OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

TILE ROOF HOUSE บ้านในองศาที่แตกต่าง แต่กลมกลืนกับเมืองด้วยการออกแบบ

 

“เชื่อมต่อสายใย 3 วัยในครอบครัว ภายใต้บ้านที่ปกคลุมด้วยผืนหลังคากระเบื้อง”

Location: Phước Kiển, Vietnam
Architects: K59atelier

แต่เดิมนั้น แนวคิดทางสถาปัตยกรรมของมนุษย์ คือ การตั้งถิ่นฐาน และเพื่อปกป้องมนุษย์จากสภาพอากาศภายนอก แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป สถาปัตยกรรมได้ถูกพัฒนาจนเกิดคุณลักษณะเฉพาะตามความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ โดยแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกันออกไป ก่อเกิดเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของตนเอง บ้าน “TILE ROOF HOUSE” หลังนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งสถาปัตยกรรมขนาดเล็ก ที่สร้างสรรค์จากปัจจัยของธรรมชาติและผู้อยู่อาศัย พร้อมใส่ใจในรายละเอียดในการออกแบบ ทั้งรูปลักษณ์และวัสดุ ที่สามารถตอบคำถามเรื่องเอกลักษณ์และฤดูกาลของเมืองโฮจิมิน ประเทศเวียดนาม ได้เป็นอย่างดี

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บริเวณชานเมืองโฮจิมิน พื้นที่ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ราบ ภูมิอากาศเป็นแบบมรสุมเขตร้อน หรือมีสองฤดูคือ ฤดูฝนกับฤดูร้อน “K59atelier” สถาปนิกชาวเวียดนามผู้ออกแบบบ้านหลังนี้ให้กลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัยร่วมกันของคนสามช่วงวัย ภายใต้หลังคาผืนใหญ่อันเป็นจุดเด่นของบ้าน ที่ทำมาจากกระเบื้องเทอรราคอตต้า (Terra-cotta) หรือกระเบื้องดินเผา วัสดุที่เปรียบเสมือนภาพลักษณ์ของเมืองโบราณในประเทศเวียดนาม พร้อมทั้ง 5 ปัจจัยทางธรรมชาติที่เป็นตัวกำหนดทิศทางการออกแบบ…

เชื่อมต่อทุกวัยในครอบครัว

อย่างที่ทราบกันดีว่า ผู้อยู่อาศัยเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดภายในบ้าน ซึ่งในบ้านหลังนี้ก็เป็นบ้านที่มีผู้อยู่อาศัยถึง 3 ช่วงวัย ซึ่งแน่นอนว่ากิจกรรมหรือความชอบต่างๆย่อมมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง สถาปนิกจึงออกแบบพื้นที่ภายในบ้านให้เชื่อมต่อกันทั้งหมด เพื่อให้ทุกคนได้พบปะกัน เสมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกคนได้ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น อย่างพื้นที่นั่งเล่น Common Space ห้องครัวและห้องรับประทานอาหารที่มีขนาดกว้างขวาง พร้อมทั้งวางฟังก์ชันที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยเอง อย่างการออกแบบให้มีห้องนอนที่ชั้นล่าง เพื่อรองรับผู้สูงอายุนั่นเอง

ส่วนการตกแต่งภายในบ้าน เป็นไปอย่างเรียบง่าย ผนังส่วนใหญ่มีสีขาวสะอาดตา วัสดุพื้นผสมผสานระหว่างไม้ คอนกรีตและอิฐ สร้างแพทเทิลออกมาอย่างสวยงามในตัว แทบไม่ต้องมีของประดับตกแต่งเพิ่มเติม เฟอร์นิเจอร์เป็นไม้ที่ดูแล้วลงตัวกับสีของกระเบื้องหลังคา และบานประตูหน้าต่างอีกด้วย ซึ่งวัสดุทั้งหมดนี้ เป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นของเวียดนามอยู่แล้ว แถมยังตอบโจทย์ตามลักษณะสถาปัตยกรรมเขตร้อนได้เป็นอย่างดี

Section ที่แสดงให้เห็นพื้นที่รวมทั้งหมดภายในบ้าน

“พระอาทิตย์” แบ่งครึ่งพื้นที่ภายในบ้าน

ด้วยทิศทางของแสงอาทิตย์ จากทั้งทางทิศตะวันออกและตะวันตกในทิศทางที่ขนาบด้านข้างของบ้าน สถาปนิกจึงออกแบบแบ่งครึ่งฟังก์ชันภายในบ้านออกแบบสองฝั่ง นั่นคือ วาง Action Area ที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีการใช้งานเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เช่น ทางเดิน พื้นที่ common space หรือแม้กระทั่งช่องเปิดขนาดใหญ่ภายในบ้านไว้ในทิศตะวันตก ส่วนในทิศตะวันออก ก็เป็นStillness Area หรือฟังก์ชันที่นิ่งและไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวอย่างห้องนอน และห้องทำงาน เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่สาดส่องเข้ามาภายในบ้านนั่นเอง

แปลนชั้นล่างสุดของบ้าน

แปลนชั้น 1 ของบ้าน

ไดอะแกรมแสดงแนวคิดของบ้าน

“ลม” ผ่านหลังคาในองศาที่แตกต่าง

สถาปนิกได้คงรูปแบบลักษณะจั่วหลังคาแบบดั้งเดิมของเวียดนามไว้ แต่ปรับเปลี่ยนระดับความลาดเอียดของหลังคา และเพิ่มระดับความสูงต่ำที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างหลังคา เพื่อให้แสงและลมสามารถพัดผ่านเข้ามาได้ โดยช่องว่างนั้นมีการติดตั้งระบบประตูม้วน (Shutter door system) เพื่อปรับระดับการถ่ายเทหมุนเวียนอากาศภายในบ้าน ไม่ให้แรงไปหรือเบาไป

ความลาดเอียงของหลังคาในลักษณะนี้ทำให้พื้นที่การใช้งานฟังก์ชันต่างๆ ภายในบ้านดูโปร่งโล่ง ไม่ทึบตัน รวมถึงประตูบานเปิดไม้ ที่เลือกเปิดเพื่อต้อนรับแสงแดดและลมธรรมชาติเข้ามาสู่พื้นที่ระเบียงได้ และปิดเมื่อต้องการเป็นส่วนตัว

นอกจากนี้เรายังสามารถสัมผัสกับความลาดเอียงของหลังคาได้ในทุกๆพื้นที่ ให้บรรยากาศของความเป็นบ้านในรูปแบบดั้งเดิม พร้อมสทั้งมีการเจาะช่องผนังด้านบน เพื่อให้แสงและลมผ่านเข้าออกภายในบ้านได้ตลอดวัน

 “ฝน” สุนทรียภาพสำหรับทุกคนในครอบครัว

รางน้ำฝนถูกออกแบบซ่อนไว้ตามความลาดเอียงของหลังคา เพื่อรองรับน้ำฝนที่ตกลงมา และกักน้ำไว้สำหรับรดน้ำต้นไม้ นอกจากนี้ในส่วนปลายของชายคาที่ยื่นออกมาต่อจากรางน้ำฝน ถูกออกแบบให้น้ำที่ไหลงสู่พื้นดิน มีลักษณะคล้ายม่านน้ำบาง ๆ ที่สวยงามบริเวณหน้าบ้าน ที่ซึ่งช่วยสร้างสุนทรียภาพสำหรับทุกคนในครอบครัว

 “ต้นไม้” กับมุมมองความร่มรื่น

สอดแทรกความรื่นรมย์ในการอยู่อาศัย ด้วยความร่มรื่นของพื้นที่สีเขียว ที่อยู่ภายในสวนด้านหน้าและด้านหลังของบ้าน และออกแบบพื้นที่ระเบียงบนชั้นสอง ที่มีช่องเปิดนำสายตาไปสู่พื้นที่สีเขียวตรงข้ามบ้าน ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการอยู่อาศัย และคนในบ้านรู้สึกปลอดโปร่ง อยู่สบาย

รูปสเกตซ์ที่แสดงให้เห็นพื้นที่ตรงข้ามของบ้าน ที่เป็นพื้นที่โล่งและเต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว

วิถีชีวิตสมัยใหม่นั้นไม่ได้หมายความว่า เราต้องอยู่อาศัยแบ่งแยกจากธรรมชาติ แต่คือการที่เราอยู่อาศัยไปอย่างกลมกลืนกับแสงแดด สายลม สายฝน และต้นไม้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรค่าแก่การให้ความสำคัญในการใช้ชีวิต นอกจากนี้สิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุด คือ ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในการพัฒนาความเป็นอยู่ในสังคมนี้อย่างยั่งยืน

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading