OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามแปลน : ต้นไม้กับการออกแบบในโลกทุนนิยม

ย้อนกลับไปยังสมัยที่ผมยังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในคาบวิชาออกแบบและโจทย์คือการออกแบบบ้านเดี่ยวขนาดย่อม 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ เราออกแบบพื้นที่ทั้งหมดของบ้านตามแนวคิดที่วางไว้ เน้นพื้นที่โปร่งโล่งตามสภาพภูมิอากาศแบบไทยๆ รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแนวโมเดิร์น หรือที่หลายคนเรียกว่าบ้านกล่อง หลังคาคอนกรีตดูเท่ไม่เหมือนใคร เรามักออกแบบส่วนของแปลน รูปด้าน รูปตัด รวมถึงรูปทัศนียภาพก่อนสิ่งใด และหลงเหลือสิ่งสุดท้ายที่จะลงรายละเอียดลงไปคือ “ต้นไม้” หรือ “สวน” ของบ้าน

สวนของเด็กปี 1 คือการวาดรูปต้นไม้ลงไปในแปลน ในตำแหน่งที่ว่างอันน้อยนิดตามขอบของตัวบ้าน หรือพูดง่ายว่าเป็นระยะ Set Back ของบ้านนั่นล่ะ ทำสัญลักษณ์วงกลมบ้าง ขีดเส้นหยิกหยักไปมาบ้านเพื่อแสดงว่าเป็นต้นไม้ นั่นคือความหมายของการออกแบบสวนและพื้นที่สำหรับต้นไม้ของเด็ก 1 อย่างผม

ตัดภาพกลับมาปัจจุบัน บ้านจัดสรรหลายที่ยังเป็นเช่นเดิมอย่างนั้นอยู่ นั่นคือการเติม “ต้นไม้” ลงในพื้นที่เหลือ ที่ไม่รู้จะทำอะไร หรือแม้แต่อาคารสาธารณะ ห้างสรรพสินค้าที่ยอมอุทิศพื้นที่ทั้งหมดให้เป็นพื้นที่ของการค้าขาย

(ภาพจาก www.businessinsider.sg)

นั่นเพราะแนวคิดในการให้คุณค่ากับ “ต้นไม้” ในโครงการหรืองานสถาปัตยกรรมนั้นต่างกันไป หลายครั้งที่ต้นไม้กลับถูกนำมาเป็นพระเอกในการออกแบบ เช่น อาคาร The Jewel หรืออาคารศูนย์การค้าเอนกประสงค์หลังใหม่ในสนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์ ที่มีต้นไม้และน้ำตกเป็นไฮไลท์สำคัญในการดึงผู้คนให้เข้าไปท่องเที่ยว สถาปัตยกรรมเป็นเพียงสิ่งส่งเสริมให้ต้นไม้กลายเป็นความน่าสนใจหลักของสถานที่นั้น สร้างมูลค่าให้กับโครงการแถมได้บรรยากาศที่ดูชุ่มชื่นสบายตาอีกด้วย

เราคงไม่ต้องบอกกันแล้วถึงข้อดีของต้นไม้ว่าดีอย่างไร ทำไมเราจึงควรออกแบบให้อาคารของเรามีความร่มรื่นด้วยต้นไม้ ผมคิดว่าทุกคนนั้นรู้ดี แต่สิ่งที่ต้องคิดมากกว่านั้น คือการสร้างทัศนคติที่ดีต่อต้นไม้เสียก่อน ทั้งกับตัวสถาปนิกผู้ออกแบบเองและเจ้าของบ้าน ที่อาจต้องมีมุมมองที่ดีต่อต้นไม้มากขึ้น

เช่นเดียวกับบ้านหลายหลังที่ได้พบเจอ ที่มีการเก็บต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ดินไว้ทั้งหมด และทำการออกแบบตัวบ้านให้หลบต้นไม้แทน เมื่อสอบถามผู้ออกแบบดึงได้ความมาว่า เป็นความดื้อและพยายามของสถาปนิกเอง ที่นำเสนอ option ของการไม้ตัดต้นไม้ทิ้ง เพื่อคงร่มเงาความร่มรื่นไว้ เบื้องต้นเจ้าของบ้านไม่เห็นด้วย เพราะต้องการบ้านที่มีพื้นที่กว้างขวางใช้งานได้เต็มที่ จึงไม่ต้องการให้ตัวบ้านนั้นคดไปมาได้พื้นที่น้อย แต่สุดท้าย สถาปนิกก็เสนอไอเดียจนเจ้าของบ้านเห็นประโยชน์ของต้นไม้ จนเลือกแบบที่ไม่ตัดต้นไม้เลย เมื่อบ้านสร้างเสร็จ เจ้าของบ้านรู้สึกขอบคุณสถาปนิกมาก ที่ได้เสนอทางเลือกนี้ให้เขา เพราะต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้านสูงใหญ่นี้ ให้ประโยชน์มากกว่าร่มเงา แต่มันยังเพิ่มคุณค่าให้กับพื้นที่นี้ ให้เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าจดจำ สายลมเย็นๆที่พัดผ่านนั้นจะยังคงอยู่ ตราบเท่าที่มนุษย์เรา ยังเห็นความดีงามของต้นไม้ มากกว่าโลกของทุนนิยม ที่บางครั้งเราไม่รู้ด้วยว่า เราต้องการระบบเหล่านั้นจริงๆไหม 

Story : แฉล้ม

Illustrator : Kamonchai Tangprithpong