OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

สนทนาภาษาสถาปัตยกรรมภายในกับ TIDA CLUB TALK ครั้งที่1

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเราได้มีโอกาสไปเข้าร่วมงาน TIDA CLUB TALK ที่ถูกจัดขึ้นที่ IA49 ซึ่งเป็นงานสนทนาในบรรยากาศสบายๆ เป็นกันเอง จะมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้างเดี๋ยวเราจะมาเล่าให้ฟังกัน

ทำความรู้จักกับ TIDA
TIDA ถูกย่อมาจาก Thailand Interior Designers’ Association หรือ สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อมีกิจกรรมในการแลกเปลี่ยนความคิด การดำเนินการต่างๆ สำหรับสมาชิกในสาขาวิชาชีพการออกแบบตกแต่งภายใน โดยกลุ่มสมาชิก TIDA นี้ก็ประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่กำลังศึกษาหรือสำเร็จการศึกษาในสาขาสถาปัตยกรรมภายในหรือมัณฑนศิลป์จากหลายสถาบันทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 1,769 คน

แล้ว TIDA CLUB TALK คืออะไร?
TIDA CLUB TALK ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งของ TIDA ซึ่งจัดให้อยู่ในรูปแบบของกลุ่มปิด เมื่อเข้าไปภายในงานเราก็ต้องแปลกใจกับบรรยากาศที่สบายๆ จนรู้สึกเป็นกันเอง โดยงานจะเป็นการเชิญสมาชิกภายในกลุ่มของ TIDA มาเพื่อนั่งสนทนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยมีเป้าหมายหลักๆ เพื่อเชิญชวนเด็กรุ่นใหม่ที่อยู่ในกลุ่มวิชาชีพเหล่านี้ให้กล้าที่จะมีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ๆ ให้กับวงการสถาปัตยกรรมภายใน โดยจัดให้มีบรรยากาศสบายๆ เหมือนเป็นปาร์ตี้เล็กๆในคืนวันศุกร์ที่เราได้เจอเพื่อนฝูง มีความเป็นกันเอง ลดความเป็นทางการลง มีอาหาร มีเครื่องดื่มคอยบริการและนั่งคุยถึงเรื่องสถาปัตยกรรมในแง่มุมต่างๆ ที่น่าสนใจ



โดยภายในงาน TIDA CLUB TALK ครั้งที่ 1 นี้ได้แขกรับเชิญในการร่วมสนทนาเป็นคุณสมชาย จงแสง จาก Deca Atelier และคุณอมตะ หลูไพบูลย์ จาก Department of Architecture ซึ่งเป็น 2 สถาปนิกชื่อดังที่จะถูกสัมภาษณ์ด้วยคำถามจากแง่มุมต่างๆ ที่มีความสบายๆ เป็นกันเอง โดยคุณสมชายและคุณอมตะเองจะไม่รู้มาก่อนเลยว่าตนเองจะถูกถามอะไร เรียกได้ว่าเป็นกันเองในแบบที่ฟังแล้วจะได้คำตอบที่ครบรส ทั้งเฮฮา สนุกสนาน และได้สาระได้แง่มุมของสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจมากทีเดียว

ซึ่งคำถามก็จะมาจากแง่มุมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา อย่างจุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์งาน  สิ่งที่ทำเป็นอันดับแรกหลังจากตื่นนอน  หนังสือที่อ่าน  ให้ยกตัวอย่างโปรเจคและอธิบาย  error & mistake หรือการแก้ปัญหาเมื่อเกิดอาการหมดไฟในการทำงาน  ซึ่งวันนี้เราจะขอยกบางประเด็นที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟังกัน

HOW
คำถามในประเด็นของ How ก็คือการให้ยกตัวอย่างโปรเจคและอธิบายวิธีคิดคร่าวๆ ให้เราฟัง ซึ่งถือเป็นคำถามที่ถึงจะอยู่ในบรรยากาศสบายๆ แต่ทำให้เราได้ข้อคิดหรือแนวทางในการคิดงานมากมาย


โดยคุณสมชายก็ได้เล่าถึงอาคารธรรมาศรม เสถียรธรรมสถาน ในย่านวัชรพล กรุงเทพฯ ว่าเป็นโปรเจคที่ค่อนข้างจะมีงบจำกัด เนื่องจากเป็นงานบุญ งานสมทบทุน โดยมีฟังก์ชันเป็นเหมือนโรงพยาบาลจิตวิญญาณ เป็นสถานที่บำบัดคนที่มีอาการป่วยทางจิตใจ คุณสมชายจึงเลือกออกแบบโดยการให้ความสำคัญกับ ‘ventilation’ หรือการระบายอากาศ เพื่อให้เกิดความสบายในการเข้าไปอยู่อาศัยเนื่องจากผู้ที่เข้ามาใช้งานค่อนข้างต้องใช้เวลาอยู่ในพื้นที่นานๆ และด้วยงบที่จำกัดจึงเน้นออกแบบเพื่อเป็นอาคารที่ประหยัดพลังงาน โดย facade ที่เป็นบล๊อกช่องลมที่เราเห็นด้านหน้าจะเป็นตัวระบายความร้อนให้รู้สึกเย็นขึ้นและในขณะเดียวกันก็สร้าง privacy ให้แก่ผู้อยู่อาศัยได้ด้วย โดยบล๊อกช่องลมที่เราเห็นมีความแตกต่างกันเนื่องจาก คุณสมชายให้หลายๆคน มาออกแบบเพื่อให้เกิดความหลากหลายของพื้นที่และไม่จำเจจนเกินไป

Credit ภาพ : http://www.sdsweb.org

ส่วนคุณอมตะนั้นเลือกที่จะพูดถึงโปรเจคคอมมูนิตี้เอาใจคนรุ่นใหม่ที่หลายๆ คนคงรู้จักอย่าง The commons โดยมีโจทย์คือทางเจ้าของอยากได้อาคารที่ดึงคนเข้ามาใช้งานได้บ่อยๆ หรือเป็นพื้นที่ที่คนกรุงเทพฯ สามารถอยู่ได้ตลอดทั้งปีโดยไม่ต้องอยู่ในแอร์ คุณอมตะจึงดึง ventilation’ มาเป็นแนวความคิดหลักในการออกแบบ โดยมีระบบของการดูดอากาศบริเวณเพดานเพื่อดูดอากาศร้อนให้ลอยขึ้น ทำให้อากาศหมุนเวียนในบริเวณพื้นที่ได้ดี นอกจากนั้น ยังเกริ่นให้เราฟังถึง The commons2 บริเวณศาลาแดงที่จะเสร็จภายในปลายปีนี้อีกด้วย

ERROR & MISTAKE
เป็นคำถามในแง่มุมที่อยากให้เล่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากงานโปรเจคต่างๆ โดยคุณสมชาย ก็ได้เล่าถึง

โปรเจครัฐสภาให้เราฟังว่า “ในการทำงานมีความคิดค่อนข้างหลากหลายในการออกแบบ การนำเสนอในสิ่งที่เราคิดก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ร่วมทีมกันแล้วก็ต้องยอมรับในความคิดสุดท้ายที่มันออกมา” ซึ่งถือเป็นข้อคิดที่ทำให้เราได้นำไปปรับกับสายอาชีพนี้ได้เป็นอย่างดี ส่วนคุณอมตะได้เล่าถึงโปรเจค Little Shelter ซึ่งเป็นโรงแรมที่ตั้งอยู่ในจังหวัดหวัดเชียงใหม่ และเนื่องจากเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีงาน craft ที่ค่อนข้างหลากหลายและดีมาก คุณอมตะจึงอยากทำโรงแรมแบบ craft architecture โดยเล่าฟังถึงความท้าทายจากการใช้วัสดุในงานออกแบบ เนื่องจากเป็นโปรเจคที่ใช้งบน้อยมาก ในการเลือกใช้วัสดุจึงต้องคิดตลอดเวลาว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด


Credit ภาพ : http://www.wurkon.com

BURN OUT
มาถึงหัวข้อเบาๆ อย่างเทคนิคการแก้ปัญหาเมื่อเกิดอาการหมดไฟในการทำงาน  ซึ่งคุณสมชายเองมีวิธีแก้ปัญหาโดยการออกไปเที่ยว ไปในที่ใหม่ๆ ไปเที่ยวชุมชนเที่ยวต่างจังหวัดสัก 2-3 วันเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้ตัวเองได้พักผ่อนและหนีจากงานดีไซน์ไปบ้าง ส่วนคุณอมตะมีวิธีโดยการออกไปดูหนัง เพื่อเปลี่ยนตัวเองหนีเข้าไปอยู่ในโลกของภาพยนตร์สัก 2 ชั่วโมง หรือเป็นการออกกำลังกายก็สามารถช่วยได้เหมือนกัน



ซึ่งน่าแปลกใจ เพราะบรรยากาศโดยรวมภายในงานตลอดการสนทนาเวลา 2 ชั่วโมงนั้นไม่น่าเบื่อเลย อาจจะเป็นเพราะบรรยากาศสบายๆ เป็นกันเองที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย และเมื่อเราได้มีโอกาสมาสนทนาแลกเปลี่ยนเรื่องสบายๆ ในหัวข้อต่างๆเหล่านี้ กับคนที่ทำงานในสายวิชาชีพเดียวกันก็ช่วยสร้างความสนุก และความเป็นกันเอง แถมยังให้ข้อคิดเพื่อนำไปปรับใช้กับการทำงานในสายวิชาชีพเหล่านี้ หรือไปปรับในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดีทีเดียว