Binary มีความหมายตรงตัวว่า ‘เลขฐานสอง’ และคงสร้างความสงสัยอยู่ไม่น้อยว่าอะไรที่ทำให้เลขฐานสองซึ่งเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ เกี่ยวกับงานออกแบบจนเกิดเป็นสถาปัตยกรรมท่ามกลางธรรมชาติอย่าง Binary Wood House บ้านตากอากาศที่ออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของบริบทได้อย่างลึกซึ้งนี้แห่งนี้
เมื่อภาษาคอมพิวเตอร์กลายเป็นงานสถาปัตยกรรม
ผู้อยู่เบื้องหลังของบ้านที่น่าค้นหาแห่งนี้ตั้งแต่จุดเริ่มต้นในปี 2015 คือ TA-CHA Design สถาปนิกผู้นำเลขฐานสองที่ประกอบด้วยตัวเลข 0 และ 1 มาตีความใหม่โดยแทนค่า ‘ศูนย์’ เท่ากับ การมีตัวตนหรือความทึบ และแทนค่า ‘หนึ่ง’ เท่ากับความไม่มีตัวตนหรือความโปร่ง จากนั้นจึงร้อยเรียงฟังก์ชันเข้าด้วยกัน บวกกับการผสานแนวความคิด ‘ทึบและโปร่ง’ ที่ใส่อย่างเหมาะสมตามจังหวะความสวยงาม หรือบางฟังก์ชันเองอย่างห้องนั่งเล่นก็สามารถกลายเป็นได้ทั้งศูนย์และหนึ่งในเวลาที่ต่างกันได้ด้วยการเปิด-ปิดบานเฟี๊ยม
“ปกติเราเติมช่องไฟหรือวรรคในข้อความเพื่อให้คนอ่านง่ายขึ้น
แต่นี่เรามาเติมในงานสถาปัตยกรรม บ้านมันก็เบาขึ้น”
ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวได้ถูกออกแบบไปพร้อมกับการออกแบบขนาดของฟังก์ชันในลักษณะของโมดูลาร์ที่มีขนาดลงตัวที่ 3.40×3.40 ม. และเลือกใช้เสาขนาด 20 ซม ทำให้สัดส่วนของบ้านดูเป็นระเบียบและสบายตา อีกทั้งในแง่ของการก่อสร้าง ยังทำให้เหลือขยะจากเศษวัสดุน้อยลงอย่างมาก ซึ่งรายละเอียดในทุกขั้นตอนเช่นนี้นั้นส่งผลให้บ้านขนาด 600 ตร.ม. หลังนี้เติมเต็มทุกความต้องการของเจ้าของบ้านไปพร้อมกับสร้างความโดดเด่นแต่ทว่าถ่อมตัวให้กับธรรมชาติที่รายล้อมได้อย่างน่าสนใจ
“เรื่องโปรแกรมการออกแบบนั้นทางเจ้าของอยากดันบ้านให้สูงขึ้นเพื่อที่จะได้ชมวิวได้อย่างเต็มที่ เราจึงออกแบบโดยไม่ให้บ้านหลังนี้เหมือนก้อนหรือหอคอยที่เด่นจากบริบทหรือดูแตกต่างกับเพื่อนบ้านมากจนเกินไป เนื่องจากตัวบ้านอยู่บนเนินเขา และมีการไล่ระดับของคอนทัวร์ เราจึงใช้ประโยชน์ของที่ดินโดยออกแบบการเล่นระดับการเข้าถึงและฟังก์ชันแต่ก้อน แล้วเติมช่องว่างระหว่างฟังก์ชันเพื่อตั้งใจให้บ้านดูเบา แต่ในขณะเดียวกันก็ยังได้จุดที่สามารถชมวิวก็สามารถชมวิวได้เต็มที่ตามที่เจ้าของบ้านต้องการ” คุณแชมป์-สณทรรศ ศรีสังข์ สถาปนิกกล่าว
บ้านขวางตะวันที่อยู่แล้วสบายทั้งกายใจ
สำหรับ Binary Wood House ผู้ออกแบบจำเป็นต้องวางตำแหน่งของบ้านในลักษณะ ขวางตะวัน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องด้วยรูปร่างของที่ดิน และมุมมองของวิวที่ดีที่สุด ทำให้การวางตำแหน่งและแกนบ้านไม่ได้วางตามแนวขนานกับคอนทัวร์เหมือนบ้านทั่วไป ด้วยจุดนี้เองที่ผู้ออกแบบตั้งใจออกแบบให้ส่วนครึ่งด้านหน้าของบ้านเล่นระดับตามแนวที่ลดหลั่นตามคอนทัวร์ ส่วนครึ่งด้านหลังจะสูงขึ้น เพื่อเฉลี่ยความสูงในภาพรวมของบ้านให้สมดุลและกลมกลืนกับบริบท และแก้ข้อจำกัดของความร้อนที่จะเข้ามาให้ตัวบ้านเนื่องจากการวางตำแหน่งขวางตะวันด้วยการใส่ช่องว่างในแต่ละฟังก์ชัน เพื่อทำให้ฟังก์ชันแต่ละก้อนเป็นอิสระ รวมไปถึงการสร้างผนังบังแดดและบ่อน้ำเพื่อให้ไลฟ์สไตล์ของสมาชิกในครอบครัวเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นได้อย่างมีคุณภาพ
หัวใจของบ้านคือส่วนกลาง
ก่อนการจัดวางฟังก์ชันผู้ออกแบบได้ทำการศึกษารูปแบบการใช้ชีวิตของเจ้าบ้านอย่างละเอียด จึงตั้งใจออกแบบพื้นที่ส่วนกลางของบ้านให้มีขนาดที่ใหญ่และมีความหลายหลายในการใช้งาน ด้วยความที่เป็นบ้านตากอากาศสำหรับพักผ่อน จึงแกปบบพื้นที่ส่วนกลางที่เอื้อต่อไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน เช่น บริเวณห้องนั่งเล่นที่เมื่อเปิดบานเฟี๊ยมก็สามารถเป็นศาลาได้ ชิงช้าบริเวณช่องเปิดของผนังที่สร้างกิมมิคน่าสนใจให้กับสเปซ หรือทางทิศเหนือที่ออกแบบเป็นเป็นระเบียงพักผ่อนอีกมุมหนึ่งของบ้าน และรวมถึงพื้นที่นั่งเล่นกระจุกกระจิกอีกหลายจุดที่กระจายอยู่ตามฟังก์ชัน เพื่อที่ไม่ว่าจะอยู่จุดไหนก็จะได้ผ่อนคลายไปกับวิวธรรมชาติได้อย่างเต็มที่นั่นเอง
เคารพบริบทอย่างถ่อมตน
ก่อนการสร้างบ้านผู้ออกแบบพบว่าในที่ดินมีกลุ่มของต้นพะยูงทางทิศใต้ซึ่งเป็นด้านที่สูงที่สุดของที่ดิน และเพื่อต้องการจะคงต้นไม้เดิมให้มากที่สุด จึงตัดสินใจไม่วางตำแหน่งของบ้านเข้าไปแทรกให้กลุ่มต้นไม้เพื่อเป็นการรบกวน และเลือกพื้นที่โล่งเพื่อก่อสร้างบ้านแทน ทำให้โครงการนี้ไม่มีการตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว นอกจากเรื่องการคงต้นไม้เดิมแล้ว ทางผู้ออกแบบยังตั้งใจออกแบบให้บ้านขาลอย คือ เห็นเสาขึ้นมารับบ้าน เนื่องจากไม่อยากยุ่งกับพื้นดิน จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้บ้านหลังนี้เป็นโครงสร้างเหล็ก เนื่องจากโครงสร้างเหล็กสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ ก่อสร้างหน้างานได้สะดวกรวดเร็ว ที่สำคัญคือลดการใช้งานปูซึ่งส่งผลเสียโดยตรงกับดินนั่นเอง
ส่วนในการเลือกใช้วัสดุนั้น วัสดุส่วนใหญ่ของบ้านจะทำจากไม้โดยฝีมือของช่างท้องถิ่น โดยทางผู้ออกแบบได้ทำการหาข้อมูลรูปแบบของเรือนโคราชและนำมาประยุกต์เอกลักษณ์ในเรื่องความสวยงาม อ่อนช้อยและละมุนสายตามาใช้ในงานผนังบ้าน ทำให้บ้านออกมามีบรรยากาศและเสน่ห์เฉพาะตัวจากการใช้เห็นและสัมผัสไม้ด้วยตนเอง
“บ้านหลังนี้ไม่ได้มีแนวความคิดในการออกแบบที่หรูหราหรือยิ่งใหญ่อะไร เราตั้งใจออกแบบในสิ่งที่ควรจะเป็น อยากให้บ้านกลมกลืนกับบริบท ไม่ให้เพื่อบ้านรู้สึกเข้าไม่ถึง เพราะคิดเสมอว่าเพื่อนบ้านคือรั้วที่ดีที่สุด บ้านหลังนี้จึงเกิดจากการรวบรวมความรู้สึก ความใส่ใจจนเกิดเป็นสถาปัตยกรรมที่จับต้องได้ครับ” คุณแชมป์-สณทรรศ ศรีสังข์ สถาปนิกกล่าว
Architect and Interior : TA-CHA Design
Architects in Charge : Waranyu Makarabhirom, Sonthad Srisang
Structural Engineer : Montien Keawkon
Construction Coordinator : Thanpareeya Satthamnuwong
Client : Larnroongroj’s Family
Décor Stylist : Mylivingroom
Photographer : BeerSingnoi