OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

คอนกรีตจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมถึงสองต่อ

สถิติข้อมูลล่าสุดเรื่องขยะในประเทศไทยมี ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ เครื่องใช้ไฟฟ้าล้นเมืองมากถึง 400,000 ตัน/ ปี นี่ยังไม่นับรวมการขยายผลอย่างต่อเนื่องจากการบุกจับรงงานรีไซเคิลขยะอุตสาหกรรม ที่ทำให้ค้นพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า แค่เฉพาะช่วง 4 เดือนแรกของปี 2561 โรงงานนี้นำเข้าขยะพิษมามากกว่า 37,000 ตัน !!

เอาขยะล้นเมือง มาใช้สร้างเมือง

ทำให้เกิดประกาศห้ามการนำเข้าซากขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกเข้ามาในประเทศไทยเป็นการถาวร โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ออกบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ถึจะสกัดกั้นการนำเข้าแล้ว  ในประเทศก็ยังมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศจำนวนไม่น้อยที่รอการกำจัด และต้องส่งออกซากอิเล็กทรอนิกส์บางส่วนออกไปกำจัดในต่างประเทศด้วย

เป็นที่มาของไอเดียการ Reuse นำขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นมาใช้ใหม่  ผ่านกระบวนการค้นคว้า วิจัย สร้างนวัตกรรมที่นำ ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ มาผลิตเป็น ‘คอนกรีตจากขยะอิเล็กทรอนิกส์’ ที่ตอบโจทย์ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้  โดยรองศาสตราจารย์ ดร.บุรฉัตร ฉัตรวีระ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) เปิดตัวคอนกรีตจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ดีไชน์รูปทรงได้หลากหลาย น้ำหนักเบา กันความร้อนได้ดี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมถึงสองต่อ  คือแก้ปัญหาขยะจากเครื่องใช้ไฟฟ้าล้นเมือง และช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองการผลิตคอนกรีตแบบเดิมที่ต้องระเบิดภูเขาหินปูน

คอนกรีตจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ เกิดจากการนำ องค์ประกอบของขยะเหลือใช้ เช่น แผงวงจรไฟฟ้าในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของ ทองแดง เงิน ดีบุก ตะกั่ว เหล็ก ไฟเบอร์กลาส และพลาสติก มาบดย่อยซากเป็นผงลามิเนต แล้วนำมาผสมกับปูนซีเมนต์ในสัดส่วน 1 : 1 แล้วขึ้นรูปเป็นคอนกรีตตามขนาดที่ต้องการ สามารถออกแบบรูปทรงได้หลากหลาย  ตั้งแต่วัสดุก่อสร้าง เช่น แผ่นพื้น  บล็อกผนัง เซรามิก  บล็อกทางเดิน ไปจนถึงวัสดุตกแต่งบ้านเพื่อความสวยงาม อย่าง แจกัน โต๊ะ โคมไฟ เก้าอี้ ก็ทำได้

สร้างมูลค่าพร้อมกับรักษาสิ่งแวดล้อม

จากความสำเร็จในขั้นการเอานวัตกรรมนี้ไปทดลองใช้ในวงการก่อสร้าง อย่าง สมาร์ทโฮม และในวงการออกแบบ สมาร์ทเฟอร์นิเจอร์ พบว่าได้ผลตอบรับที่น่าพึงพอใจ รศ.ดร.บุรฉัตร และทีมนักวิจัยจึงเตรียมต่อยอดงานวิจัยชิ้นนี้ไปใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีต้นทุนที่ต่ำกว่า หรือใกล้เคียงกับราคาอิฐมวลเบาที่มีขายอยู่ในท้องตลาด เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริโภค

โดยคาดหวังให้นวัตกรรมนี้ช่วยพลิกโฉมขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยที่มีปริมาณมากถึง 400,000 ตันต่อปี ซึ่งเป็นวัสดุที่มีอายุการใช้งานจำกัด เมื่อพังแล้วต้องทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการนำวัสดุดังกล่าวไปใช้ในเชิงพาณิชย์ และยังใช้วิธีการกำจัดด้วยวิธีฝังกลบ หรือถูกนำไปทิ้งกองไว้ ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในรอบบริเวณโดยรอบ นวัตกรรมวัสดุคอนกรีตจากขยะอิเล็กทรอนิกส์จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์การช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างมูลค่าใหม่ให้กับขยะพิษที่กำจัดได้ยากไปได้พร้อมกัน

ที่มา :  http://www.engr.tu.ac.th และ Facebook fanpage ของ TSE ที่ http://www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading