Location: พหลโยธิน 32 , กรุงเทพฯ
Owner: คุณวินัย สถิรพิพัฒน์กุล
Architect: คุณเอิร์ธ ภุชงค์ สถิรพิพัฒน์กุล จาก OTATO Architect
Photograps: PanoramicStudio
“ถ้าให้พูดถึง บ้าน สำหรับผมแล้วมันเป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีความพิเศษ คือสิ่งจำเป็นพื้นฐานของคนทุกคน ความฝันของคนคนนึงก็คงอยากที่จะมีบ้านเป็นของตัวเอง เป็นเหมือนกับรางวัล เป็นเป้าหมายในชีวิต ผมมองว่าบ้านเป็นสถาปัตยกรรมที่มีค่ามากที่สุดในชีวิตคนนึงๆ ในฐานะสถาปนิกคนนึงก็อยากจะออกแบบบ้านให้มันดีที่สุด สำหรับลูกค้าหรือคนที่ไหว้วานให้เราออกแบบให้ เพื่อที่เขาจะได้มีความสุขในทุกๆ วันที่ได้กลับบ้าน และเป็นความสุขของผม ที่ได้เห็นเขามีความสุขด้วยเช่นกัน” เช่นเดียวกับบ้าน TWIN House หลังนี้ที่ คุณเอิร์ท ภุชงค์ สถิรพิพัฒน์กุล สถาปนิกรุ่นใหม่จาก OTATO Architect ตั้งใจออกแบบให้เป็นบ้านของคุณปู่ และน้องชายอีกสองคนที่จะมาอยู่อาศัยในอนาคตให้เกิดฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์และอยู่อาศัยในทุกๆ วันได้อย่างมีความสุข
จากฟังก์ชันที่ต่างกันของช่วงเวลาสู่โจทย์หลักของการออกแบบ
บ้าน TWIN House หลังนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงที่คุณเอิร์ทเพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัย และกำลังจะเริ่มเข้าทำงานที่ A49HD เป็นที่แรก ซึ่งบ้านที่อยู่ปัจจุบัน ณ ตอนนั้นก็มีคุณปู่ย้ายเข้ามาอยู่เพิ่ม บวกกับมีแขกของคุณพ่อคุณแม่เข้ามาพักอาศัยที่บ้านค่อนข้างบ่อย จึงเกิดความคิดที่จะขยับขยาย ห้องเพื่อรับรองแขก พื้นที่ห้องเก็บของ และพื้นที่อเนกประสงค์ ซึ่งเป็นฟังก์ชันที่ขาดไปในเวลานั้น ซึ่งนอกจากปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแล้ว ในพื้นที่ของบ้านหลังนี้ยังเป็นความตั้งใจของทางครอบครัวที่จะเตรียมสำหรับเป็นบ้านเพื่อรองรับการขยายครอบครัวของน้องชายทั้งสองคนในอนาคตด้วย การออกแบบบ้านหลังนี้เพิ่มเติมบนพื้นที่บ้านหลักหลังเดิมของทางครอบครัว จึงถือว่าเป็นโอกาสที่เหมาะในการขยับขยาย แต่ในขณะเดียวกันก็ประหยัดค่าใช้จ่าย และได้ใช้พื้นที่ภายในบ้านได้อย่างเต็มที่มากที่สุด
ซึ่งหลังจากได้ความต้องการคร่าวๆ มาแล้ว คุณเอิร์ทจึงมองถึงฟังก์ชันของพื้นที่ก่อน โดยเล่าให้เราฟังว่า “ตอนแรกเลยมีการทำการบ้านออกมาเป็นสองช่วงเวลา ช่วงเวลาแรกในปัจจุบันคือบ้านของคุณปู่และที่รับรองแขก ก็จะมีฟังก์ชันเพิ่มเป็นห้องเก็บของและลานอเนกประสงค์ ส่วนถัดมาจะเป็นฟังก์ชันในอนาคตที่จะเป็นบ้านของน้องชายสองคน ซึ่งต้องรองรับความเป็นอยู่ทั่วไป แต่ก็จะต้องมีความเป็นส่วนตัว และก็สามารถเข้าถึงตัวบ้านได้อย่างเท่าเทียมทั้งสองคน ไม่อยากให้มีความรู้สึกเป็นเหมือนคอนโดหรืออะไรอย่างอื่น พอได้โจทย์มาประมาณนี้ก็เลยลองลิสฟังก์ชันเข้ามาและก็ลองหาภาษาสถาปัตยกรรมที่สนใจ”
โจทย์หลัก + ความต้องการ + ข้อกำจัด = การวาง planning
ซึ่งหลังจากเรียงฟังก์ชันหลัก ก็จะได้ออกมาเป็นพื้นที่ 4 ส่วนใหญ่ๆ และเป็นความตั้งใจของคุณเอิร์ทที่เลือกหันแนวทางของบ้านหลักไปทางทิศเหนือ และเปิดช่องเปิดแค่บริเวณทิศเหนือและใต้ ตามทิศทางของลมที่ผ่านเข้ามายังตัวบ้าน โดยเว้นพื้นที่ด้านหน้าเอาไว้เป็นคอร์ดตรงกลางที่บ้านหลักและบ้านเล็กสามารถใช้แชร์และทำกิจกรรมร่วมกันได้ หลังจากนั้นจึงหาแนวทางของทางสัญจรที่กระชับและสั้นที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถแบ่งพื้นที่ได้ชัดเจนและปรับเปลี่ยนได้ง่าย การวางบันไดไว้ตรงกลางจึงตอบโจทย์ทั้งสามารถแบ่งฟังก์ชันออกเป็น 4 ก้อนได้อย่างชัดเจน สามารถแจกเข้าพื้นที่ต่างๆได้ง่าย และยังสามารถเปิดสู่สวนที่เป็นคอร์ดตรงกลางบริเวณทิศเหนือได้
โดยในการวาง Planning จากการที่ได้รูปร่างคร่าวๆ ของอาคารมาเป็น 2 ฝั่งทั้งบริเวณชั้นล่างและชั้นบนแล้ว ในช่วงเวลาปัจจุบันนั้น บริเวณชั้นล่าง ฝั่งแรกจะเป็นห้องของคุณปู่ซึ่งเป็นห้องสตูดิโอเดี่ยวๆ ที่มีฟังก์ชันทั่วไปอยู่ภายในห้อง เช่น มีห้องน้ำในตัว มีมุมทานอาหารเล็กๆ มีส่วนนั่งเล่น และสามารถเชื่อมไปยังสวนเล็กๆ ทางด้านหลังของบ้านได้ ส่วนอีกฝั่งนึงจะเป็นลานอเนกประสงค์ซึ่งเอาไว้รองรับกิจกรรมต่างๆ เช่นnญาติที่มาเยี่ยมคุณปู่ หรือเป็นที่นั่งเล่นของแขกที่มาพักบางครั้งคราว ส่วนบริเวณชั้นบนเมื่อเดินจากบันไดที่คั่นตรงกลางแล้ว จะเจอกับทางแยกโดยฝั่งทางด้านซ้ายจะเป็นห้องเก็บของใหญ่ ส่วนฝั่งทางด้านขวาจะถูกแบ่งออกเป็นห้องนอนเล็ก 2 ห้องโดยมีห้องน้ำแยกออกมาทางด้านหลัง
ซึ่งเมื่อมองตัวสถาปัตยกรรมจากภายนอกก็สามารถเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นบ้านแฝดที่แยกออกมาเป็นสองหลัง และใช้บันไดร่วมกันตรงกลาง ดังนั้นเมื่อต้องการที่จะปรับเปลี่ยนในอนาคต ชั้นล่างจากฟังก์ชันห้องนอนคุณปู่และลานอเนกประสงค์ จะถูกเปลี่ยนและกลายเป็นห้องนั่งเล่น ห้องทานอาหาร ห้องน้ำ ส่วนเตรียมอาหารเล็กๆ ซึ่งฟังก์ชันทั้งฝั่งซ้ายและขวานั้นจะเท่ากัน ส่วนบริเวณชั้นบนก็จะเป็นส่วนของห้องนอน พื้นที่ทำงาน และห้องน้ำที่แยกฝั่งออกไปอย่างชัดเจน โดยที่ยังใช้บันไดแชร์กันเหมือนเดิมตรงกลาง ซึ่งในส่วนของฟังก์ชันทั้งหมดจะเปิดเข้าหาสู่คอร์ดตรงกลางบ้านทางทิศเหนือ แต่ในขณะเดียวกันคุณเอิร์ทก็เลือกออกแบบช่องเปิดทางฝั่งทิศใต้ขนานไปด้วยกันเพื่อทำหน้าที่เป็นช่องเปิดที่รับลมเข้ามาสู่ตัวบ้าน นอกจากนั้นยังมีพื้นที่สวนเล็กๆ อยู่ทางทิศใต้เพื่อเป็นตัวกรองแสง ช่วยทำให้บรรยากาศในห้องดูผ่อนคลายมากขึ้น
‘อิฐช่องลม’ ตัวช่วยที่ทำให้ภาษาทางสถาปัตยกรรมเรียบง่ายและชัดเจนมากขึ้น
เมื่อวิเคราะห์จากบริบทของพื้นที่ จึงเลือกออกแบบบ้านเป็นลักษณะหลังคาทรงจั่วเหมือนบ้านหลักของครอบครัวที่อยู่ฝั่งตรงข้าม เพื่อความกลมกลืนและดูไม่ขัดแย้งกันจนเกินไป เมื่อมองภาพรวมเราจึงได้เห็นบ้าน TWIN house หลังนี้ในรูปร่างลักษณะจั่วที่เป็นองศาเดียวกันโดยถอดมาจากโครงหลังคาจั่วของบ้านหลัก จากนั้นคุณเอิร์ทจึงมองหาวัสดุที่มีความน่าสนใจ แต่ในขณะเดียวกันก็เรียบง่ายและไม่โดดเด่นมากจนเกินไปจนมาดึงความสนใจจากบ้านหลัก จึงเป็นที่มาของวัสดุเรียบง่ายอย่าง ‘อิฐช่องลม’ นั่นเอง
ซึ่งคุณเอิร์ทก็เล่าเสริมให้เราฟังว่า อิฐช่องลมจะวางไว้ในฟังก์ชันที่เป็นส่วนห้องพักแขกและห้องเก็บของที่อยู่บริเวณชั้นสอง ซึ่งในอนาคตจะต้องการเป็นห้องนอนและห้องทำงานของน้องชาย ประกอบกับในบริเวณส่วนนี้จะมองเห็นได้ง่ายจากฝั่งบ้านใหญ่ อิฐช่องลมจึงเข้ามาทำหน้าที่เป็นมิติบางอย่างที่ช่วยพรางตา และเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับพื้นที่บ้านมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีส่วนบริเวณหลังคาที่เป็นช่องแสงตรงทางเดินบันไดระหว่างฟังก์ชันทั้งสองฝั่ง ซึ่งคุณเอิร์ทก็เลือกใช้เป็นวัสดุโพลีคาร์บอเนตธรรมดาทั่วไป ซึ่งราคาไม่แพงมาก ให้เอฟเฟคแสงที่ค่อนข้างดีและช่วยกรองความร้อนที่จะเข้ามาสู่บ้านได้ในระดับนึง ซึ่งเหตุผลที่เลือกออกแบบช่องแสงตรงนี้เป็นหลัก เนื่องจากคุณเอิร์ทเองต้องการให้แสงตกลงมาที่บริเวณทางสัญจรหลักของบ้าน ทำให้ในตอนกลางวันที่มีแสงแดดส่องถึงไม่จำเป็นต้องเปิดไฟ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะมีความร้อนเข้ามาบ้าง แต่เนื่องจากเป็นทางสัญจรเร็วๆ คุณเอิร์ทจึงยอมปล่อยเพื่อให้ได้ประโยชน์ในส่วนนี้มากกว่า
สำหรับสถาปนิกแล้ว ในการออกแบบบ้านสักหนึ่งหลังนั้น การสร้างบ้านที่ประสบความสำเร็จอาจหมายถึงบ้านที่เหมาะกับผู้อยู่อาศัย ซึ่งบ้าน TWIN House หลังนี้ ถึงแม้จะรูปร่างหน้าตาเรียบง่าย ไม่หวือหวา แต่ก็สามารถแสดงให้เราเห็นถึงความชัดเจนทั้งในแง่ของภาษาทางสถาปัตยกรรมที่เลือกใช้และสามารถตอบสนองการใช้งานของผู้อยู่อาศัยที่มีความแตกต่างกันได้เป็นอย่างดี