OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

12 สถาปัตยกรรมที่น่าจับตามองในปี 2019

“ปีใหม่” มักเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นใหม่ หรือมีสิ่งใหม่ๆกำลังจะเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งสำหรับวงการสถาปัตยกรรมแล้ว ก็มีหลากหลายสถาปัตยกรรมใหม่ๆที่กำลังจะเปิดตัว และเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานในปี 2019 นี้เช่นกัน เราจึงคัดสรร 12สถาปัตยกรรมที่มีความน่าสนใจจากทั่วทุกมุมโลกมาให้อัพเดทกัน ว่าแต่จะมีงานไหนน่าตื่นตาตื่นใจกันบ้าง ไปดูกันเลย

Beijing New Airport
Location: China
Architects: Zaha Hadid Architects and ADPI

เริ่มต้นกันที่งานออกแบบอาคารผู้โดยสารในสนามบินสุดอลังการเมืองปักกิ่ง ที่นับว่ากำลังจะกลายมาเป็นอาคารผู้โดยสารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในอีกไม่ช้านี้ ผลงานการออกแบบจาก “Zaha Hadid” สถาปนิกหญิงตัวแม่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ร่วมกับทีมของ “ADPI” ที่ชนะการประกวดออกแบบในปี 2011 ที่ผ่านมา โดยอาคารแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองปักกิ่ง ตรงข้ามกับสนามบินปักกิ่ง อาคารหลักเดิม โดยเป็นที่คาดการณ์ว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารมากถึง 45ล้านคนต่อปี

——————-

M+
Location: Hong Kong
Architect: Herzog & de Meuron

หลังจากรอคอยมาอย่างยาวนาน ในปี 2019 นี้ “M+” พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ในฮ่องกง ที่ซึ่งรวบรวมศิลปะการออกแบบ สถาปัตยกรรม และภาพยนต์รวมเข้าไว้ด้วยกัน จะเปิดตัวพร้อมให้ได้เข้าไปสัมผัสกันแล้ว โดยถือเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก และจะถูกยกให้เป็นศูนย์กลางของประวัติศาสตร์การออกแบบในเอเชียอีกด้วย

——————-

111 West 57th
Location: USA
Architect: SHoP Architects

ตึกสูงระฟ้าแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่บนถนน Billionaire’s Row ในเมืองแมนฮัตตัน ประเทศสหรัฐอเมริกานี้ กำลังจะกลายเป็นตึกสูงที่ “บางที่สุดในโลก“ ในอีกไม่ช้า เพราะด้วยสัดส่วนระหว่างความสูงของตึกในระดับ 443 เมตร ในความกว้างของพื้นที่ตั้ง 13 เมตร ทำให้อัตราส่วนความสูงต่อความกว้างอยู่ที่ 24: 1 นับว่าบางมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนตึกสูงที่มีในปัจจุบัน ออกแบบโดย SHoP Architects

——————-

Panda House
Location: Denmark
Architect: BIG

“BIG” บริษัทสถาปนิกชื่อดัง กำลังจะมีงานออกแบบมากมายที่ถูกวางให้แล้วเสร็จในปี 2019 แต่โปรเจกต์ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานมากที่สุด คงจะเป็น “Panda House” พื้นที่อาศัยแห่งใหม่ของหมีแพนด้าในสวนสัตว์โคเปเฮเก้น ประเทศเดนมาร์ก ที่มีการออกแบบ วางผังเป็นรูปสัญลักษณ์ “หยินหยาง” ซึ่งก่อให้เกิดการผสานกันอย่างกลมกลืน ระหว่างพื้นที่ภายในกับภายนอกที่เต็มไปด้วยดงไผ่ อาหารโปรดของแพนด้า และป่าไม้อันเขียวชะอุ่ม

——————-

Courtyard Kindergarten
Location: China
Architect: MAD

สนามเด็กเล่นที่มีสีสันสดใสขนาดใหญ่แห่งใหม่ พื้นที่ซึ่งปกคลุมอยู่ด้านบนของโรงเรียนอนุบาลในเมืองปักกิ่ง ในบริบทที่รายล้อมไปด้วยบ้านแบบโบราณของจีนที่มีคอร์ทตรงกลาง หรือที่เรียกว่า “ซี่เห่ยหยวน siheyuan” ออกแบบโดยบริษัท MAD ที่มีแนวคิดนำสถาปัตยกรรมเก่ามาผสมผสานกับรูปแบบใหม่ได้อย่างอิสระ โดยจะกลายมาเป็นพื้นที่กิจกรรมกลางแจ้งสำหรับเด็กๆ ในระดับที่ยกสูงกว่าปกติ ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากในเมืองใหญ่แห่งนี้

——————-

Tainan Axis
Location: Taiwan
Architect: MVRDV

การแทนที่ห้างสรรพสินค้าเก่า ด้วยสวนขนาดใหญ่ที่รายล้อมไปด้วยทะเลสาบ แนวต้นไม้ และชายหาดแห่งนี้ เป็นฝีมือการออกแบบของบริษัทสถาปนิกระดับโลกอย่าง “MVRDV” ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่จะคงชิ้นส่วนองค์ประกอบเดิมของอาคารอย่างเดิมโครงสร้างคอนกรีตไว้ ให้เป็นเหมือนร่องรอยประวัติศาสตร์ของพื้นที่แห่งนี้

——————-

Kistefos Museum
Location: Norway
Architect: BIG

อีกหนึ่งงานออกแบบจาก “BIG” นั่นคือ อาคารหอศิลป์แห่งใหม่ใน Kistefos Sculpture Park ในประเทศนอร์เวย์ ที่มีรูปทรงของอาคารยาวและบิดตัว โดยผู้ก่อตั้งสตูดิโอนี้ อย่าง “Bjarke Ingels” ได้ให้คำนิยามกับสถาปัตยกรรมนี้ว่า “เป็นสะพานที่สามารถอาศัยอยู่ได้ซึ่งพาดอยู่เหนือแม่น้ำ”

——————-

Vessel
Location: USA
Architect: Heatherwick Studio

สถาปัตยกรรมรูปร่างชวนสงสัยนี้ประกอบขึ้นจากองค์ประกอบของอาคารอย่างบันไดจำนวน 154 ชิ้น นับเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวของบริษัท Hudson Yards development บนฝั่งตะวักตกของเมืองแมนฮัตตัน โดย Thomas Heatherwick ผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมแห่งนี้ได้กล่าวไว้ว่า “โครงสร้างจะมีลักษณะคล้ายรังผึ้ง และเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างมุมมองและประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้แก่ผู้คน”

——————-

The Shed
Location: USA
Architect: Diller Scofidio + Renfro and Rockwell Group

อีกหนึ่งสถาปัตยกรรมแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของเมืองแมนฮัตตัน อย่าง “The Shed” ส่วนต่อเติมจากศูนย์วัฒนธรรมที่รองรับพื้นที่สำหรับการจัดนิทรรศการ การแสดง และกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งความพิเศษของอาคารนี้คือ พื้นที้ชั้นสองที่ออกแบบให้เป็นแกลอรี่แบบไร้เสา และโรงละครเอนกประสงค์ภายในอาคารกระจกที่มีแข็งแรงเป็นพิเศษ ออกแบบโดย Diller Scofidio + Renfro and Rockwell Group

——————-

Nhow Amsterdam RAI Hotel
Location: Netherlands
Architect: OMA

สถาปัตยกรรมใหม่จากบริษัทสถาปนิกชื่อดัง “OMA” แห่งนี้ กำลังจะกลายเป็นโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้วยการออกแบบรูปทรงกล่องสามเหลี่ยมที่วางซ้อนทับกัน 3 ชั้นในองศาที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ที่มีถึง 650 ห้องเลยทีเดียว

——————-

Hunter’s Point Library
Location: USA
Architect: Steven Holl Architects

“Hunter’s Point Library” หอสมุดแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่ในนิวยอร์ก โดย “Steven Holl” ผู้ออกแบบได้กล่าวไว้ว่า หอสมุดแห่งนี้ เปรียบเสมือน “เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนพื้นที่สาธารณะของเมือง” เพราะด้วยการออกแบบช่องเปิดอาคารด้านตะวันตกของขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างคล้ายรอยขีดข่วน จะทำให้มองเห็นทิวทัศน์อันกว้างไกลของเมืองได้ ทำให้ผู้เยี่ยมชมมีประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากเดิม

——————-

Perspektivenweg
Location: Austria
Architect: Snøhetta

บริษัท Snøhetta ได้ออกแบบ Installations หรือประติมากรรมบนภูเขาในเมือง Innsbruck เพื่อเป็นจุดชมวิวและพื้นที่พักผ่อนสำหรับนักปีนเขา ซึ่งออกแบบอย่างน่าสนใจโดยเป็นโครงสร้างไร้เสาที่ยื่นออกไปสู่หน้าผา

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของ สถาปัตยกรรมใหม่ที่น่าจับตามองในปี 2019 เท่านั้น เชื่อว่ายังคงมีอีกหลายผลงานที่สร้างสรรค์ออกมาภายในปีนี้อีกมากมายให้ติดตามกัน หากมีผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมใหม่ๆที่น่าสนใจ Dsign Something จะมาอัพเดทและเล่าสู่กันฟังอีกในภายภาคหน้าค่ะ

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก Dezeen

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading