OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

10 คำถามเรื่องบ้าน กับตัวตนที่ไร้ตัวตนของ Anonym

ความไร้ชื่อที่สะท้อนตัวตนได้ดีที่สุด ของคุณพงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์ และคุณปานดวงใจ รุจจนเวท แห่ง Anonym

Anonym เป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่แปลว่า ไม่มีชื่อ, นิรนามในภาษาไทย แต่หากพูดชื่อ Anonym กับบุคคลในแวดวงสถาปัตยกรรมแล้ว ภาพจำของบ้านทั้งเล็กและใหญ่ภายใต้ดีไซน์อันโดดเด่น พร้อมทั้งมีสภาวะอยู่สบายก็ลอยขึ้นมาทันที …

บรรยากาศในสตูดิโอ Anonym ย่านเอกมัย

บ่ายแก่ๆ เรามีโอกาสได้สนทนากับคุณบอย พงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์และคุณปาน ปานดวงใจ รุจจนเวท แห่ง Anonym สตูดิโอของพวกเขาตั้งอยู่ในย่านเอกมัย แต่กลับมีต้นไม้และลมธรรมชาติพัดผ่านอยู่ตลอด แสดงให้เห็นถึงการใส่ใจการออกแบบเรื่องพื้นฐานอย่างการดูทิศทางลม แสงแดด ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการออกแบบบ้านของ Anonym เราจึงไม่พลาดที่จะยกคำถามเกี่ยวกับการออกแบบบ้านมาคุยกับคุณบอยและคุณปาน มาให้ติดตามกันค่ะ

“เราเลือกที่จะหันหลังให้กับการออกแบบอาคาร Public ขนาดใหญ่ และเริ่มต้นออกแบบที่พักอาศัยในสเกลเล็กลง แต่สามารถเข้าถึงการดำเนินชีวิตของมนุษย์ได้มากกว่า เพราะเหตุนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ Anonym เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตอนแรกมีแค่เรากับคุณปาน โดยเริ่มจากเช่าห้องเล็กๆ ทำงานกันอยู่แค่ 2 คน ไปๆ มาๆ Anonym ก็เริ่มโตขึ้น มีลูกค้าติดต่อให้ทำโปรเจคที่หลากหลายมากขึ้น เลยเป็นที่มาของการขยับขยายกลายเป็นออฟฟิศที่เอกมัยในปัจจุบัน” คุณบอย พงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์กล่าวเริ่มต้นบทสนทนากับเรา

คุณบอย พงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์ และคุณปาน ปานดวงใจ รุจจนเวท

Dsign Something: ทำไมถึงชื่อ Anonym ?

Boy: ตอนเปิดออฟฟิศ เราอยากให้ชื่อออฟฟิศจำง่ายกว่าตัวบุคคล ก็เลยเป็นชื่อ Anonym ซึ่งแปลว่าไร้นาม หรือการไม่มีชื่อครับ

Pan: เราไม่อยากจำกัดขอบเขตการทำงาน อยากให้ลูกค้ารู้จักผลงานที่ออกแบบมากกว่าชื่อของพวกเรา ดังนั้นเราเลยไม่เน้นว่าแต่ละโปรเจคออกมาในรูปแบบไหน เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือแต่ละโปรเจคต้องตอบสนองการใช้งานและเข้ากับการใช้ชีวิตของลูกค้าให้ได้ค่ะ

Dsign Something: แนวทางการออกแบบของ Anonym ?

Pan: ปกติแล้วก็จะแบ่งงานกัน คุณบอยดูงานสถาปัตยกรรม ส่วนเราดูงานอินทีเรียเป็นหลัก แต่ก็จะมีการปรึกษากันตลอด ก่อนเริ่มโปรเจคก็จะมีการพูดคุย หาแนวคิดของแต่ละงาน เพื่อให้งานออกมาในทิศทางเดียวกัน จากนั้นจึงเริ่มงานในแต่ละส่วนพร้อมกัน

Boy: ใช่ครับ คือเราพยายามคุยงานกันตลอด เพราะจะได้เห็นมุมมองการทำงานที่น่าสนใจมากขึ้น อย่างเราเป็นมุมมองของสถาปนิก ส่วนคุณปานเป็นมุมมองอินทีเรีย ถ้ามุมมองทั้ง 2 นี้ ไปด้วยกันตั้งแต่แรก ก็จะเป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ให้โปรเจคออกมาสมบูรณ์มากขึ้น

 

Flower Cage House

Dsign Something: ลูกค้าในความหมายของ Anonym ?

Boy: เวลาทำงานกับลูกค้า เรามองเป็นงาน Collaborate คือนอกจากพวกเราจะต้องทำการบ้านแล้ว ลูกค้าก็ต้องทำการบ้านเช่นกัน อาจจะหาว่าเขาสนใจอะไร ชอบแบบไหน พอเริ่มออกแบบก็นำความคิดมา Brainstorm กัน เรามองว่าหน้าที่ของสถาปนิกคือนำความรู้ นำแนวคิดที่มีไปช่วยแนะนำลูกค้า เราเลยอยากให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการออกแบบ เพราะต่อไปบ้านหลังนี้ จะเป็นบ้านที่เขาอยู่ไปตลอดครับ

Pan: ถ้าเราออกแบบแล้วปิดกั้น ไม่เอาความคิดของคนอื่นเลย งานก็จะออกมาเหมือนกันหมด ซึ่งเราคิดว่ามันไม่สนุก เพราะต่างคน ต่างความคิด ต่างบริบท ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเหมือนกัน

แล้วสิ่งที่เราได้กลับมาคือความหลากหลาย ได้ความรู้ใหม่ๆ ช่วยให้เราไม่ยึดติดกับอะไรเดิมๆ ซึ่งการทำเช่นนี้ไม่มีผิดหรือถูก มันเป็นแค่การตีความของแต่ละคน ว่าทำงานสถาปัตยกรรมแบบไหนแล้วมีความสุขมากกว่า 

 Flower Cage House

Dsign Something: เพราะอะไร Anonym ถึงออกแบบบ้านเป็นหลัก ?

Pan: เราอยากทำโปรเจคเล็กๆ เพราะรู้สึกได้ใกล้ชิดกับผู้ใช้งานมากกว่า เหมือนได้ดูแลคนเพียงไม่กี่คน แต่สามารถทำให้เขามีความสุขในการพักอาศัยได้ เป็นการดูแลด้วยคุณภาพมากกว่าปริมาณ สำหรับเราถ้าลูกค้ามีความสุข เราก็จะมีความสุขด้วย จริงๆ เราแค่อยากอยู่ในจุดที่สามารถเลือกทำในสิ่งที่อยากทำ เพราะถ้าเรารู้สึกดี ก็สามารถทำได้เรื่อยๆ อย่างไม่มีเบื่อ

Boy: เราเชื่อว่างานสถาปัตยกรรมไม่มีทางหยุดอยู่กับที่ มันจะพัฒนาตัวเราไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้ตัว เราเลยเลือกที่จะออกแบบบ้าน เพราะเชื่อว่ามันสอนให้เข้าใจมนุษย์มากขึ้น ว่าทุกคนมีความหลากหลายและแตกต่างกัน

Oka Haus

Dsign Something: บ้านที่ดีเป็นแบบไหน ?

Boy: บ้านที่ดีคือบ้านที่อยู่แล้วมีความสุข ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเจ้าของบ้านครับ ไม่มีพื้นที่ Waste Space เพราะแต่ละพื้นที่จะมีหน้าที่ของตัวเองอย่างชัดเจน

Pan: คือทุกพื้นที่ถูกจะใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้จะเป็นพื้นที่ว่างแต่ก็มีประโยชน์ เพราะถ้าเราไม่ใช้พื้นที่อย่างเต็มที่ พื้นที่นั้นก็จะกลายเป็นห้องมืดๆ เป็นมุมอับ ที่ไม่ได้ใช้งาน

อาคารที่ดีต้องรู้สึกได้ว่าดี เพราะคนใช้จะรู้ได้เองว่าดี เช่น มีความสะดวก สบาย นอกจากนั้นอาคารจะดีไม่ดี เราสังเกตุได้จากคนที่เข้ามาใช้งานว่าเป็นอย่างไรค่ะ

Triangle House

Dsign Something: บ้านแบบไหนที่เข้ากับสภาพอากาศประเทศไทยมากที่สุด ?

Boy: บ้านที่เข้ากับสภาพอากาศสำหรับเราไม่ได้อยู่ที่รูปแบบ แต่อยู่ที่การวางทิศทางอาคาร การคำนึงเรื่องแสง ลม และแดดมากกว่า ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานในการออกแบบที่เราเรียนตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัยครับ

Pan: เราเลยคิดว่าถ้าเริ่มทำงานโดยนำแลนด์สเคปมาผสานกับสถาปัตยกรรมให้ได้มากที่สุด เช่นการมีคอร์ทช่วยระบายอากาศ นำแสงแดด น้ำ และธรรมชาติเข้ามาในอาคาร ก็จะทำให้งานน่าอยู่มากขึ้น เป็นการออกแบบบ้านให้มีมิติ ทั้งการพักอาศัยและการแก้ปัญหาเรื่องความร้อน

 Y House

Dsign Something: บ้านสไตล์ Tropical จำเป็นต้องเป็นบ้านไม้อย่างเดียวหรือเปล่า ?

Pan: เราออกแบบตามบริบทและอิงตามสภาพอากาศที่ตั้งของไซท์ มากกว่าจะตั้งใจออกแบบให้บ้านออกมาในสไตล์ไหน คือจะดูจากแสง ธรรมชาติ และการระบายอากาศมากกว่าวัสดุและสไตล์ ซึ่งปกติแล้วทุกคนจะติดภาพว่าบ้าน Tropical จะต้องเป็นไม้ แต่จริงๆ แล้ว Tropical คือขั้นตอนการออกแบบให้เข้ากับสภาพแวดล้อมมากกว่า

 Y House

Dsign Something: พื้นที่ ที่เหมาะสมกับการใช้งานในบ้านเป็นแบบไหน ?

Boy: เราชอบพื้นที่ส่วนกลางที่เชื่อมต่อกับสมาชิกในบ้าน เพราะรู้สึกว่าพื้นที่ส่วนกลางเป็นพื้นที่ ที่ใกล้ชิดกันมากที่สุด เช่นบ้าน Y แม้ผังบ้านจะเป็นเชปรูปตัว Y แต่ผู้ใช้งานในบ้านต่างคนต่างสามารถมองเห็นกันได้ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนในบ้านก็ตาม

bAAn

Dsign Something: วัสดุชนิดไหนที่เหมาะสมกับสภาพอากาศของประเทศไทย ?

Boy: ไม้เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะเป็นวัสดุที่เหมาะกับบ้านเรา ทั้งสวย มีเทกซ์เจอร์ และอบอุ่น แต่สิ่งที่ตามมาคือไม้มีราคาสูงและต้องดูแลรักษาอยู่ตลอด ถ้าโอนเนอร์รับข้อจำกัดตรงนี้ได้ ไม้ก็เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดครับ

Pan: ในบ้านเรา การเลือกใช้วัสดุต้องคำนึงเรื่องสภาพอากาศเป็นหลัก ต้องเป็นวัสดุที่สัมผัสแล้วรู้สึกดี ไม่ว่าจะเป็นไม้ กระเบื้อง ปูน ก็ทั้งมีข้อดีและข้อเสียต่างกัน จริงๆ แค่เวลาเดินเท้าเปล่าในบ้าน เราต้องรู้สึกว่ามันสบายเท่านั้นเองค่ะ

POP House

Dsign Something: อะไรคือความท้าทายในการออกแบบแต่ละโปรเจค ?

Boy: สำหรับเราทุกโปรเจคท้าทายหมดเลย เพราะเวลาออกแบบบ้านต้องเริ่มต้นใหม่ เริ่มทำความรู้จักใหม่หมดเลย แล้วต่อจากนั้นเราจะตีความหมายของคำว่าบ้านออกมาแบบไหน จะมีพื้นที่ จะใช้วัสดุอะไรบ้าง โดยทุกคำถามนั้นจะเริ่มจากการทำความเข้าใจลูกค้าก่อนตลอดครับ

Pan: ใกล้เคียงกันค่ะ ความท้าทายของบ้านเป็นเรื่องของผู้ใช้งาน เพราะในท้ายที่สุด บ้านจะเป็นสิ่งที่สนับสนุนผู้ใช้งาน เราจะคำนึงตลอดว่า จะออกแบบพื้นที่อย่างไรให้ความสัมพันธ์ของคนในบ้านดีขึ้น ให้เขามีความสุข สบาย และใช้ชีวิตได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายในแต่ละโปรเจค อาจจะเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ในตอนออกแบบ แต่จะเกิดขึ้นหลังผู้ใช้งานได้เข้าไปใช้ชีวิตในนั้น

เพราะแนวทางการออกแบบของเรา คือใช้ความรู้สึก

และสัญชาตญาณในการสื่อสารสถาปัตยกรรม

“การออกแบบสถาปัตยกรรมเป็นงานที่ใช้ประสบการณ์ เราต้องใช้เวลาในการค่อยๆ ซึมซับที่ว่างและความรู้สึก ยิ่งเราฝึกฝนไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ก็จะถึงเวลาของตัวเอง”

“ถ้าเราทำอะไรแล้วมีความสุขเราก็จะทำมันได้นาน”

คุณบอยและคุณปานกล่าวทิ้งท้ายถึงวิสัยทัศน์ของ Anonym ที่ทำให้พวกเขาทำงานอย่างมีความสุขกับเรา เพราะการทำงานแบบละทิ้งตัวตน พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตามความแตกต่างของมนุษย์ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือความเชี่ยวชาญจากมุมมองอันหลากหลาย จนเกิดเป็นการทำในสิ่งที่ชื่นชอบของพวกเขาทั้ง 2 คน

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading