OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

4 ที่พักอาศัยหน้าแคบ เปลี่ยนข้อจำกัดให้เป็นจุดเด่น

ที่พักอาศัยมีดีไซน์จากประเทศญี่ปุ่น ที่จะเปลี่ยนบ้านเล็กๆ ให้เต็มไปด้วยความอบอุ่นและสะดวกสบาย

บ้าน นั้นสำคัญไฉน ?

‘บ้าน’ เป็นสถานที่ ที่มนุษย์ใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุด เป็นที่อยู่อาศัย เพิ่มพูนความผูกพันธ์ของครอบครัว และยังเป็นสถาปัตยกรรมที่ทำให้ผู้พักอาศัยสบายใจมากที่สุด …

แต่ในปัจจุบัน ‘บ้าน’ กลับมีพื้นที่ใช้สอยอย่างจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘บ้านในเมือง’ ซึ่งมักจะมีปัญหาในเรื่องของบริบทรอบข้าง หรือมีที่ดินเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่มีด้านกว้างแคบแต่ยาว เราจึงรวบรวมบ้านหน้าแคบ 4 แบบ 4 สไตล์ที่น่าสนใจจากประเทศญี่ปุ่น มาดูกันค่ะ ว่าเขาแก้ปัญหานี้กันอย่างไรบ้าง

4 m. / Garden House

Architect: Ryue Nishizawa

Location: Tokyo, Japan

Garden House ตั้งอยู่ในเขตการค้า เมือง Tokyo เป็นย่านที่มีผู้คนพลุกพล่านและมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ออกแบบโดย Ryue Nishizawa สถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้ง SANAA บ้านหลังนี้เป็นบ้านขนาด 5 ชั้น มีด้านกว้างเพียง 4 เมตร ประกอบด้วยบ้านและสตูดิโอทำงานสำหรับเจ้าของผู้เป็นนักเขียนทั้ง 2 ท่าน

เนื่องจากมีพื้นที่อย่างจำกัด การออกแบบบ้านให้โล่ง โปร่ง จึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะการออกแบบเช่นนี้ สามารถเพิ่มขนาดพื้นที่ในบ้านให้ดูกว้าง ไม่ปิดทึบได้ แต่ในขณะเดียวกันถ้าเปิดพื้นที่เกินไปก็จะไม่เป็นส่วนตัวต่อผู้พักอาศัย Ryue Nishizawa จึงเลือกใช้ผนังในบ้านทั้งหมดเป็นกระจกใส เชื่อมต่อทุกเสปซในบ้าน และในแต่ละชั้นก็จะมีการจัดสวน ช่วยพรางสายตาจากผู้คนภายนอก เพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้งาน

“ผมออกแบบผนังโดยใช้กระจกใส ทำให้ให้สเปซภายในเปิดโล่ง รับแสงธรรมชาติได้ดี และห้องทุกห้องในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน ห้องนั่งเล่น หรือแม้แต่ห้องน้ำจะมีสวนส่วนตัวของตนเอง เป็นการสร้างสถานที่ผ่อนคลายในบ้าน เพราะเจ้าของสามารถออกมาสูดอากาศบริสุทธิ์ภายนอก พร้อมทั้งเพลิดเพลินไปกับการเขียนหนังสือได้” Ryue Nishizawa สถาปนิกผู้ออกแบบกล่าว

จากผังอาคารจะเห็นว่าทุกส่วนของบ้านมีการทำสวน ปลูกต้นไม้ เพื่อสร้างความผ่อนคลายและเป็นส่วนตัวให้กับผู้พักอาศัย

3.94 m. / Showa – cho House

Architect: Fujiwaramuro Architects

Location: Showa-cho, Japan

บ้านนี้ตั้งอยู่ในเขตเมือง Showa-cho ย่านที่พักอาศัย ซึ่งมีทั้งความเงียบสงบและเป็นส่วนตัว ขนาดของบ้านนั้น มีด้านกว้าง 3.94 เมตร และด้านยาว 17.89 เมตร โดยมี Fujiwaramuro Architects เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ

ภาพตัดอาคาร

สถาปนิกเลือกใช้กระจกใสกั้นระหว่างห้อง เพื่อให้แสงเข้าถึงทุกพื้นที่ในอาคาร และสร้างความต่อเนื่องระหว่างภายใน ภายนอก ช่วยให้บ้านดูมีพื้นที่มากขึ้น มากไปกว่านั้นการใช้กระจกใสยังเป็นการเชื่อมต่อส่วนด้านหน้าและหลังอาคาร แม้ผู้ใช้งานจะอยู่ห้องด้านหลัง ก็สามารถมองทะลุเห็นทิวทัศน์ด้านหน้าอาคารได้ด้วย

บ้านหลังนี้เป็นบ้าน 3 ชั้น มีห้องนั่งเล่น Double Ceiling สูง 5.6 เมตร ตั้งอยู่ในส่วนหน้าบ้าน มีบันไดกลางบ้านทำหน้าที่แบ่งฟังก์ชันส่วนหน้าและหลังบ้านเป็นสัดส่วน และแม้จะมีบันไดอยู่กลางบ้าน แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นมุมมองจากทั้ง 2 ส่วน เพราะผนังในบ้านล้วนใช้กระจกใส และบันไดที่สถาปนิกเลือกใช้ก็เป็นบันไดเปลือย ซึ่งมีที่ว่างระหว่างบันได เชื่อมต่อพื้นที่ด้านหน้าและหลังนั่นเอง

มากไปกว่านั้นยังสามารถปลูกต้นไม้และทำสวนบริเวณหน้าบ้าน เพื่อสร้างบรรยากาศร่มรื่นและผ่อนคลายให้กับผู้พักอาศัย เพราะถึงแม้พื้นที่ภายในจะค่อนข้างเล็ก แต่ก็ยังโล่ง โปร่ง พักอาศัยได้อย่างสะดวกสบาย

3 m. / LmaI House

Architect: Katsutoshi Sasaki + Associates

Location: Okazaki, Japan

LmaI House กว้างเพียง 3 เมตร และยาว 21 เมตร เป็นผืนที่ดินยาวแต่หน้าแคบ มี Katsutoshi Sasaki + Associates เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ แนวคิดของบ้านหลังนี้คือการคำนึงถึงสัดส่วน แสงธรรมชาติ และการใช้งานของแต่ละห้องเป็นองค์ประกอบสำคัญ

ผังอาคาร

ทางเข้าและที่จอดรถหน้าบ้าน จะค่อนข้างทึบ เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวแก่ผู้พักอาศัย

แนวคิดในการออกแบบเริ่มต้นจากการสร้างสมดุลระหว่างสัดส่วนและแสงสว่างภายในบ้าน โดยความสูงจากพื้นถึงฝ้าในแต่ละห้องจะแตกต่างกันตามการใช้งาน เช่น ห้องนอนสำหรับเด็กๆ สูง 1.3 เมตร ห้องนั่งเล่นสูง 4.4 เมตร และในห้องที่มีผู้ใช้งานน้อย ก็จะได้รับแสงธรรมชาติน้อยกว่าพื้นที่ส่วนกลางสำหรับครอบครัว

สถาปนิกออกแบบให้มีสวนในบริเวณหลังบ้านชั้น 1 กับระเบียงชั้น 2 และมีหน้าต่างขนาดใหญ่ในห้องนั่งเล่น ที่ไม่เพียงแต่จะนำแสงเข้ามาในห้อง แต่ยังเป็นทิศทางให้ลมพัดผ่าน ระบายความร้อนในบ้านได้อีกด้วย

ในบ้านที่มีพื้นที่จำกัดควรออกแบบพื้นที่ให้เปิดโล่งและมีผนังน้อยที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงสภาพบรรยากาศที่ทึบ ตัน และฟังก์ชันไหนที่สามารถใช้ด้วยกันได้ก็ควรอยู่ในพื้นที่เดียวกันเป็น Open Space เช่น รวมห้องครัวและห้องรับประทานอาหาร เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับครอบครัวมาใช้ร่วมกัน หรือแม้แต่ห้องนอนของเด็กๆ ก็สามารถเป็นได้ทั้งห้องนอน ห้องเก็บของ ห้องอ่านหนังสือ เป็นการรวมเพื่อให้มีพื้นที่ใช้งานร่วมกันและเกิดพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น

การออกแบบฟังก์ชันทับซ้อนในอาคารสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานได้ เช่น ปรับเปลี่ยนทางเดินในบ้านให้เป็นโต๊ะทำงาน หรือประยุกต์พื้นที่สวนเป็นที่รับประทานอาหารหรือห้องพักแขก เป็นต้น เพราะสิ่งสำคัญในการออกแบบบ้านที่มีพื้นที่จำกัดคือการสร้างพื้นที่ต่อเนื่อง และสร้างบ้านให้มีประสิทธิภาพในการใช้งาน โดยเสียพื้นที่ใช้สอยน้อยที่สุดนี่เอง 

1.8 m. / 1.8 m Width House

Architect: YUUA Architects & Associates

Location: Toshima, Japan

1.8 m Width House เป็นบ้าน 4 ชั้น ที่มีความกว้างเพียง 1.8 เมตร และยาว 11 เมตร โดยมีหัวใจในการออกแบบคือการสร้างพื้นที่ในบ้านแบบต่อเนื่อง ไม่แบ่งหรือกั้นห้องชัดเจน และตกแต่งอาคารให้น้อยที่สุด เพื่อเก็บพื้นที่ใช้งานในอาคาร สร้างอิสระในการใช้งาน โดยอิงจากชีวิตประจำวันของผู้พักอาศัย

ภาพตัดอาคาร

“ในการออกแบบบ้านที่มีขนาดเล็ก เราตัดสินใจให้บ้านมีสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ไม่มีสัดส่วนภายใน ภายนอกชัดเจน เช่น พื้นชั้นลอยจะมีทางเดินยาวที่สามารถรับแสงและอากาศบริสุทธิ์จากภายนอก ในขณะที่แสงและลมก็จะพัดผ่าน เข้ามาในตัวบ้าน เพราะการใช้ธรรมชาติคือส่วนหนึ่งในการออกแบบของเรา ที่ช่วยลดปัญหาเรื่องขนาดพื้นที่ได้” สถาปนิกผู้ออกแบบจาก YUUA Architects & Associates กล่าว

การมีชั้นลอยและการเล่นระดับกับความสูงของแต่ละชั้น สามารถช่วยเพิ่มขนาดพื้นที่ในบ้านได้

บ้านที่มีหน้าแคบส่วนมากนั้น มักจะมีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการเจาะช่องหน้าต่างในบริเวณด้านยาว หรือไม่สามารถมีหน้าต่างได้เพราะอยู่ติดกับอาคารข้างๆ สถาปนิกส่วนมากจึงออกแบบด้านหน้าอาคาร โดยใช้กระจกบานใหญ่เต็มผนัง เพื่อลดความทึบในบ้าน และเปิดรับทิวทัศน์ธรรมชาติจากภายนอก

บ้านหน้าแคบหรือบ้านที่มีพื้นที่จำกัด สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นสเปซ ฟังก์ชัน และการเลือกใช้วัสดุ เช่น เลือกใช้วัสดุที่โปร่ง ไม่ทึบตัน เล่นระดับกับความสูงในแต่ละชั้น เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ภายในบ้านและเกิดที่ว่างมากขึ้น หากจะกล่าวว่าบ้านหน้าแคบเป็นหนึ่งในความท้าทายการออกแบบของสถาปนิกก็ไม่ผิดมากนัก เพราะการออกแบบก็เสมือนการตีโจทย์ปัญหาที่แตกต่าง จนเกิดผลลัพธ์อยู่สบายตามที่ผู้พักอาศัยต้องการนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก Garden House, Showa – cho House, LmaI House, 1.8 m Width House

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading