึ่งเป็นพื้นที่ทดลองของย่านนวัตกรรมหรือ Central Innovation District (CID) ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอแลนด์ ที่นี่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองที่ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและสังคม (Socio-Technical City)” โดยงานออกแบบครอบคลุมพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตรใจกลางเมือง โครงการนี้มุ่งแปลงโฉมพื้นที่ให้กลายเป็นย่านสีเขียวที่พึ่งพาตนเองได้โดยมีทั้งที่อยู่อาศัย สำนักงาน ระบบขนส่งในรูปแบบเมือง และพื้นที่สาธารณะเหนือเส้นทางรางรถไฟที่มีอยู่เดิม
มุมมองการสร้างสรรค์ของ UNStudio ที่มีต่อกรุงเฮกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยที่จัดทำขึ้นสำหรับโครงการ ‘The City of the Future’ ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มร่วมกันระหว่าง BNA Research (Royal Institute of Dutch Architects), Delft University of Technology, Delta Metropolis Association, เทศบาลเมืองอัมสเตอร์ดัม รอตเทอร์ดัม เมืองเฮก เมืองอูเทรคต์ และเมืองไอนด์โฮเวน, ศูนย์อำนวยการการขนส่ง, หน่วยงานสิ่งแวดล้อมและการจัดการน้ำ และกระทรวงมหาดไทย โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อเดือนมกราคมปี 2018 ที่ผ่านมา พร้อมด้วยทีมนักออกแบบจากหลากหลายศาสตร์วิชารวม 10 ทีม ที่มาร่วมสำรวจแนวทางใหม่ในการสร้างเมือง โดยใช้พื้นที่ทดลอง 5 แห่งในเมืองอัมสเตอร์ดัม เมืองรอตเทอร์ดัม เมืองเฮก เมืองอูเทรคต์ และเมืองไอนด์โฮเวน
แนวคิดเกี่ยวระบบสังคมผสานเทคโนโลยีของ UNStudio นั้น ได้รวมสองความท้าทายที่ยิ่งใหญ่สำหรับเมืองในอนาคตอย่าง “การขยายตัวของเมือง” และ “ความยั่งยืน” เข้าด้วยกัน โดยพวกเขาให้ความสนใจ
เป็นพิเศษกับประเด็นคำถามที่ว่า พื้นที่ย่านนวัตกรรมนั้นจะพึ่งพาตัวเอง และลดการใช้พลังงานได้อย่างไร แนวทางการออกแบบที่เกิดขึ้นจึงเป็นการสร้าง “เกตเวย์” หรือ “ประตูขนาดใหญ่” หลายๆ จุดเพื่อกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์และนวัตกรรม
UNStudio มีแนวคิดในการจำแนก “หัวข้อ” ในศาสตร์เฉพาะทางแขนงต่างๆ ซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกในยุคนี้ ได้แก่ พลังงาน การหมุนเวียน การเดินทางขนส่ง การปรับตัวกับสภาพอากาศ การจัดการน้ำ และการผลิตอาหาร ผ่านการสร้างพื้นที่เมืองใหม่ครอบเหนือรางรถไฟที่มีอยู่เดิม หัวข้อเหล่านี้จะถูกมองให้เป็นเหมือน “ประตู” ถือเป็นการออกแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรมเชิงกายภาพที่จะช่วยนำเสนอแนวทางในการแก้ประเด็นปัญหาดังกล่าว รวมถึงทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์สำหรับศาสตร์เฉพาะทางนั้นๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น สถานีผลิตพลังงานความร้อนใต้พิภพเป็นสัญลักษณ์สำหรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน สถานีไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) เป็นสัญลักษณ์ของการเดินทางขนส่ง โรงงานบำบัดน้ำเทคโนโลยีชีวภาพ (Biopolus) เป็นสัญลักษณ์ของการหมุนเวียน เกตเวย์เหล่านี้กระตุ้นให้เกิดการพบปะรวมกลุ่ม ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงชุมชนและผู้คน อีกทั้งยังเป็นจุดกำเนิดของนวัตกรรมอีกด้วย
แนวคิดของเกตเวย์นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถานที่ตั้งของโครงการนั่นเอง เนื่องจากเดิมพื้นที่นี้มีสถานีภายในเมือง 3 สถานีที่ตั้งอยู่ในระยะเดินถึงกันได้ แสดงให้เห็นถึงโอกาสอันดีที่จะเปลี่ยนพื้นที่ตรงนี้ให้เป็น “ศูนย์กลางมหานคร (Metropolitann Superhub)” ในขนาดที่เทียบได้กับสนามบินสคิปโฮลของอัมสเตอร์ดัม ที่มีระบบเครือข่ายเชื่อมต่อสถานีต้นทางต่างๆ เข้าด้วยกัน นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ในการสร้างการเดินทางขนส่งที่ยั่งยืนในรูปแบบใหม่ อาทิเช่น ระบบขนส่งผ่านท่อไฮเปอร์ลูป ที่มาพร้อมสกูตเตอร์ไฟฟ้าในระบบยืมคืนอัตโนมัติ และรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งจะเชื่อมโยงการขนส่งสาธารณะในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหลังจากการก่อสร้างพื้นที่เมืองยกระดับแล้ว ศูนย์กลางมหานครแห่งนี้ก็จะค่อยๆ กลายเป็นพื้นที่ใจกลาง ซึ่งเมืองจะเจริญเติบโตและขยายตัวโดยเชื่อมต่อกับโครงการนี้ และช่วยลดความหนาแน่นประชากรในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเนเธอแลนด์
ในขณะเดียวกัน โรงงานพลังงานความร้อนใต้พิภพนั้นจะเป็นศูนย์กลางของแหล่งผลิตพลังงาน และเป็นเกตเวย์สำคัญของย่านนวัตกรรมนี้ เกตเวย์พลังงานนี้ไม่ใช่เป็นเพียงสถานีผลิตพลังงานจากความร้อนใต้พิภพ แต่ยังเป็นสะพานที่เชื่อมต่อพื้นที่ชุมชนในละแวกใกล้เคียง มีสวนฤดูหนาว และโคเวิร์กกิ้งสเปซสำหรับบรรดาบริษัทสตาร์ตอัพ แต่ที่สุดแล้วนี่คือสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงทางพลังงาน หรือที่เรียกได้ว่า “มหาวิหารแห่งพลังงาน”
Biopolus คืออีกเกตเวย์หนึ่ง เป็นพื้นที่ของศาสตร์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งหมายถึงระบบหมุนเวียนในการผลิตอาหารและน้ำสำหรับพื้นที่ ที่นี่จะบำบัดน้ำเสียจากพื้นที่มหานครแห่งใหม่ให้บริสุทธิ์ โดยสารอาหารที่ถูกปลดปล่อยออกมาจะใช้ในการเลี้ยงพืชผัก ส่วนน้ำเสียจะถูกสูบผ่านท่อขึ้นไปสู่ระดับความสูงสุดและไหลลงมาสู่จุดต่ำสุดโดยผ่านกระบวนการกรองหลายขั้นตอน จนกลายเป็นน้ำดื่มคุณภาพก่อนที่จะเข้าสู่ระบบอีกครั้งเพื่อให้วงจรสมบูรณ์ เกตเวย์นี้มีฟาร์มคนเมือง ประกอบด้วยสวนแนวตั้งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วมและอุณหภูมิที่สูงเกินไป
จากเดิมที่น้ำฝน น้ำเสียและน้ำทิ้งมักถูกกำจัดผ่านระบบระบายน้ำเดียวกัน ในมหานครนี้ ระบบการจัดการน้ำจะถูกจำแนกเป็นระบบต่างๆ เช่น น้ำเสียจะถูกระบายผ่านทางท่อใต้ดิน ส่วนน้ำฝนที่ค่อนข้างสะอาดจะถูกนำมาใช้ใหม่ในแหล่งน้ำของพื้นที่สาธารณะ เช่น ระบบชลประทานของคลองต่างๆ สวนน้ำ และน้ำตก
นอกเหนือไปจากฟังก์ชั่นที่ใช้งานได้จริงสำหรับเมืองแล้ว เกตเวย์ยังเป็นสถาปัตยกรรมที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาด้านสังคม ช่วยลดช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำระหว่างความเจริญทางวัตถุและเทคโนโลยีกับคุณภาพชีวิตของประชากรสำหรับเมืองแห่งอนาคตนี้
ภาพและข้อมูลจาก https://www.archdaily.com/907063/unstudio-designs-a-city-of-the-future-for-the-hague