OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

ฟังเสียงกังวานของมิติทางพื้นที่ใน ‘ห้องแถวหมายเลข 1527’ – Shophouse1527

ในปัจจุบัน การพัฒนาเมืองเกิดขึ้นทั่วไปในทุกๆ ย่าน จนอาจพูดได้ว่าการ ‘ทุบ ขุด เจาะ’ เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนถ่ายทางสถาปัตยกรรมไปตามยุคสมัย ซึ่งฟังดูแล้วก็น่าใจหายเพราะ ไม่ว่าจะ ทุบ ขุด หรือเจาะ ก็เป็นความหมายด้านลบที่แสดงว่าบางสิ่งบางอย่างกำลังจะหายไป จากสิ่งเก่าถูกแทนด้วยสิ่งใหม่ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไปจากรุ่นสู่รุ่น รวดเร็วจนทำให้เราอาจลืม  ‘ช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนถ่าย’  ซึ่งอาจแสดงถึงเอกลักษณ์หรือความสำคัญของบริบทเดิมในพื้นที่นั้นๆ ไป  จากประเด็นเหล่านี้จึงริเริ่มมาเป็นโปรเจ็กต์ที่ถูกเรียกว่า ‘The shophouse 1527’


“objective ของโปรเจ็กต์นี้ก็คือ เป็นพื้นที่ทดลองของเมือง โดยที่เราจะทดลองไอเดียเกี่ยวกับพัฒนาเมืองให้เกิดในพื้นที่เล็กๆ แล้วดูว่ามันจะขยายผลไปในส่วนอื่นๆ ในเมืองได้ไหม โดยที่เรามองว่าตรงนี้มันน่าจะเป็น prototype ของอะไรบางอย่าง  เพราะว่า กรุงเทพมันก็มีพื้นที่เล็กๆ ที่ถูกละเลยไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์เยอะอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าถ้าเราทำกับพื้นที่ตรงนี้ชั่วคราว 2 ปีได้มันก็จะถูกเอาไป develop ใช้ในที่อื่นๆ ได้เหมือนกัน” คุณกวงจาก IF(Integrated Field)  กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ ซึ่ง The shophouse 1527 เป็นโปรเจกต์ที่ Cloud-floor ร่วมกับ IF (Integrated Field) ที่ทำหน้าที่ศึกษา นำเสนอเรื่องราวของชุมชนและความเป็นเมืองด้วยการเปลี่ยนห้องแถวเลขที่ 1527 ในชุมชนสามย่านให้กลายเป็นพื้นที่ทดลองทางความคิดชั่วคราวในระยะ 2 ปี


The shophouse
1527 ‘เสน่ห์ของความเป็นเอกลักษณ์’  

“ ถ้าให้อธิบายถึงเรื่องนิยามของมันเองแล้ว สำหรับพวกเราและทีม จริงๆเราคิดว่าพื้นที่ตรงนี้เหมือนเป็นพื้นที่ Experimental Space อันนึง  ซึ่งเป็นที่ที่เราอยากจะแสดงให้เห็นว่า ‘ของ’ ต่อให้กาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปก็ตาม ทุกอย่างมันต้องเปลี่ยนแปลง  space การใช้งานต้องเปลี่ยนแปลง รูปแบบของ space ต้องเปลี่ยนแปลง แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงไม่จำเป็นต้องเป็นการทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่เสมอไป เราอยากทำให้เห็นว่าการที่เราเข้าไปดูในพื้นที่  เข้าไปปรับปรุงแก้ไขแล้วยังคงรักษา รากบางอย่างของความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ในย่านนั้นเอาไว้ให้คงอยู่ได้เนี่ยมันสามารถมีสเน่ห์ได้ขนาดไหน” คุณม่อน สรกิจ จาก IF เล่าให้เราฟังถึงนิยามของตัวห้องแถวหมายเลข 1527 แห่งนี้




โดยการออกแบบ คุณฟิวส์จาก cloud-floor ได้เล่าให้เราฟังว่า แนวความคิดในการออกแบบ จะมีการคำนึงถึงเรื่องของการเชื่อมต่อพื้นที่และเรื่องของวัสดุที่ใช้ ซึ่งสังเกตุเห็นว่าประตูบริเวณส่วนด้านหน้า โดยเป็นที่ที่เจ้าของบ้านซึ่งเดิมอยู่ที่นี่มาก่อน และปัจจุบันได้ย้ายไปอยู่บริเวณด้านหลัง ทางทีมจึงคำนึงถึงการเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่บ้านของเขา จึงเลือกในการทำประตูให้สามารถเปิดทะลุด้านหน้าและด้านหลังบ้านถึงกันได้ รวมถึงการมีช่องเปิด เพื่อทำให้คนที่อยู่หลังบ้านยังรู้สึกเชื่อมโยงกับเมืองอยู่หรือยังสามารถมองเห็นบริเวณหน้าบ้านเดิมที่ติดถนนได้


นอกจากนี้ทีมออกแบบยังมี ‘การผสมผสานและเก็บรักษา’ สภาพของอาคารเดิมเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น พื้นหรือผนังเดิม เพื่อให้แสดงถึงร่องรอยของการอยู่อาศัยเดิมและในความเป็นจริงบางสิ่งก็ยังสามารถใช้งานได้อยู่ จึงเป็นการผสมผสานระหว่างวัสดุเก่าหรือใหม่เข้าไว้ด้วยกัน



ส่วนบริเวณชั้น 1 เนื่องจากขนาดของ space ค่อนข้างที่จะเล็ก เพื่อเป็นตัวช่วยในการเปลี่ยนอารมณ์และจังหวะของผู้ที่เข้ามาใช้งานภายในอาคารให้ช้าลงและละเอียดขึ้น  ทีมออกแบบจึงเลือกเอาหินมาใช้เป็นวัสดุในการทำพื้น อาจจะวัสดุที่ค่อนข้างจะเดินลำบาก แต่จะทำให้ผู้ที่เข้ามาใช้งานอยู่กับ space ตรงนี้ได้นานขึ้น

Resonance of Lives at 1527 ‘ร่องรอยของการอยู่อาศัย’ ผ่าน ‘เสียง’ ของสถาปัตยกรรม
          “ การคิดนิทรรศการแต่ละอัน เราก็จะคิดจากสิ่งที่เรามีอยู่  อย่างตึกอันนี้ เราก็สำรวจตั้งแต่ตอนที่ยังมีสิ่งที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ยังหลงเหลือร่องรอยไว้ หรือว่ามีพื้น มีผนังเดิมอยู่ และเราก็อยู่เก็บ document ตอนที่ช่างเข้ามารื้อถอนและทุกอย่างก็เป็นเหมือน material ให้เราเอามาใช้ในการคิด exhibition เราก็อยากที่จะเอากลิ่นอายของสามย่าน หรือ material ที่มีอยู่ในย่านเอามาครีเอทเป็น exhibition เพื่อนำเสนอคุณค่า หรือว่าเรื่องราวของย่าน” คุณข้าวกล้องกล่าวถึงแนวคิดการจัดนิทรรศการที่เกิดภายในพื้นที่ ซึ่งเมื่อขึ้นไปที่บริเวณชั้น 2 จะพบกับพื้นที่ห้องโล่งๆ ซึ่งจัดนิทรรศการในรูปแบบของการเล่นกับประสาทสัมผัสของคนอย่าง ‘การฟัง’ และ ‘การมองเห็น’ โดยในนิทรรศการแรกที่มีชื่อว่า Resonance of Lives at 1527 นี้เป็นการทำงานร่วมกันของ Cloud-floor , soi | ซอย และงานซาวด์อินสตอลเลชั่นอย่าง DON BOY



ในส่วนของ ‘การฟัง’ จะเป็นการนำเสียงสะท้อนของการ ‘ทุบ ขุด เจาะ’ ตอนปรับเปลี่ยนพื้นที่แห่งนี้ มาทำเป็นซาวด์และเปิดออกมาจากลำโพง ซึ่งเมื่อเดินดูนิทรรศการก็สามารถสัมผัสได้ถึงแรงสั่นสะเทือนเหมือนกับช่างที่กำลังรื้อถอนอยู่จริงๆ  โดยในการวางลำโพงแต่ละจุดก็มีการดีไซน์ให้มีความแตกต่าง บางจุดจะให้ความรู้สึกเหมือนถูกปิดล้อมด้วยอะไรบางอย่าง แต่ละจุดก็จะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน ทำให้ภายในห้องแถวหมายเลข 1527 แห่งนี้ ‘เสียง’ จึงเป็นหมือนส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรม



ส่วนของ ‘การมองเห็น’ เราจะเห็นร่องรอยตามผนังที่มีการแต่งแต้มเพื่อเน้นมันขึ้นมา เพื่อแสดงถึงรองร่อยของการอยู่อาศัยเดิมของเจ้าของบ้าน เช่น ร่องรอยการเขียนฝาผนัง รอยของเฟอร์นิเจอร์ ร่องรอยของการเจาะผนัง หรือแม้แต่ร่องรอยของโคมไฟติดผนัง ประกอบกับการทำคอนเทนต์ที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของ paragraph โดยเป็นการเขียนขึ้นมาใหม่ด้วยคำที่สื่อถึงเวลาหรือการเปลี่ยนแปลง เช่น จวน, เคย, being ซึ่งถูกเขียนอยู่ตามผนังต่างๆ ที่พาไปสำรวจด้วยตาไปพร้อมๆ กับ ‘การฟัง’

ร่องรอยที่ทีมออกแบบได้มีการเอาสีไปทาเน้นขึ้นมาเพื่อแสดงถึงรองร่อยของการอยู่อาศัยเดิมของเจ้าของบ้าน

ร่องรอยที่ได้มาจากการโบกปูนทับในตอนที่เจ้าของบ้านเดิมต้องการเจาะบ้าน แต่ด้วยความเป็นตึกแถวจึงทำให้เกิดการทะลุไปบ้านข้างๆ จนสุดท้ายก็ต้องโบกปูนทับลงไปแล้วเขียนวันที่ทับไว้เป็นร่องรอยว่าเคยมีอะไรเกิดขึ้น จึงเป็นไอเดียของทีมออกแบบคอนเทนต์ที่เขียนคำใหม่ๆเพิ่มขึ้นมา ด้วยคำที่สื่อถึงเวลาหรือการเปลี่ยนแปลง

ร่องรอยของคำใหม่ๆ ที่ถูกเขียนเพิ่มขึ้นมาโดยทีม SOI ที่เป็นผู้ออกแบบคอนเทนต์ที่จะเกิดขึ้นภายใน The Shophouse1527

The Shophouse1527  จึงเป็นเหมือนพื้นที่ทดลองทางความคิด เป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดโอกาสในการแสดงความคิดที่หลากหลาย ซึ่งหากเรามองว่าในอนาคตจะมีพื้นที่แบบนี้ในแต่ละย่าน และสามารถดึงเอกลักษณ์และบริบทของพื้นที่นั้นๆ ออกมาได้ ก็คงจะดีไม่น้อย

ซึ่งใครที่อยากไปลองสัมผัสประสบการณ์ในรูปแบบพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ The Shophouse 1527 เปิดให้เข้าชมได้วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 11.00 – 19.00 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ the shophouse1527