OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

PHTAA Living Design ปั้นสเปซให้เป็นประติมากรรม และการใช้ความเป็นไทยในสากล

ช่วงสายๆ ในวันที่สายฝนยังไม่ตอกบัตรเข้าทำงาน หลังจากที่เดินเข้ามาในโครงการ 33 space บนถนนประดิพัทธ์ได้ไม่นาน จุดนัดหมายของเราก็มาหยุดอยู่ที่หน้าออฟฟิศ PHTAA living design บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายใน ก่อตั้งโดย 3 นักออกแบบคือ คุณวิท-พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล, คุณพลอย-หฤษฎี ลีละยุวพันธ์ และคุณโต๋-ธนวรรธน์ ปัจฉิมะศิริ

ตึกแถวยาวสีขาวที่แบ่งซอยออกเป็นห้องให้เช่า ทันทีที่ก้าวพ้นประตูทางเข้าเราก็ได้เจอพนักงานต้อนรับที่ชั้นล่าง เป็นพื้นที่จัดแสดงตัวอย่างวัสดุชื่อคุ้นเคยในหน้าตาที่ไม่เคยคุ้น คล้ายการเอาบทประพันธ์บ้านทรายทองที่คนไทยรู้จักกันดี กลับมาตีความใหม่ให้สอดคล้องกับยุคสมัย 2019 มากขึ้น ก่อนที่จะขึ้นไปชั้น 2 ที่ใช้เป็นสำนักงานออกแบบ กล่าวทักทาย คือ คุณวิท-พลวิทย์ จัดเตรียมที่นั่งสัมภาษณ์ และเริ่มบทสนทนาที่คุณกำลังจะได้อ่านต่อไปนี้

แนวคิดการทำงาน เริ่มจากการปั้น

ตอนแรกก็มีแนวคิดที่สวยหรูนะ เราคิดว่าเราจะมี qoute ขึ้นมาตามสูตรคนที่ไม่มีหลักฐานให้ตั้ง คนที่กำลังเคว้งคว้างมันต้องหาอะไรให้จับ เราก็ลองหามาได้ 3 คำคือ autonomous คือคำว่าอิสระ, ambiguous คือคำว่าคลุมเครือ พอมันมีอิสระและคลุมเครือในงานออกแบบแล้วสุดท้ายมันต้องสวยด้วย คือคำว่า sculptural เราเชื่อตั้งแต่แรกว่าในงานออกแบบ ความสวยมันคืออีกหนึ่งฟังก์ชั่น ถ้าสมมุติว่าเรามาเถียงกันเรื่อง dead space ที่มันเกิดขึ้นในงาน เราก็จะบอกลูกค้าตลอดว่า ที่ตรงนี้มันก็เหมือนเป็น sculptural space อันนึง เพราะมีแล้วตรงนี้มันสวยขึ้นนะ ถ้าสังเกตุที่ทำมา งานทุกชิ้นจะเป็นเรื่องของ space ซะส่วนใหญ่ เรื่อง form architecture ไม่ได้เป็นประเด็นหลักของเราตั้งแต่แรกเป็นต้นมา

Form follow space

เราเชื่อว่า space มันสัมพันธ์กับคน มันสัมพันธ์กับ visual ของสายตาเรามากกว่า อาจจะเป็นเพราะเรามีอินทีเรียดีไซน์ 2 คนด้วยมั้ง แล้วเราก็ชอบทำอินทีเรียไปด้วย สมัยที่เรียนสถาปัตย์ เราก็ชอบทำอินทีเรียไปด้วยกัน ความจริงมันคือความบังเอิญ ตอนนั้นได้ทำงานรีโนเวทเล็กๆ ก็เริ่มทำงานจากงานอินทีเรียจนเสร็จ แล้วก็ปั้น sketch up เป็นโครงสร้างตาม space ที่เราต้องการ แล้วพอเราถอยออกมาดูข้างนอกมองภาพรวมของอาคาร ปรากฎว่างานของเรามันถูกเติมเต็มแล้ว ด้วยอินทีเรียข้างในเหล่านั้น แล้วข้างหน้าอาคารมันแทบไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ติดกระจกตามตำแหน่ง function ที่มันต้องมีแสงตามที่จำเป็น แค่นี้ก็โอเคแล้ว

หรือเป็นเพราะว่าพอ space มันดีปุ๊ป มันก็จะส่งผลต่ออย่างอื่นด้วย ถ้าเราไม่ได้เป็นคนที่ proportion แย่จนเกินไป พอเราได้ space ที่ดีแล้ว สิ่งที่มันอยู่ข้างนอกแค่จัดการอีกนิดหน่อยเดี๋ยวมันก็เข้าที่เอง เราก็เลยเชื่อตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ว่าเริ่มจาก space ก่อนดีกว่า แล้วรูปทรงอาคารค่อยตามมาทีหลัง

นึกถึง PHTAA แล้วจะนึกถึงอะไร

เราว่ามันคือเรื่องของวัสดุ การประยุกต์ใช้ของเดิมๆ ให้เกิดองค์ประกอบใหม่ๆ จัดเรียงสร้างรูปแบบใหม่จากวัสดุเดิมที่เราคุ้นเคย พยายามทำอย่างนี้เรื่อยๆ ในหลายๆ โปรเจค เราเรียกว่ามันคือ upcycling พยายามทำแบบนี้จนเป็นนิสัย ต่อไปเวลาคิดงานใหม่ มันก็จะเกิดการคิดซับซ้อน 2 ครั้ง 3 ครั้ง 4 ครั้งโดยอัตโนมัติ แต่สิ่งที่ยากคือ ทำยังไงให้ความซับซ้อนที่เราคิดอยู่ในหัว ถูกอธิบายแล้วเข้าใจง่ายภายในคำพูดแค่ 2 – 3 ประโยคแล้วลุกค้าเข้าใจเลย เช่นโปรเจคโอบ ที่มีหลังคา arch ที่ดูซับซ้อนอยู่ตรงซุ้มทางเดินขบวนพิธีก่อนเข้าโถงข้างใน เราก็อธิบายลูกค้าว่า มันคือการใช้ arch ชนกันแบบ 3 มิติแค่นั้นเอง บิดตามแนวแกนไปเรื่อยๆ ให้มันไหลรวมเข้ามาอยู่ด้วยกันจนดูเรียบเนียนเป็นชิ้นเดียว พยายามฝึกการสื่อสารอะไรแบบนี้ให้ลูกค้าเข้าใจง่ายๆ

ถ้าเราเป็นดีไซเนอร์ในประเทศนี้ ความฟุ่มเฟือยของเราไปได้ไม่สุด ต่อให้ลุกค้าจะรวยแค่ไหน ความฟุ่มเฟือยในงานออกแบบมันจะอยู่ในระดับนึงเท่านั้น การ custom made ของดีไซเนอร์เพื่อสร้างความแปลกใหม่ในงานออกแบบมันเลยต้องใช้ความพยายามมากขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นงานศาลาบัวขาว ที่เราต้องเอาบัวผนังมาหั่นเป็นชิ้นๆ แล้วเอามาต่อกันด้วยข้อต่อไม้ แล้วยิงตะปูลม คือถ้าเป็นฝรั่งเค้าสามารถทำ 3D printing ขึ้นมาได้เลย จบ แต่ด้วยต้นทุนในการทำแบบนั้นในประเทศเรายังสูงเกินไป ดีไซเนอร์เลยต้องดิ้นรนตะเกียกตะกาย หาทางออกจากข้อจำกัดที่มีอยู่

สร้างรสชาติใหม่ในวัตถุดิบเดิม

เรามีแค่เท่าที่เรามี แล้วการทำให้เท่าที่เรามีมันออกมาดีที่สุด ออฟฟิศเราก็เลยต้องศึกษาเรื่องวัสดุค่อนข้างเยอะ เพราะเราสนใจว่าจะทำให้วัสดุเท่าที่หาได้ตามท้องตลาดเนี่ย มันจะประยุกต์ใช้จนเกิดรูปแบบใหม่ๆ ได้ยังไง เราว่าการจะทำให้งานออกแบบในประเทศเราต่างจากประเทศอื่นในระดับสากล มันคือการหยิบวัสดุที่มีอยู่แล้วในประเทศเรานี่แหละมาพัฒนาต่อ เอามาใช้สร้างสรรค์เป็นองค์ประกอบใหม่ในงานออกแบบของเรา จุดนั้นมันจะสร้างความแตกต่างระหว่างประเทศเรากับประเทศอื่นขึ้นมาเอง โดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ต้องไปพยายามอะไรมาก ไม่ต้องเอาบ้านไทยมาเล่น เอาลายไทยมาเล่น แล้วเปลี่ยนวัสดุ เราว่าเรื่องพวกนั้นคงไม่มีคนพูดถึงแล้วละมั้ง เพราะว่ามันเชยมากแล้วเอาจริงๆ

เราอยู่ในประเทศที่ Design โลกที่ 1
แต่ Budget โลกที่ 3
ไม่ว่าวิธีใดวิธีหนึ่ง เราต้องอยู่บนโลกใบนี้ให้ได้

รู้จักยืดหยุ่นและต่อรองให้เป็น

เรื่องกระบวนการทำงานมันไม่ 1-2-3-4-5 แบบเดิมอีกแล้ว บางทีเราก็โดนความเป็นมนุษย์ทำให้ระบบ 1-2-3-4-5 ที่มันเคยเกิดขึ้น มันไม่ได้เป็นแบบนั้น บางทีมันอาจจะเป็น 1-2-4-3-5 มันเลยทำให้เรานับ 1- 10 เสมอไปไม่ได้แล้วในยุคสมัยนี้ เพราะบางคนเค้ามาพร้อมวิธีการใหม่ เงื่อนไขใหม่ๆ เช่นลูกค้าคนนี้เค้าอยากทำดีไซน์เสร็จแล้ว อยากข้ามไปทำแบบโครงสร้างอาคารเลย เราก็ต้องแนะนำลูกค้ากลับไปว่า เรายังไม่เคลียร์แบบ เราขอทำอินทีเรียก่อน แล้วค่อยเคลียร์แบบโครงสร้างอาคาร เพื่อที่ว่ามันจะได้ merge รวมสอดคล้องกันตั้งแต่แรก ไหน ๆ ออฟฟิศเราก็ทำงานสถาปัตย์กับอินทีเรีย เราควรจะจัดการให้มันจบพร้อมกัน เคลียร์แบบพร้อมกัน ทุกอย่างมันจะง่ายขึ้นมาก ขจัดปัญหาการกลับมาแก้ย้อนศร ถ้าเราต้องมาแก้ครั้งที่ 1 2 3 ไปเรื่อยๆ แล้วผู้รับเหมาก็จะงงว่าเราใช้แบบแก้ครั้งไหนกันแน่
มีบางครั้งที่คนทำงานอาจจะถูกแทรกแซงบ้าง ด้วยความรีบของลูกค้า เช่น อยากไปขออนุญาตก่อนได้มั้ย เค้าคิดว่าการขออนุญาตจะใช้เวลานาน ซึ่งมันก็นานจริง เราว่าสถาปนิกทุกคนเริ่มเข้าใจว่าระบบนี้มันจำเป็นต้องใช้เวลา บางคนก็ไปขออนุญาตเอง บางคนก็ให้ลุกค้าไปขออนุญาตให้ ไม่มีอันไหนผิด ขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละคน เราก็ต้องเข้าใจลูกค้าว่าเค้ากำลังรีบ

อีกประเด็นเรื่องความรีบที่เคยเจอ คือเวลาลูกค้าเค้ายังไม่เห็นอะไรเป็นรูปเป็นร่าง ไม่เห็นชิ้นงาน ไม่เห็นแบบตัวอย่าง 3 มิติ เค้าจะยังเฉยๆ ไม่รีบ แต่พอเค้าเริ่มเห็นชิ้นงานเป็นรูปเป็นร่าง ใจเค้าก็จะรีบไปละ เพราะเค้าสรุปกับดีไซน์ของเราไปแล้ว ทีนี้ความหนักหนาก็จะมาอยู่ที่เรา เรื่องการจัดลำดับตารางการทำงานเลยเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งสำหรับน้องๆ รุ่นใหม่นะครับที่กำลังจะเริ่มทำออฟฟิศ อยากจะเริ่มสร้างความประทับใจ เร่งกระบวนการทำงานเอาใจลูกค้าก็ทำได้ แต่ก็ควรจะบอกตารางการทำงานอย่างตรงไปตรงมา ว่าผมทำได้เท่านี้จริงๆ ถ้าเร็วกว่านี้ผมทำไม่ได้ กลัวว่างานมันจะหลุด ไม่เรียบร้อย อย่าลืมว่าสุดท้ายคนที่ต้องรับผิดชอบก็คือเรา ไม่ว่าใครจะเป็นคนผิด เพราะคนทำแบบคือคนแรกที่จะต้องรวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน รับผิดชอบภาพรวมทั้งหมดตั้งใจกับโอกาสนั้นให้มากขึ้น ไม่รีบร้อน หมั่นเรียนรู้เพิ่มเติม อย่างเช่นว่า เราเพิ่งจบใหม่ แล้วได้โอกาสออกแบบร้านกาแฟขึ้นมาหนึ่งร้าน โอเคเราทำได้อยู่แล้วแหละ อาจจะเริ่มจากเปิด pinterset ได้แรงบันดาลใจออกแบบร้านที่สวยได้ แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องการใช้งาน ถ้าเราช้าลงหน่อย ตั้งใจกับโอกาสนั้นให้มากขึ้น ไม่รีบร้อน หมั่นเรียนรู้เพิ่มเติม เราจะรู้เรื่องวัสดุมากกว่านี้ รู้เรื่องวิธีการก่อสร้างมากกว่านี้ รู้เรื่องวิธีการออกแบบมากกว่านี้ มันจะทำให้ร้านกาแฟอันนั้น สวยได้มากขึ้นกว่านี้อีกเยอะเลย แต่ถ้าเรารีบทำส่งแบบไป เจ้าของเค้าต้องอยู่กับร้านกาแฟแบบนั้นไปตลอด จะ 5 – 10 ปีก็แล้วแต่ ในฐานะดีไซเนอร์ที่ทำงานส่งไปจะไม่รู้สึกสงสารลูกค้าเหรอ

เราเข้าใจว่าทุกคนอยากจะเกิดนะสมัยนี้ เพราะมีช่องทางให้บ่งบอกความเป็นตัวเองได้เยอะไง แต่เราว่าอย่าเร็วไปจนลืมรายละเอียด อย่าช้าไปจนไม่เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพราะเราคงไมได้อยากสร้างร้านกาแฟที่มีตำหนิจากความละเลยของเรา จนมันมีของแบบนั้นเต็มโลกใบนี้ เราว่ามันน่าเศร้านะ…