เมื่อพูดถึงห้องสมุด ภาพที่เรามักจินตนาการถึง ก็คงหนีไม่พ้นสถานที่เงียบสงบ พื้นที่ของการอ่านที่ห้ามมีใครมารบกวน ห้ามส่งเสียงดัง นั่นคือสิ่งที่เราถูกปลูกฝังจนกลายเป็นภาพจำเดิมๆ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีผลกับพฤติกรรมของคนมากขึ้น บทบาทของพื้นที่ห้องสมุดที่จะมาตอบสนองต่อการใช้งานของคนในยุคปัจจุบันย่อมต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย จากประเด็นเหล่านี้ จึงเกิดการรีโนเวทพื้นที่ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ โดยได้ คุณทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ และ คุณชัยภัฏ มีระเสน สองสถาปนิกจาก DEPARTMENT OF ARCHITECTURE มามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยเริ่มจากการนำคำถามต่อบทบาทของสมุดในอดีตเหล่านี้ มาเป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบ
“พื้นที่เดิมตรงนี้เป็นห้องสมุดมาก่อนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันเริ่มทรุดโทรม ทางคณะก็เลยเห็นว่าถึงเวลาที่จะปรับปรุงห้องสมุดใหม่ ซึ่งสมัยนี้การใช้หนังสือการใช้ห้องสมุดก็ไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว เดี๋ยวนี้ข้อมูลต่างๆ มันก็มีอยู่ในอินเทอร์เน็ตมากมาย ก็เลยเป็นคำถามที่ทางคณะและทางผู้ออกแบบมา Brainstorm คิดด้วยกันว่าห้องสมุดในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มันเป็นห้องสมุดคณะสถาปัตย์ด้วย มันควรจะเป็นยังไง” คุณทวิตีย์เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นในการออกแบบ
คุณชัยภัฏ มีระเสน และ คุณทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ สองสถาปนิกจาก DEPARTMENT OF ARCHITECTURE
ฟังก์ชันที่ช่วยเติมเต็มความหมายของคำว่า ‘แรงบันดาลใจ’
“ห้องสมุดมันก็คือที่ที่มีความรู้อยู่ เราก็คิดว่าความรู้ของการเรียนสถาปัตย์ จริงๆ มันก็มีสิ่งที่อยู่ในหนังสือและมันก็มีสิ่งอื่นๆ ที่มันไม่ได้อยู่ในหนังสือด้วย เราก็เลยคิดว่า ถ้าเกิดเรามองมันไม่ใช่ห้องสมุดที่เป็นห้องสมุด แต่มองว่ามันเป็นที่ที่สร้างองค์ความรู้และก็สร้างแรงบันดาลใจ มันจะต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เราก็เลยอยากที่จะขยายคำจำกัดความของห้องสมุดในปัจจุบัน โดยเฉพาะห้องสมุดของโรงเรียนออกแบบให้เป็นพื้นที่แห่งการสร้างแรงบันดาลใจ” คุณทวิตีย์เล่าเพิ่มเติมถึงแนวคิดหลักๆในการออกแบบพื้นที่ห้องสมุดแห่งนี้
ซึ่งในห้องสมุดใหม่แห่งนี้ ยังมีฟังก์ชันที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจเสริมเข้าไปอย่างเช่น เช่น พื้นที่ส่วนชั้นบนที่ทำเป็นพื้นที่ฉายหนัง ซึ่งอาจจะเป็นหนังอาร์ตหรือหนังสถาปัตยกรรม หรือเป็นพื้นทีที่มีเลคเชอร์ได้ หรือมีกิจกรรมอื่นผสมเข้ามา เช่นพื้นที่ที่จัดแสดงนิทรรศการได้ ซึ่งฟังก์ชันเหล่านี้เป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ห้องสมุดแห่งนี้เป็นที่ที่มีความหมายกว้างขึ้น
เมื่อเราเดินเข้ามาส่วนพื้นที่ห้องสมุด เชื่อได้เลยว่าใครๆ ก็จะต้องสังเกตุเห็นคอร์หลักบันไดที่ทำมาจากโครงเหล็ก ซึ่งสถาปนิกเองก็ช่วยอธิบายเสริมให้เราฟังว่า เนื่องจากความต้องการที่อยากให้เป็นพื้นที่ในการสร้างแรงบันดาลใจ ที่หลายๆ คนสามารถมาทดลองทางความคิด หรือโชว์ผลงานได้นั้น วัสดุที่เลือกมาใช้จึงต้องการให้มีความทนทาน หรือแม้ว่าจะมีรอยเปื้อนหรือรอยถลอก วัสดุนี้จะยังต้องคงทนอยู่ได้ โครงเหล็กจึงตอบโจทย์ทั้งในแง่ของฟังก์ชันและความสวยงาม ซึ่งในโครงเหล็กเหล่านี้ ถ้ามองดีๆ จะเห็นว่ามีช่องสำหรับสอดกระดานไม้อัดบางๆ เข้าไปได้ ทำให้นิสิตสามารถนำผลงานมาตั้งโชว์ และสร้างสรรค์พื้นที่ตรงนี้ให้เป็นพื้นที่ Exhibition ได้ด้วย
คุณทวิตีย์ยังเล่าเสริมว่า “จริงๆ มันเป็นโครงเปล่าๆ เป็นโครงที่ยังไม่มีอะไร แต่รอให้มันถูกกระทำ เพื่อที่จะเติมเต็มมัน มันเป็นของที่ยังไม่จบในตัว มันจะจบก็ต่อเมื่อมีใครมาทำอะไรกับมัน และมันก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ พอได้ทดลองสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น คนอื่นๆ ในคณะที่ผ่านไปผ่านมาก็ได้รับแรงบันดาลจากผลงานที่เห็น ไม่ว่าจะจากการจัดนิทรรศการหรือการจัด Art Installation เอง”
พื้นที่ที่ตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้ใช้งานอย่างแท้จริง
จากที่คิดเอาไว้ตอนแรกว่าห้องสมุดคงจะมีคนเข้ามาใช้งานจำนวนน้อย ซึ่งผิดคาด เมื่อเราเดินเข้าไปยังส่วนพื้นที่ห้องสมุด พื้นที่แต่ละส่วนต่างเต็มไปด้วยนิสิตที่เข้ามานั่งอ่านหนังสือ ตัดโมเดล หาข้อมูล หรือแม้แต่นั่งคุยงานกัน ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่ตอบสนองต่อการใช้งานของนิสิตคณะนี้ได้อย่างดีทีเดียว ซึ่งคุณชัยภัฏก็อธิบายถึงหลักการในการวาง planning ของห้องสมุดแห่งนี้ให้เราฟัง จากตำแหน่งของห้องสมุดบริเวณชั้น 2 นี้เดิมทีเป็นอาคารที่อยู่กึ่งกลางของคณะและอยู่ถัดจากบริเวณทางเข้าหลัก พื้นที่บริเวณนี้จึงเป็นเหมือนพื้นที่ที่ส่งต่อจากประตูหน้าไปหาอาคารเรียนด้านหลัง ทำให้นิสิตทุกคนมักจะเดินผ่านบริเวณนี้ จึงออกแบบโดยเน้นการไหลของทางสัญจร และเปลี่ยนเอาจุด Control Point หรือจุดเข้า-ออก จุดยืมและคืนหนังสือ ไปไว้บริเวณชั้น 3 แทนเพื่อให้ชั้น 2 คนสามารถเดินได้อย่างสะดวกโดยที่ยังไม่ต้องผ่านประตู และ ยังเป็นพื้นที่ที่สามารถมี Exhibition ได้ คนที่เดินผ่านเยอะๆ จะสามารถเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้
ซึ่งคุณชัยภัฏยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า การนำ Control Point ไปไว้บริเวณชั้น 3 ยังมีข้อดีก็คือ เมื่ออยู่ที่ชั้น 4 และต้องการจะลงไปเข้าห้องน้ำ ก็จะลงเพียงชั้นเดียว ทำให้ง่ายต่อการใช้งาน นอกจากนี้ยังทำให้แบ่งสัดส่วนการบริการของพื้นที่ได้ชัดเจนขึ้น โดยสามารถที่จะแบ่งพื้นที่ชั้น 2 ให้ปิดดึกกว่าปกติ ซึ่งปกติบรรณารักษ์จะทำงานถึงแค่ 6 โมงเย็นแล้วก็ปิดห้องสมุด แต่เมื่อชั้น 2 ไม่มี Control Point ทำให้สามารถเปิดเป็น Co-working ได้ถึง 4 ทุ่ม ทำให้นิสิตมีพื้นที่นั่งทำงานในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งตอบสนองต่อการใช้งานของนิสิตคณะนี้ด้วย
ส่วนถัดขึ้นมาจะเป็นส่วนพื้นที่ชั้น 3 จะถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่ Reading Area เป็นหลัก โดยลักษณะของพื้นที่จะคล้ายคลึงกับบริเวณชั้นสอง มีโต๊ะและเก้าอี้นั่งอ่านหนังสือที่สามารถนั่งทำงานได้ด้วย
เมื่อเดินต่อมายังบริเวณชั้น 4 ซึ่งเป็นพื้นที่ Reading Area เช่นเดียวกับชั้น 3 แต่จะรู้สึกถึงบรรยากาศที่ดูผ่อนคลาย ซึ่งสถาปนิกเองตั้งใจออกแบบให้ชั้นบนค่อยๆ ลดความเป็นทางการลงเรื่อยๆ โดยเฟอร์นิเจอร์อย่างโต๊ะ เก้าอี้ที่เราเห็นจะถูกเปลี่ยนเป็นโซฟา หรือโต๊ะที่เตี้ยลง ทำให้บรรยากาศของห้องสมุดแห่งนี้ดูเป็นกันเองมากขึ้น
โดยบริเวณชั้น 4 นี้ เราจะเห็นพื้นที่ระเบียงเล็กๆ คั่นกลางระหว่างชั้นหนังสือต่างๆ ซึ่งสถาปนิกเองเลือกที่จะออกแบบช่องเปิดที่หันหน้าเข้ามาบริเวณคอร์ดส่วนกลางของคณะ เนื่องจากเวลามีกิจกรรมที่เกิดขึ้นบริเวณคอร์ดตรงกลางของคณะ จะสามารถมองเห็นกันได้จากบริเวณนี้ เป็นการเชื่อมต่อพื้นที่ด้านบนกับพื้นที่ด้านล่างได้อีกด้วย
นอกจากนั้นคุณชัยภัฏยังเล่าเพิ่มเติมถึงแนวคิดหนึ่งในการออกแบบคือ ความต้องการให้ห้องสมุดแห่งใหม่นี้เกิดการสนทนาขึ้นได้ เนื่องจากเชื่อว่าการเกิดการสนทนาเป็นเหมือนการสร้างแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน บรรยากาศของห้องสมุดจึงมีเพลงเปิดคลอไปเบาๆ เป็นแบคกราวน์เพื่อให้รู้สึกไม่เงียบจนเกินไป ซึ่งในขณะเดียวกันอาจจะมีคนกลุ่มนึงที่อยากจะโฟกัสกับงาน อยากจะค้นคว้าเรื่องจริงจัง ต้องการนั่งทำงานคนเดียว หรือต้องการความเงียบและต้องการสมาธิ จึงมีการแยกพื้นที่อีกส่วนหนึ่งออกไปอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นโซนที่เรียกว่า ‘Quite Zone’
ต่อจากชั้น 4 เราจะพบกับส่วนพื้นที่ชั้นลอย ซึ่งมีลักษณะเป็นขั้นบันไดคล้ายอัฒจันทร์ ซึ่งมีฟังก์ชันเป็นพื้นที่ฉายหนังหรือฟังเลคเชอร์ได้ ส่วนพื้นที่ด้านบนชั้นลอยจะเริ่มเป็นลักษณะพื้นที่ที่นั่งกับพื้น เป็นโต๊ะญี่ปุ่นสำหรับนั่งทำงาน มีความหลากหลายให้คนได้เลือกใช้ได้ตามประเภทของการใช้งาน
องค์ประกอบที่สื่อถึงเอกลักษณ์และตัวตนของพื้นที่
จากบริเวณ Quite Zone เราจะเห็นการออกแบบในเรื่ององค์ประกอบหรือสีสันที่ใช้แตกต่างจากพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของห้องสมุด ซึ่งสถาปนิกเองตั้งใจออกแบบให้พื้นที่ถูกแบ่งออกเป็นคอกๆ เพื่อให้การทำงานหรือการอ่านหนังสือค่อนข้างมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น แต่เป็นการนำคอกเหล่านี้มาจัดเรียงใหม่ให้เป็นลักษณะ Labyrinth (เขาวงกต) ซึ่งไม่ใช่แค่รูปลักษณ์ที่น่าสนใจแต่ยังมีข้อดีที่ช่วยทำให้คนเดินผ่านโต๊ะเหล่านั้นน้อยที่สุด และมีการออกแบบโดยปาดกระจกจากเตี้ยไปสูง ซึ่งช่วยเรื่องความอึดอัดของห้อง ซึ่งจะเห็นได้ว่าจากบริเวณทางเข้า คอกเหล่านี้จะมีการปาดกระจกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทำให้มองเห็นรอบห้องได้ชัดและความเป็นส่วนตัวก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
ส่วนบริเวณฝ้าถูกออกแบบโดยใช้วัสดุกระจก เนื่องจากสถาปนิกอยากจะให้คนที่เข้ามาใช้งานเห็นแปลนของ Labyrinth ชัดขึ้น และเนื่องจากพื้นที่โซนนี้ค่อนข้างมีพื้นที่จำกัด การใช้วัสดุผ้าเป็นกระจกและทำให้ขอบด้านบนมันเรืองแสงนิดนึง จะช่วยแก้ปัญหาความอึดอัด และทำให้ห้องรู้สึกกว้างขึ้นด้วย
และด้วยความที่ห้อง Quite Zone เป็นโซนที่แยกออกมา จึงออกแบบสีสันของห้องให้มีความแตกต่างจากห้องอื่นๆ โดยสีที่เราเห็นกันก็ได้มาจาก สีของประตูทางเข้าหลักซึ่งเป็นอาคารโบราณของคณะและเป็นคาแรคเตอร์หลักที่นิสิตคณะนี้เห็นแล้วจำได้ สถาปนิกจึงเลือกใช้สีเขียวน้ำเงินนี้มาเป็นโทนสีหลักของห้องซึ่งอยู่ตำแหน่งด้านบนของประตูทางเข้าที่ว่านี้ด้วย
ส่วนในพื้นที่อื่นๆ เราจะเห็นได้ว่าวัสดุอย่างเสาปูนเปลือยก็จะไม่ได้มีการทาสีแต่อย่างใด แต่เป็นการปล่อยให้วัสดุดูดิบๆเอาแบบนั้น ซึ่งสถาปนิกเองเล่าว่า การที่เลือกใช้วัสดุปูนเปลือย หรือเหล็กเป็นหลักเนื่องจากการซ่อมบำรุงค่อนข้างน้อย และสามารถเลอะเทอะได้โดยไม่ต้องดูแลรักษามากเป็นพิเศษ และด้วยความที่เป็นคณะสถาปัตยกรรม จึงอยากให้วัสดุที่ใช้ดูมีความเป็นเนื้อแท้ สีแท้ของวัสดุนั้นๆ โดยไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมาก แต่สำหรับชั้น 4 ที่ต้องการลดความเป็นทางการลงอย่างที่เราได้บอกไปข้างต้น จึงมีการเลือกใช้สีส้ม สีเหลืองเข้ามาเป็นองค์ประกอบเล็กๆ อย่างหมอนหรือโซฟาต่างๆ ให้ความรู้สึกที่ดูสบายๆมากขึ้นด้วย
ห้องสมุดแห่งนี้ ก็คงถือได้ว่าเป็นมิติใหม่ของห้องสมุดที่ตอบโจทย์การใช้งานทั้งในเรื่องของยุคสมัย และยังตอบสนองกิจกรรมที่เกิดขึ้นของนิสิตคณะสถาปัตย์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อสถาปัตยกรรมถูกออกแบบมาเพื่อให้ตอบโจทย์ต่อกลุ่มผู้ใช้งาน ภาพห้องสมุดที่เราเห็นจึงแตกต่างจากภาพห้องสมุดแบบเดิมๆในอดีต กลายเป็นภาพที่มีกลุ่มนิสิตเข้ามาใช้งานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการนั่งอ่านหนังสือ นั่งตัดโมเดล หรือแม้แต่นั่งจับกลุ่มคุยกัน หรือเป็นกลุ่มตรวจแบบ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมเดิมๆที่เกิดขึ้น เพียงแต่มีพื้นที่ใหม่ที่รองรับการใช้งานและยังเป็นพื้นที่ที่ช่วยส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตรวมถึงความคิดที่ดีขึ้นนั่นเอง
หากใครสนใจมาเยี่ยมชม ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้บริการสำหรับนิสิตคณะสถาปัตย์ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30 – 18.00 น. (พื้นที่ชั้น 2 วันธรรมดาเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.30 – 22.00 น.) วันเสาร์เปิดบริการเวลา 10.00 – 16.00 น. นิสิตคณะอื่นสามารถใช้บริการได้ในวันพุธ ส่วนนิสิตหรือนักศึกษา คณาจารย์ ต่างสถาบันและบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจด้านงานสถาปัตยกรรมสามารถใช้บริการได้ในวันเสาร์