“ออกแบบอาคารแล้ว อย่าลืมออกแบบเมือง”
ทำไมกรุงเทพถึงรถติด? ฟุตบาทและทางเดินสาธารณะเหมาะสมแล้วจริงหรือ? หลากหลายคำถามที่เกิดขึ้นกับคนเมือง ที่ไม่รู้จะแก้ไขปัญหาอย่างไร วันนี้ Dsign Something จึงยกหลากหลายคำถามที่เกี่ยวของกับเมือง มาพูดคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงหนาท แสงสีหนาท อาจารย์ภาควิชาการออกแบบและวางผังชุมชนเมือง มหาวิทยาลัยศิลปากร ว่าจริงๆแล้วเมืองที่ดีเป็นอย่างไร และการออกแบบเมือง หรือที่เรียกว่า Urban Design มีความสำคัญต่อคนเมืองอย่างไรบ้าง
Dsign Something: “Traffic Jam” หรือ “การออกแบบชุมชนเมือง” คืออะไร?
ผศ.ดร. สิงหนาท: การออกแบบชุมชนเมือง หรือที่เรียกว่า Urban Design เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับเมือง ศิลปะของการสร้างและปรับปรุงพื้นที่สาธารณะให้ดี และมีคุณภาพกับการใช้ชีวิตของมนุษย์ ดังนั้น Urban Design จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ เพราะเป็นเรื่องรอบๆตัวเรา เป็นสิ่งที่ทุกคนประสบในชีวิตประจำวัน หลักๆคือเรื่องปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเมือง ได้แก่ เรื่องของการใช้พื้นที่ การเข้าถึงพื้นที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เราเห็นปัญหาต่างๆของเมือง ที่เราบ่นกันเช่น อากาศร้อน ไม่มีต้นไม้ รถติด ทางเดินก็ไม่มีเพราะของขายเต็มไปหมด การออกแบบ Urban Design เข้ามามีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ในพื้นที่ระดับย่าน ชุมชน ทำให้เมืองน่าอยู่มากขึ้น และแน่นอน คุณภาพชีวิตของคนเมืองก็ดีขึ้นด้วย
Dsign Something: Urban Design หรือการออกแบบชุมชนเมือง มีความแตกต่างจาก Planning Design หรือการออกแบบผังเมืองอย่างไร?
ผศ.ดร. สิงหนาท: สองอย่างนี้มีความแตกต่างกันในเรื่องระดับขอบข่ายของงาน การออกแบบผังเมือง (Planning Design) เป็นเรื่องไกลตัวมากกว่า เป็นการออกแบบวางผัง วางสาธารณูปโภคของเมืองในระดับใหญ่ ส่วน Urban Design เป็นเรื่องใกล้ตัวหรือย่อยขนาดลงมามากกว่า ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมต่างๆ ควบคุมการเข้าถึงพื้นที่ และมีการศึกษาลักษณะของคนในย่านหรือชุมชน เน้นการทำให้พื้นที่หนึ่งสามารถสร้างความสุข ความปลอดภัยในชีวิตของคนในชุมชนบริเวณนั้น เช่น การออกแบบพื้นที่ชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยาย่านท่าช้าง การออกแบบพื้นที่ใต้สะพานพระราม 8 สำหรับเป็นสวนและพื้นที่พักผ่อนของคน เป็นต้น
Dsign Something: แสดงว่างาน “Urban Design” ถูกกำหนดด้วยขนาดหรือเปล่า?
ผศ.ดร. สิงหนาท: จะว่าใช่ก็ได้นะ พอมันไม่เห็นเป็นรูปธรรมในการออกแบบ มันเลยมีขอบเขตพอสมควร และขอบเขตที่เราพูดถึงก็คือระดับย่าน หรือชุมชน แต่ในการออกแบบจริงๆสามารถออกแบบไปทั้งระบบได้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าออกแบบวังหลังที่หนึ่ง ท่าเตียนที่หนึ่ง สามารถคิดภาพรวมก่อนได้ว่าแต่ละที่มันจะมีบทบาทอย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าขอบเขตงานเป็นอย่างไร Urban Design มีความยืดหยุ่นมาก ไม่จำกัดรูปแบบและอาจจะไม่ถาวร
(ขอบคุณรูปภาพจาก Cloudfloor)
ยกตัวอย่าง งานออกแบบโปรเจกต์ “STREETSCAPE” ของ Dr.Pheereeya Boonchaiyapruek x Cloudfloor ที่ดีไซน์พื้นที่สาธารณะ ทางเท้า และป้ายสัญลักษณ์ในย่านสร้างสรรค์เจริญกรุง เป็นโปรเจกต์ทดลองเพียง 9 วันในช่วงเทศกาล Bangkok Design Week 2019 ที่ผ่านมา แต่ผลลัพธ์นับว่าช่วยเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการใช้พื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับคนที่ได้สัมผัส
“คืองาน Urban Design มันอธิบายยาก เพราะว่าผลลัพธ์สุดท้ายมันไม่เหมือนงานออกแบบในสาขาอื่นๆ ไม่มี product ชัดเจน เราเป็นคนวางแผนเบื้องต้น เป็นไกด์ไลน์ให้ทุกคนมาเห็นดีงามด้วยและทำตามแนวทางนี้”
Dsign Something: จุดเริ่มต้นงานออกแบบในแต่ละโปรเจกต์เกิดจากอะไร?
ผศ.ดร. สิงหนาท: ถ้ามองในระดับชุมชนเมือง จะเริ่มต้นจากการมอง “ปัญหา” ก่อน เช่น การเดินทางที่ตอนนี้เป็นปัญหาหนักมากในประเทศไทย การเข้าถึงและการใช้พื้นที่สาธารณะที่ไม่เอื้ออำนวย ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับผู้พิการ ส่งผลต่อปัญหาความหลากหลายทางชนชั้น หรือเรื่องสุนทรียภาพของเมือง พื้นที่สีเขียว แหล่งน้ำที่ในกรุงเทพที่มีอยู่นั้นดีพอหรือยัง ซึ่งต้นตอของปัญหาเหล่านี้ เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงไปของเมืองในรูปแบบต่างๆ เช่น มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าทำให้เส้นทางการสัญจรเปลี่ยนไปจากเดิม
Dsign Something: อาจารย์คิดว่าปัญหารถติดในกรุงเทพ เกิดจากอะไร?
ผศ.ดร. สิงหนาท: ที่ผ่านมาเราวางพื้นที่ส่วนกลางทางธุรกิจไว้ใจกลางเมือง และรอบนอกเป็นที่อยู่อาศัย ทำให้คนส่วนใหญ่เสียเวลาไปกับการเดินทางมาก ซึ่งถ้าหากเราย่นระยะทางของการใช้งานกับการเข้าถึงเข้าหากันได้ คนจะมีเวลามากขึ้น ไม่ต้องเดินทางนานๆ นี่คือเหตุผลของภาพรวมกว้างๆก่อน ส่วนถ้ามองลึกลงไปคือเราพยายามสร้างโครงข่ายถนนเชื่อมโยงไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วกรุงเทพ โดยเป็นโครงข่ายถนนสายหลัก ที่วิ่งยาวและห่างไกลจากกัน และมีซอยเล็กๆแยกย่อยจากเส้นหลัก กระจายตัวไปเป็นที่อยู่อาศัย แถมยังเชื่อมโยงกับถนนสายหลักเส้นอื่นๆ ลักษณะเหมือนกับใยแมงมุมที่กระจายออกไปไม่รู้จบ ทำให้เกิดปัญหาซอยลึกที่เข้าถึงลำบาก คนที่อาศัยอยู่ในซอยต้องออกถนนหลักเส้นเดียวกัน จึงจะไปถึงจุดหมายปลายทางได้ แม้ปลายทางอาจจะเป็นเพียงซอยข้างๆก็ตาม ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดตั้งแต่ถนนสายหลักไปยังซอยต่างๆมีขนาดใหญ่มาก เรียกว่า “Super Block”
ซอยย่อยบางซอยลึกหลายกิโลเมตร การเดินทางสาธารณะในระดับเมือง เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า เข้าไม่ถึง เป็นอีกเหตุผลว่า ทำไมการเดินทางด้วยวินมอเตอร์ไซต์ รถกระป๋องที่อยู่ตามซอกซอยต่างๆ คือสิ่งที่คนเมืองขาดไม่ได้ ถ้าเมื่อใดก็ตามไม่มีสิ่งเหล่านี้ คนในกรุงเทพไม่สามารถเดินทางได้เลย เช่น ย่านแถวแนวรถไฟฟ้าสุขุมวิท ทองหล่อ เอกมัย หรืออารีย์
Dsign Something: แล้ว “เมืองที่ดี” ควรมีลักษณะอย่างไร?
ผศ.ดร. สิงหนาท: ผมขอแบ่งออกเป็น 5 หัวข้อด้วยกัน ได้แก่ สุนทรียภาพของเมือง การใช้งานภายในเมือง การรับรู้ทิศทาง ระบบนิเวศน์ของเมือง และ อัตลักษณ์ของเมือง ขออธิบายเรื่องสำคัญอย่างการรับรู้ทิศทางของเมือง คือ ความกระจ่างชัดที่คนในเมืองควรจะนึกภาพย่านพื้นที่หนึ่งออก และสามารถอธิบายได้ว่า สถานที่สำคัญอะไรอยู่ตรงไหน ทิศทางการเดินเป็นอย่างไร เข้าถึงอย่างไร ถ้าหากเมืองมีความกระจางชัด เมืองก็จะมีความปลอดภัย และคนที่อยู่ในเมืองก็จะมีความมั่นใจ ยกตัวอย่างเช่น สมมติมีชาวต่างชาติคนหนึ่งมาถามทางไปสถานที่หนึ่ง บางทีอธิบายแทบไม่ได้เลย เพราะว่าความกระจ่างของเมืองมีน้อย ยากที่จะเข้าใจ หรือการที่เราไม่กล้าปล่อยเด็กเล็กออกมาวิ่งเล่นเองได้ เพราะการรับรู้ทิศทางไม่ชัดเจน
ส่วนเรื่องของระบบนิเวศในเมือง หมายถึง สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ต้องการเกื้อหนุนการดำรงชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่พื้นที่ธรรมชาติ แหล่งน้ำ อากาศบริสุทธิ์ แสง รวมไปถึงร่มเงาที่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคิดและคำนึงถึง ส่วนเรื่องอัตลักษณ์ของเมือง มีขึ้นเพื่อให้คนภาคภูมิใจกับย่านที่ตัวเองอยู่ โดยแต่ละย่านก็มีความแตกต่างกันไป เช่น ย่านเมืองเก่าอย่างเกาะรัตนโกสินทร์ ที่ตึกรามบ้านช่องมีเอกลักษณ์และโครงข่ายถนนค่อนข้างจะละเอียด คือถนนมันเชื่อมโยงกันได้ ทำให้เข้าถึงกันง่าย
นี่เป็นเพียงบางส่วนที่จะสามารถทำความเข้าใจ “เมืองที่ดี” ที่ควรจะเป็นของกรุงเทพ และไม่ใช่เพียงนักออกแบบชุมชนเมืองเท่านั้นที่จะทำให้บ้านเมืองน่าอยู่ แต่ยังเป็นทุกสาขาวิชา ทั้งผังเมือง สถาปัตยกรรม และแลนด์สเคป รวมไปถึงประชาชนทุกคน ที่หากเข้าใจและยอมรับในการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เมืองของทุกคนก็น่าจะมีแนวทางที่ดีขึ้น ไม่มากกว่าน้อย…
Story : แฉล้ม, จันจิตรา ห่อวงศ์สกุล
Photograph : จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์