“ลุ้นสถาปนิกไทยคว้ารางวัลไกลจาก Royal Academy Dorfman Award”
“Royal Academy Dorfman Award” รางวัลที่มอบให้กับสถาปนิกหรือกลุ่มคนที่สร้างภาพใหม่แห่งอนาคตทางสถาปัตยกรรม และมีผลงานการออกแบบที่คำนึงถึงบริบทท้องถิ่น รวมถึงมีความเป็นสากล โดยในปี 2019 นี้ทาง Royal Academy ได้ประกาศรายชื่อผู้เข้ารอบสี่คนสุดท้ายออกมาผ่านเว็บไซต์ royalacademy เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับคนไทย เพราะหนึ่งในนั้น คือ “ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา” สถาปนิกไทยจาก Bangkok Project Studio ที่ฝากผลงานอันทรงคุณค่าอย่าง The wine Ayutthaya ,อาคารกันตนา และอื่นๆไว้อีกมากมาย
ในปีที่แล้ว ผู้ที่ได้รางวัลนี้ไปครอบครอบ คือ “Alireza Taghaboni” สถาปนิกชาวอิหร่าน แห่งบริษัท NextOffice ผู้มีแนวคิดว่า จุดยืนของสถาปนิกควรจะตั้งอยู่ในระยะที่พอดีกับจุดยืนของรัฐบาลอิหร่านที่มีต่องานสถาปัตยกรรม ส่วนในปีนี้ผู้เข้าชิงทั้งหมดได้แก่…
“บุญเสริม เปรมธาดา” | Bangkok Project Studio
“เมื่อการฝึกฝนเป็นส่วนสำคัญของงานคราฟท์ในสถาปัตยกรรม และนำไปสู่การออกแบบที่มีรายละเอียดของความรู้สึกที่แท้จริง” แนวคิดการออกแบบของสถาปนิกผู้นี้ จึงเป็นการให้ความสำคัญต่อวิธีการและวัสดุก่อสร้างภายในท้องถิ่น เช่น สถาบันภาพยนตร์และภาพเคลื่อนไหวของกันตนาในจังหวัดนครปฐม ที่สร้างผ่านจิตวิญญาณ โดยใช้ก้อนอิฐของชาวบ้านมาเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ กลายเป็นกำแพงที่พริ้วไหวและเกิดเป็นอาคารในที่สุด
ตัวอย่างผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมของ “บุญเสริม เปรมธาดา”
“Fernanda Canales” | Fernanda Canales Arquitectura
สถาปนิกจากประเทศแมกซิโก ผู้ผ่านการทำงานในระดับนานาชาติมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิกชื่อดังอย่าง “Toyo Ito” ในโตเกียวประเทศญี่ปุ่น และ “Sola-Morales” ในบาร์เซโลนา ซึ่งผลงานครอบคลุมตั้งแต่สถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็ก และด้วยมุมมองการออกแบบที่ว่า ทุกๆโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสที่จะลดช่องว่างระหว่างสิ่งก่อสร้าง กับสถาปัตยกรรมที่เหมาะสมและเราตอบโจทย์ในอยู่อาศัยจริงๆ
ตัวอย่างผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมของ “Fernanda Canales”
“Alice Casey and Cian Deegan” | TAKA Architects
TAKA Architects บริษัทสถาปนิกในเมืองดับลินประเทศไอร์แลนด์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 จากการทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนานของ Alice Casey และ Cian Deegan ซึ่งงานออกแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของพวกเขาทั้งสองนั้นเกิดจากการเดินทางระหว่างประเทศและการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวิจัยในการเรียนปริญญาเอก ส่วนแนวทางในการออกแบบนั้นจะเน้นวิธีการใช้วัสดุและการก่อสร้างอย่างระมัดระวัง รวมถึงประหยัดเพื่อความยั่งยืน
ตัวอย่างผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมของ “TAKA Architects”
“Mariam Kamara” | Atelier Masōmī
Mariam Kamara สถาปนิกชาวแอฟริกาตะวันตก ผู้มีความเชื่อว่า ‘สถาปัตยกรรมคือการกระทำทางสังคม’ ในทุกๆโปรเจกต์สามารถออกแบบเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางสังคม และสร้างประสิทธิภาพให้พื้นที่นั้นๆ เหมาะสมกับการอยู่อาศัยได้ ผ่านสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่
ตัวอย่างผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมของ “Mariam Kamara”
ผู้เข้ารอบทั้ง 4 จะต้องนำเสนองานอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าผลรางวัลจะประกาศภายในเดือนพฤษภาคมนี้ หากมีข่าวสารใดๆเพิ่มเติม ทางเราจะรีบนำข่าวสารมาอัพเดทกันอีกครั้งค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก royalacademy และ archdaily